ปัจจุบัน การติดเชื้อวัณโรคในบุคลากรของโรงพยาบาลยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ควบคุมไม่ได้ เรามักจะพบว่าบุคลากรในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ติดเชื้อวัณโรคไม่ต่ำกว่า 5 รายต่อปี ซึ่งสาเหตุของการติดเชื้อคงมาจากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยหนึ่งซึ่งน่าจะมีผลต่อการติดเชื้อมากพอควรและเป็นสิ่งที่โรงพยาบาลน่าจะจัดการได้ คือ การจัดการการไหลของอากาศในพื้นที่ปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น ที่ ER, ICU หรือ ward
จากการเยี่ยมโรงพยาบาล เรายังพบการจัดการการไหลเวียนของอากาศที่สุ่มเสี่ยงต่อการที่เจ้าหน้าที่จะรับเชื้อที่สามารถติดได้ทางระบบทางเดินหายใจ เช่น
- ทิศทางการไหลของลมจากเครื่องปรับอากาศ พบการไหลของอากาศจากผู้ป่วย (ซึ่งอาจติดเชื้อวัณโรค) ไปสู่ที่นั่งทำงานของเจ้าหน้าที่
- การไม่ตระหนักว่ากระบวนการที่สร้างฝอยละอองขึ้นมา (เช่น การพ่นยา, การ suction) เป็นตัวทำให้เชื้อโรคเกาะแขวนลอยอยู่กับฝอยละอองอากาศเหล่านี้ และทำให้เชื้อโรคลอยอยู่ในห้องที่เราทำงานนานขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น ซึ่งการควบคุมโซนการให้บริการเหล่านี้ให้เหมาะสมจะช่วยลดความเสี่ยงได้
- การติดตั้งเครื่องปรับอากาศ โดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องอากาศใหม่ๆที่จะไหลเข้ามาเติมอากาศเดิมที่อยู่ในห้อง การไม่ดูแลไส้กรองอากาศที่จะช่วยสร้างความสะอาดของอากาศในห้อง และการไม่มีพัดลมดูดอากาศในปริมาตรที่เหมาะสมกับขนาดของห้อง นอกจากนี้ ใน ward ของโรงพยาบาลบางแห่ง ถึงไม่ได้ติดตั้งเครื่องปรับอากาศใน ward แต่ก็มีการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างเพิ่มเติมจนไปปิดทางไหลของลมธรรมชาติ ที่จะช่วยลดความเข้มข้นของเชื้อที่แขวนลอยอยู่ในอากาศ
- การติดตั้งพัดลมดูดอากาศในระดับสูงเหนือศีรษะ อาจเหมาะสมกับสภาพโครงสร้างที่เป็นอยู่ แต่ก็ต้องชั่งน้ำหนักกับความเป็นไปได้ที่แรงดูดของพัดลมจะทำให้เชื้อที่ตกลงสู่พื้นและรอการทำความสะอาดอยู่ ฟุ้งกระจายขึ้นมาในห้องอีกครั้ง
Photo by Huanhuan Zhang on Unsplash