การพัฒนาระบบการจัดการด้านยาในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง

0
4611
การพัฒนาระบบการจัดการด้านยาในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง 

ชื่อเรื่อง การพัฒนาระบบการจัดการด้านยาในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง                                          ผู้เขียน ภญ.ปภัสรา วรรณทอง                                                                                            ตำแหน่ง กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลอ่างทอง

วัตถุประสงค์                                                                                                                     1. เพื่อให้ผู้อ่านทราบถึงแนวทางการพัฒนาระบบการจัดการด้านยาเพื่อการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง             2. เพื่อให้ผู้อ่านทราบถึงบทบาทของเภสัชกรในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง

ระบบการจัดการด้านยา หรือระบบยา เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมากในการให้การรักษา หรือการดูแลผู้ป่วย เนื่องจากหากกระบวนการดูแลรักษาผู้ป่วยมีระบบการจัดการด้านยาที่ไม่มีประสิทธิภาพย่อมส่งผลให้การรักษาไม่เป็นไปตามแผนการรักษา หรืออาจทำให้เกิดผลเสีย เช่น ผู้ป่วยเกิดอันตรายจากการใช้ยา ในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care ก็เช่นกัน หากเรามีการจัดการด้านยาไม่ดีพออาจส่งผลให้ผู้ป่วยระยะท้ายซึ่งไม่สามารถหายขาดจากโรคที่เป็นอยู่ ต้องประสบกับคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี เกิดความทุกข์ทรมานจากการใช้ยา หรือไม่ได้ใช้ยาที่ควรได้รับ ดังนั้นเภสัชกรในฐานะผู้มีความเชี่ยวชาญทางด้านยา และมีความเข้าใจในแนวคิดการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ควรเป็นกลไกสำคัญในพัฒนาระบบการจัดการด้านยาก่อให้เกิดระบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่มีประสิทธิภาพ โดยยึดเป้าหมายเดียวกันกับทีมสหวิชาชีพที่ดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ คือการทำให้ผู้ป่วย และครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด

ปัจจุบันงานดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative Care) ได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากทั่วโลก  มีผู้ป่วยระยะท้ายที่ต้องได้รับการดูแลแบบประคับประคองมากขึ้น โดยพบว่ามีประมาณ 40 ล้านคนทั่วโลก แต่มีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 14 เท่านั้นที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคองอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาการเข้าถึงการรักษาอาการปวดด้วยกลุ่มยา Opioids ของผู้ป่วยที่ไม่เพียงพอ สำหรับประเทศไทยพบว่าในปีงบประมาณ 2559 มีจำนวนผู้ป่วยแบบประคับประคอง เท่ากับ 51,217 ราย (เฉพาะในโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข) ได้รับยากลุ่ม Strong Opioids เพียง 22,261 ราย คิดเป็นร้อยละ 43.46 ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย โดยเห็นได้จากการกำหนดนโยบายการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง และเป็นธรรม เพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพสำหรับผู้ป่วยด้อยโอกาส และอยู่ในภาวะพึ่งพิง โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพสาขาการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative Care) ในปี พ.ศ. 2559 ให้เกิดการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในสาขานี้จำเป็นต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างสหวิชาชีพ เภสัชกรก็เป็นส่วนสำคัญในการดูแลผู้ป่วย จากการสำรวจพบว่ามีเภสัชกรเป็นคณะกรรมการพัฒนางานการดูแลผู้ป่วยแบบประประคอง ร้อยละ 82.83 เนื่องจากเภสัชกรมีบทบาทที่สำคัญ ไม่เพียงแต่การบริบาลทางเภสัชกรรมเท่านั้น แต่เป็นการดูแลตลอดกระบวนการดูแลผู้ป่วยแบประคับประคอง ตั้งแต่การคัดเลือกรายการยาที่จำเป็น การดูแลผู้ป่วยที่แผนกผู้ป่วยนอก การดูแลผู้ป่วยขณะนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล และต่อเนื่องไปจนถึงการดูแลที่บ้าน การแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งในรายบุคคล เชิงระบบ และสร้างระบบการจัดการด้านยาในผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตลอดระยะเวลาที่เหลืออยู่ ลดอาการทุกข์ ทรมานต่างๆ สามารถเข้าถึงการใช้ยาได้อย่างเหมาะสม

การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง หรือ Palliative care เป็นการดูแลผู้ป่วย ที่มุ่งเน้นให้ผู้ป่วย และครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดี ยังเป็นงานที่ค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศไทย ที่ผ่านมาผู้ป่วยระยะท้ายยังคงมีปัญหาในการเข้าไม่ถึงยาที่จำเป็น เช่น ยากลุ่ม Strong Opioids ดังนั้นการวางระบบที่ชัดเจนในการจัดการด้านยาเพื่อการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองนั้นจะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยได้ใช้ยาอย่างเหมาะสม มีการดูแลที่ต่อเนื่อง และเกิดปลอดภัยจากการใช้ยา บรรลุวัตถุประสงค์ของการรักษา คือ การมีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดการเกิดอาการที่ทำให้ทุกข์ทรมาน

ดาวน์โหลดที่นี่…ฟรี การพัฒนาระบบการจัดการด้านยาในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง

Photo by Sharon McCutcheon on Unsplash

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here