จากการที่สมรรถนะของคอมพิวเตอร์สูงขึ้นอย่างมากประกอบกับการพัฒนาขั้นตอนการเรียนรู้ด้วยตัวคอมพิวเตอร์เอง โดยไม่จำเป็นต้องให้มนุษย์มาคอยป้อนเงื่อนไขการเรียนรู้ให้ทุกครั้ง ทำให้ปัจจุบัน Artificial Intelligence (AI) เป็นเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และส่งผลให้คอมพิวเตอร์ทำกิจกรรมหลายอย่างได้เหนือกว่ามนุษย์ และเชื่อได้ว่า AI จะเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารในบริการด้านการรักษาพยาบาลในระยะเวลาอีกไม่นานนักนับจากนี้
ตัวอย่างการพัฒนา AI เพื่อใช้ในการรักษาพยาบาล จนมีความถูกต้องแม่นยำไม่ต่างจากมนุษย์ แต่มีความรวดเร็วสูงกว่ามาก ได้แก่
- การอ่านรูปภาพจอประสาทตา (retina) เพื่อวินิจฉัยพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นที่จอประสาทตา
- การอ่านผลชิ้นเนื้อจากการตัดชิ้นเนื้อก้อนที่เต้านม เพื่อหาว่ามีเซลล์มะเร็งหรือไม่
- การอ่านภาพที่ถ่ายจากกล้องส่องทางเดินอาหาร (endoscope) เพื่อวินิจฉัยมะเร็งกระเพาะอาหาร และการใช้ AI แบบ real time พร้อมการส่องกล้องจริง เพื่อช่วย screen พื้นที่ต้องสงสัย เพื่อให้แพทย์ใช้เวลาดูพื้นที่นั้นเพิ่มขึ้น และการประมวลข้อมูลทั้งหมด เพื่อเตือนแพทย์ว่ามีพื้นที่ส่วนใดที่ยังไม่ได้ส่องกล้องดูบ้าง
- การใช้ AI ตรวจข้อมูลการบันทึกทางการพยาบาลอย่างต่อเนื่อง เพื่อประมวลผลและเตือนว่าผู้ป่วยมีโอกาสตกเตียงสูง
- การใช้ AI ประมวลผลจากการสนทนาระหว่างจิตแพทย์กับผู้ป่วย เพื่อช่วยจิตแพทย์ในการสรุปว่าผู้ป่วยมีปัญหาทางจิตหรือไม่ และในด้านใด
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจาก AI น่าจะต้องใช้เวลาพัฒนาอีกช่วงหนึ่งกว่าจะใช้งานได้จริง ภายใต้ราคาที่จ่ายได้ แต่ถ้าทุกอย่างลงตัว การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งถ้าบุคลากรทางการแพทย์ไม่ได้มีการเรียนรู้และเตรียมตัวไว้บ้าง เราก็อาจจะถูกเทคโนโลยีใหม่ๆ ผลักออกจากบริการด้านการรักษาพยาบาลอย่างไม่ทันตั้งตัว ในขณะเดียวกัน การใช้ AI อย่างสุดขั้ว ก็อาจเป็นการทำลายองค์ความรู้ที่สั่งสมมาในบุคลากรทางการแพทย์อย่างเนิ่นนาน และกลายเป็นว่าโรงพยาบาลต้องพึ่ง AI จากภายนอกองค์กรตลอดเวลา ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่อาจควบคุมได้