ในมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพฉบับที่ 4 มีประเด็นใหม่ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเข้าถึงและเข้ารับบริการหลายประเด็น คือ
– เน้นการคัดแยก (triage) ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีตามสภาพความเจ็บป่วย ในขณะเดียวกัน ก็เพื่อจำแนกกลุ่มผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อที่อาจจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคในโรงพยาบาลได้ แล้วแยกการดูแลออกไปตามขั้นตอนที่วางไว้
– กำหนดลักษณะของบริการหรือกิจกรรมที่ต้องมีการบันทึกความยินยอมจากผู้ป่วย (informed consent) ได้แก่ การทำผ่าตัดและหัตถการลุกล้ำ การระงับความรู้สึก การทำให้สงบระดับปานกลาง/ ลึกบริการที่มีความเสี่ยงสูง; การเข้าร่วมในงานวิจัยหรือทดลอง; การถ่ายภาพหรือกิจกรรมประชาสัมพันธ์ ทั้งนี้ หัวใจสำคัญของ informed consent อยู่ที่การให้ข้อมูลที่เพียงพอแก่ผู้ป่วย ไม่ใช่การให้ผู้ป่วยเซ็นใบยินยอมโดยไม่ได้รับข้อมูลที่เพียงพอ
– เน้นการบ่งชี้ผู้ป่วยที่ถูกต้อง การระบุตัวผู้ป่วยผิดพลาดเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ในประเทศไทยก็มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเป็นระยะ การระบุตัวผู้ป่วยผิดพลาดรวมถึงการระบุสิ่งส่งตรวจจากตัวผู้ป่วยและชิ้นเนื้อที่ผิดพลาดด้วย ความผิดพลาดนี้นำไปสู่การวินิจฉัย การให้ยา และการให้การรักษาที่ผิดพลาด