ในมาตรฐานฉบับใหม่ในหัวข้อ “การวินิจฉัยโรค” ได้มีการกำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ ดังนี้
“มีการกำหนดเรื่องการลดข้อผิดพลาดในการวินิจฉัยโรคเป็นเป้าหมายความปลอดภัยผู้ป่วย โดยมีการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเข้ม มีการปรับปรุงและติดตามผลต่อเนื่อง”
การวินิจฉัยโรคผิดพลาดหมายถึง ความล้มเหลวที่จะได้มาซึ่งคำอธิบายที่ถูกต้องแม่นยำ ครบถ้วนสมบูรณ์ ภายในเวลาที่เหมาะสม สำหรับปัญหาสุขภาพที่ผู้ป่วยเผชิญอยู่ และรวมไปถึงความล้มเหลวในการสื่อสารคำอธิบายนี้ให้ผู้ป่วยได้เข้าใจด้วย
การวินิจฉัยโรคผิดพลาดมีได้ทั้งในลักษณะ missed (ไม่สามารถวินิจฉัยได้ ทั้งที่มีข้อมูลเพียงพอที่ควรจะวินิจฉัยได้), wrong (วินิจฉัยผิดไปจากโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่), และ delayed (วินิจฉัยได้ล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น)
มีการศึกษาในต่างประเทศที่แสดงว่า เราทุกคนมีโอกาสพบกับการวินิจฉัยผิดพลาดอย่างน้อยครั้งหนึ่งในช่วงชีวิตของเรา, 5% ของผู้ป่วยนอกจะเกิดการวินิจฉัยผิดพลาด, 7 – 17% ของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในกลุ่มผู้ป่วยในมีความเชื่อมโยงกับการวินิจฉัยผิดพลาด และ 29% ของการเรียกร้องค่าเสียหายจากการรักษาที่ไม่ได้มาตรฐานมีสาเหตุมาจากการวินิจฉัยผิดพลาด
สาเหตุที่ก่อให้เกิดการวินิจฉัยโรคผิดพลาดจำแนกได้เป็น 3 กลุ่มหลัก คือ
- สาเหตุจากผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยรายนี้มีอาการและอาการแสดงของโรคแตกต่างไปจากผู้ป่วยทั่วไป ผู้ป่วยปกปิดข้อมูลหรือให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน
- สาเหตุจากระบบงานของโรงพยาบาล เช่น การสื่อสารที่คลาดเคลื่อน การประสานงานที่ไม่ดี เครื่องมือหรือน้ำยาที่ใช้ไม่ได้มาตรฐาน
- สาเหตุจากข้อจำกัดด้านความรู้ความสามารถของบุคลากร เช่น ความรู้ที่ไม่ทันยุคสมัย ความจำที่คลาดเคลื่อนไปจากทฤษฎี การคิดที่ไม่เป็นระบบ การเก็บรวบรวมข้อมูลที่ไม่เพียงพอต่อการวินิจฉัยโรค
สาเหตุข้อ 3. เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด