จากผู้ว่าฯ หมูป่า สู่ผู้ว่าฯ COVID-19

0
1658
จากผู้ว่าฯหมูป่า สู่ผู้ว่าฯ COVID-19
จากผู้ว่าฯหมูป่า สู่ผู้ว่าฯ COVID-19

“บทเรียนสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จ คือ การมีแผนเผชิญเหตุที่เป็นระบบ มีแผนการบริหารความเสี่ยงที่ครอบคลุม มีการบริหารทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มีการประเมินผลอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญที่สุดคือ การมี “สติ”                                         หากมีทุกอย่างครบถ้วน ก็จะสามารถบริหารจัดการให้เหตุการณ์ต่างๆ ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี”                                                                                                                                  นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร

 “หมูป่า” และ “COVIC-19” ล้วนเป็นเหตุการณ์ที่นำมาซึ่งความสูญเสียไม่มีใครต้องการให้เกิด แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วเราจะสรุปบทเรียน การปฏิบัติการด้วยการบูรณาการองค์ความรู้ความสามารถ ตลอดจนนวัตกรรมสมัยใหม่รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และภูมิปัญญาชาวบ้านภายใต้การผนึกพลังการร่วมแรงร่วมใจของผู้คนที่สะท้อนให้เห็นถึงการเป็นผู้นำและผู้เกี่ยวข้องที่มาจากหลายภาคส่วนได้อย่างไร

หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2561 หนึ่งในปรากฏการณ์ที่อุบัติขึ้นในประเทศไทยจนกลายเป็นกระแสที่เป็นมิติให้สังคมโลกคือ กรณีเหตุการณ์ “หมูป่า” เยาวชนและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมี่ จำนวน 13 คน หายเข้าไปในถ้ำที่วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายนั้น ในเบื้องต้นหากวัดระดับความรุนแรงจากแผนสาธารภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 ถือเป็นเพียงสาธารณภัยขนาดเล็ก เนื่องจากผู้ปกครองแจ้งเหตุภายในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นระดับผู้อำนวยการท้องถิ่น แต่พบว่าเวลาผ่านไปในคืนเดียวกันยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เรื่องนี้จึงถูกรายงานขึ้นมายังผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย จากนั้นแผนต่าง ๆ ได้แก่ แผนการบริหารความเสี่ยง แผนเผชิญเหตุ แผนปฏิบัติการ ที่เคยฝึกซ้อมไว้ได้ถูกนำมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม มีการกระจายแผนและปรับแผน เช่น  ทางเลือกของแผนที่ 1 สูบน้ำออกแล้วพาน้องทั้ง 13 คนออกมา แผนที่ 2. หาช่องทางเข้าทางอื่น หาโพรงหรือปล่อง แผนที่ 3. เข้าจากท้ายถ้ำ (ปลายถ้ำ) และแผนที่ 4. เจาะผนัง นอกจากนนั้นยังมีแผนการเตรียมออกซิเจนในถ้ำ มีการประเมินผล ขาดตรงไหนแก้ตรงนั้น จึงปรับแผนเพิ่มถังออกซิเจนจากเดิมเป็น 600 ถัง

มีการใช้หลักการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) 4 ประเภท มาพิจารณาความเป็นไปได้ คือ 1. การยอมรับความเสี่ยง ซึ่งเหตุการณ์นี้ใช้ไม่ได้เนื่องจากไม่สามารถยอมรับความสูญเสียชีวิตที่เกิดขึ้นได้ 2. การลด/ควบคุมความเสี่ยง 3. การกระจายความเสี่ยง หรือการถ่ายโอนความเสี่ยง 4. การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง สถานการณ์นี้ใช้ความเสี่ยงแบบผสมผสานกัน

สำหรับการระดมกำลังพล ใช้เวลาวางแผนเผชิญเหตุ 30 นาที แบ่งเป็น 3 ทีม มีการสั่งการจากทั่วทุกสารทิศในคืนนั้นทันที ส่งเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจในถ้ำแต่ไม่ประสบผลสำเร็จพบว่ายังเกิดพบอุปสรรคมากมายระหว่างดำเนินการ ทำให้ต้องติดต่อขอความช่วยเหลือผ่านหน่วยบัญชาการทหารลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์เข้าปฏิบัติการถึงพื้นที่เวลา 02.00 น.เข้าปฏิบัติการทันที มีการระดมทรัพยากร และต้องการบุคลากรที่มีศักยภาพ เช่น นักจิตวิทยา แพทย์ พยาบาล รวมถึงผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ มีการจัดโครงสร้างศูนย์บัญชาการผู้สูญหายอย่างเป็นทางการ โดยมีผู้อำนวยการจังหวัดเชียงรายเป็นผู้บัญชาการ ดังโครงสร้างข้างต้น

