ในมาตรฐานฉบับที่ 4 ได้มีการเปลี่ยนคำที่ใช้ในบทที่ I-5 จากคำว่า “ทรัพยากรบุคคล” เป็นคำว่า “กำลังคน” เพื่อให้องค์กรมองเรื่องของคนมากไปกว่าบุคลากรที่ทำงานแบบเต็มเวลากับองค์กร
กำลังคนในที่นี้ หมายความครอบคลุมทั้งบุคลากรขององค์กรเอง, แพทย์หรือพยาบาลหรือผู้ประกอบวิชาชีพอิสระอื่นๆ ที่มาช่วยปฏิบัติงานในลักษณะห้วงเวลาหรือมาช่วยอยู่เวรหรือจ้างผ่านบริษัทที่มารับจ้างบริการในโรงพยาบาล (เช่น หน่วยไตเทียม, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์) และรวมถึงอาสาสมัครที่มาปฏิบัติงานในโรงพยาบาล (เช่น อสม., จิตอาสา)
ปัญหาที่ สรพ. พบอยู่เสมอคือ กำลังคนในส่วนผู้ประกอบวิชาชีพอิสระมักจะไม่ได้รับการปฐมนิเทศอย่างเป็นทางการจากโรงพยาบาล มักไม่ค่อยได้รับการพัฒนาความรู้ความสามารถอย่างต่อเนื่อง และมักไม่ค่อยเข้าใจระบบงานของโรงพยาบาลมากนัก จึงมีโอกาสทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ได้มากกว่าบุคลากรขององค์กรโดยตรง นอกจากนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ขึ้นแล้ว คนกลุ่มนี้ก็มักจะไม่ได้เข้าร่วมในการทบทวนหาสาเหตุและกำหนดแนวทางการป้องกัน กระบวนงานที่มีการปรับเปลี่ยนหรือพฤติกรรมบริการที่ไม่พึงกระทำ ก็มักจะไม่ได้รับรู้ หรือถ้ารับรู้ก็มักไม่มีแรงผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้เท่ากับบุคลากรขององค์กรเอง ดังนั้น การปรับเพิ่มเติมมาตรฐานในประเด็นนี้ จึงเป็นการชักชวนให้โรงพยาบาลวางกระบวนงานในการปฐมนิเทศ พัฒนาบุคลากร และติดตามประเมินผลงานของกำลังคน ให้ครบถ้วนกำลังคนทุกกลุ่ม
อีกประเด็นหนึ่งที่มีการลงรายละเอียดในมาตรฐานให้ชัดเจนมากขึ้น คือเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานของกำลังคน โดยมีการเพิ่มหัวข้อที่เกี่ยวกับการจัดเตรียมเสื้อผ้าและอุปกรณ์ป้องกันตัวสำหรับกำลังคน เพื่อช่วยลดอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งในเชิงความร้อน แสง เสียง กัมมันตรังสี สารเคมี และเชื้อโรค, การนำหลัก ergonomics มาใช้เพื่อลดอันตรายจากหยิบ จับ ยก สิ่งของต่างๆ, การคำนึงถึงและการจัดการเพื่อลดความรุนแรง ความก้าวร้าว และการคุกคามทางเพศ ทั้งที่เกิดจากกำลังคนขององค์กรเองหรือเกิดจากบุคคลภายนอก ซึ่งมีแนวโน้มจำนวนเหตุการณ์สูงขึ้นอย่างชัดเจน
ส่วนหลักพื้นฐานในบทที่ I-5 ที่มาตรฐานยังกำหนดไว้เหมือนเดิม คือ องค์กรจะทำอย่างไรที่จะมีบุคคลากรจำนวนเพียงพอ มีความสามารถที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ มีขวัญกำลังใจและสุขภาพที่ดีที่พร้อมต่อการปฏิบัติภารกิจ มีการบริหารกำลังคนที่เอื้อต่อการสร้างแวดล้อมในการทำงานที่ดี ตลอดจนมีการสร้างทีมงานรุ่นใหม่เพื่อมาทดแทนคนรุ่นเก่าที่จะทยอยออกจากองค์กรไป ทั้งนี้ เป้าหมายหลักก็คือ การสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับองค์กร