เคล็ดลับงานคุณภาพ วันนี้ ชวนมาเรียนรู้เรื่อง ข้อเท็จจริง 10 ประการเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้ป่วย ในเดือนสิงหาคม 2562 องค์การอนามัยโลกได้จัดทำเอกสาร Patient Safety Fact File ซึ่งแสดงข้อมูลที่ทำให้ทุกคนตระหนักถึงสภาพความรุนแรงของปัญหาและผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นจากการให้บริการทางการแพทย์
การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในยุคปัจจุบันมีความเสี่ยงสูงกว่าการขึ้นเครื่องบินมาก โอกาสที่คนคนหนึ่งจะขึ้นเครื่องบินแล้วประสบอุบัติเหตุถึงขั้นเสียชีวิตมีเพียงหนึ่งในสามล้าน ในขณะที่โอกาสที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้วเสียชีวิตจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่น่าจะป้องกันได้สูงถึงหนึ่งในสามร้อย นั่นคือสูงกว่าการขึ้นเครื่องบินประมาณหนึ่งหมื่นเท่า สถิตินี้เป็นผลมาจากข้อเท็จจริง 10 ประการ ที่พวกเราทุกคนต้องช่วยกันแก้ไขอย่างจริงจัง ข้อเท็จจริงเหล่านี้ได้แก่
- 1 ใน 10 ของผู้ป่วยประสบอันตรายในขณะเข้ารับการดูแลรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งเป็นเหตุการณ์ที่น่าจะป้องกันได้
- เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากบริการทางการแพทย์น่าจะเป็น 1 ใน 10 ของสาเหตุการเสียชีวิตหรือสุขภาพเสื่อมโทรมของคนบนโลกใบนี้
- 4 ใน 10 ของผู้ป่วยที่รับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกหรือที่คลินิกประสบอันตรายในขณะเข้ารับการดูแลรักษา โดยร้อยละ 80 เกิดจากสาเหตุที่น่าจะป้องกันได้ ซึ่งสาเหตุที่สำคัญคือการวินิจฉัยโรคคลาดเคลื่อน และการให้ยาที่คลาดเคลื่อน ผลของอันตรายเหล่านี้นำมาสู่การที่ผู้ป่วยต้องมานอนโรงพยาบาล ซึ่งเกิดขึ้นประมาณร้อยละ 6 ของการนอนโรงพยาบาลทั้งหมด
- ร้อยละ 15 ของรายจ่ายด้านสุขภาพในประเทศที่พัฒนาแล้วเกิดจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์
- การลงทุนเพื่อสร้างความปลอดภัยในผู้ป่วยช่วยประหยัดเงินตราจำนวนมาก ในประเทศสหรัฐอเมริกาช่วงปี 2010 – 2015 โครงการที่มุ่งเป้าเพื่อปรับปรุงความปลอดภัยในผู้ป่วยช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้ประมาณ 28,000 ล้านดอลล่าร์
- การใช้ยาอย่างไม่ปลอดภัยสร้างอันตรายต่อผู้ป่วยและทำให้เกิดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นจำนวนมาก ค่าใช้จ่ายเหล่านี้คิดเป็นประมาณ 42,000 ล้านดอลล่าร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 1 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของทั้งโลก
- การวินิจฉัยโรคที่คลาดเคลื่อนมีผลกระทบต่อผู้ป่วยอย่างมาก การวินิจฉัยที่ผิดพลาดหรือล่าช้าพบได้ร้อยละ 5 ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งครึ่งหนึ่งของเหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยเกิดอันตราย และร้อยละ 10 ของศพที่ผ่าพิสูจน์เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตมีสาเหตุเชื่อมโยงกับการวินิจฉัยโรคที่คลาดเคลื่อน
- ร้อยละ 10 ของผู้ป่วย ติดเชื้อในขณะที่นอนอยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งการล้างมืออย่างถูกต้องจะช่วยลดอัตราการติดเชื้อได้ถึงร้อยละ 55 และการให้ผู้ป่วยและญาติช่วยสอบถามแพทย์และพยาบาลในเรื่องการล้างมือจะช่วยให้อัตราการล้างมือสูงขึ้นมาก
- แต่ละปี มีผู้ป่วยทั่วโลก 1 ล้านคนเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด
- การใช้รังสีในการทางการแพทย์มีอันตรายที่ต้องเฝ้าระวัง เช่น การใช้รังสีมากเกินความจำเป็น การระบุตัวผู้ป่วยหรือข้างที่ถ่ายภาพรังสีผิดพลาด
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง https://www.who.int/features/factfiles/patient_safety/en/