มีการใช้แนวคิดการบริหารงานสมัยใหม่ ประกอบด้วย Planning Implementation Monitoring Evaluation : PIME และจัดตั้ง Organization : ทีมรับมือ มีการImplement Plan การซ้อมดำน้ำลำเลียงน้อง ๆ ออกจากถ้ำถึง 3 วัน โดยใช้คนที่มีส่วนสูงและน้ำหนักใกล้เคียงกับทีมหมูป่ามากที่สุด ระหว่างเหตุการณ์ต้องใช้ถังออกซิเจนจำนวน 600 ถัง ซึ่งมีไม่เพียงพอ แต่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานมาให้จนกระทั่งพอใช้ เกิดการรวมพลังเพื่อนำมาซึ่งความสำเร็จสำหรับการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์จึงนำไปสู่ปรากฏการณ์แห่งการรู้รักสามัคคีอันเนื่องมาจากจิตอาสาของมวลมนุษยชาติโดยที่ไม่ได้มีการนัดหมายกันมาก่อน กระบวนการให้ความช่วยเหลือดำเนินการจนประสบความสำเร็จโด่งดังไปทั่วโลก โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเป็นผู้แทนเดินทางไปรับรางวัล Mission of United ที่สามารถรวมพลังได้มากกว่า 10,000 คน จากการรวมพลังและจากการปฏิบัติการดังกล่าวในครั้งนั้นจึงถือได้ว่าเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ที่โลกต้องจดจำไปอีกนานเท่านาน

สำหรับเหตุการณ์ COVID-19 ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางนั้น เริ่มมีการวางแผน และให้ความตระหนักตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุการณ์ระบาดในประเทศไทย เนื่องจากได้ทราบข่าวจากประเทศจีน เมืองอู่ฮั่นก่อน จึงเริ่มหาข้อมูลจริง เช่น ความรุนแรงของโรค จึงเกิดการเตรียมความพร้อมเรื่อง การจัดหาหน้ากากอนามัยให้เพียงพอ ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์จริง จึงสามารถรับมือได้ทัน มีการกำหนดขั้นตอนการแจ้งเตือนภัย ระดับเตือนภัย สีสัญลักษณ์ ประกอบด้วย สีแดง หมายถึง มีผู้ป่วยเสียชีวิต หรือพบผู้ป่วยมากกว่า 30 ราย สีส้ม หมายถึงพบผู้ป่วยเกิน 5 ราย สีเหลือง หมายถึง พบผู้ป่วยไม่เกิน 5 ราย และสีเขียว หมายถึง ไม่พบผู้ป่วย

มีการเตรียมระบบการบริการทางการแพทย์เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 โดยภาพรวมของจังหวัดลำปางมีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 300 เตียง ประกอบไปด้วย โรงพยาบาลเกาะคา และโรงพยาบาลเวชชารักษ์ เตรียมเตียงรองรับผู้ป่วยวิกฤติ หรือ ICU จำนวน 16 ยูนิต เตรียมห้องแยกโรค 18 ห้อง เตียงสามัญที่ใช้ดูแลผู้ป่วยCOVID-19 จำนวน 200 เตียง และโรงพยาบาลลำปาง มีศักยภาพรองรับผู้ป่วยวิกฤติ จำนวน 17 ยูนิต ห้องแยกโรค 24 ห้อง และเตียงสามัญที่ใช้ดูแลผู้ป่วย COVID-19 จำนวน 45 เตียง

กำหนดให้มีคณะทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหา ได้แก่ ศูนย์อำนวยการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรนา 2019ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กำหนดพื้นที่ร้องรับ หรือพื้นที่กักกันตัวเพื่อสังเกตอาการ และมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือนร้อน

มีมาตรการทางสังคมแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ 1. ระยะเร่งด่วน ให้คำปรึกษา เปิดช่องทางให้ยื่นขอรับความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ สร้างขวัญกำลังใจ เยี่ยมบ้าน การแสดงน้ำใจ “คนลำปางไม่ทิ้งกัน” มอบถุงยังชีพ และข้าวกล่อง  2. ระยะยาว การสำรวจข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบของกรมการปกครอง การแบ่งกลุ่มคัดกรองแยกประเภทความต้องการจากผู้ลงทะเบียนรับเงิน 5,000 บาท อยู่ในระบบประกันสังคม อยู่ในภาคเกษตรกรและผู้ไม่ได้รับความช่วยเหลือ

จากการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวทำให้สามารถควบคุมโรคระบาดไม่ให้กระจายไปในวงกว้าง ชาวลำปางมีความพึงพอใจในการบริหารจัดการในการอยู่ดี มีสุข

สรุปบทเรียนจาก 2 เหตุการณ์สำคัญดังกล่าว พบว่า ผู้นำ หรือผู้บังคับบัญชา ต้องมี “ภาวะผู้นำ” (Leadership) มี“สติ” จึงจะสามารถบริหารจัดการให้ผ่านพ้นไปได้ภายใต้ความสามัคคี ความเคารพ ซึ่งกันและกัน การมีแผนเผชิญเหตุที่เป็นระบบ มีแผนการบริหารความเสี่ยงที่ครอบคลุม มีการบริหารทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มีการประเมินผลอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เหตุการณ์ต่างๆผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

ถอดบทเรียนโดย สดศรี พูลผล หัวหน้างานพัฒนาคุณภาพงาน                                                                                  คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here