ความสำเร็จวัดกันที่สัมพันธภาพและเสถียรภาพของความร่วมมือ

0
135
ความสำเร็จวัดกันที่สัมพันธภาพและเสถียรภาพของความร่วมมือ

สิ่งสำคัญของการดูแลสุขภาพระบบปฐมภูมิ อยู่ที่การมีส่วนร่วมของประชาชนใน
การช่วยออกแบบการบริหารจัดการที่ดีทั้งคน เงิน ของ และการมีเครือข่ายเชิงวิชาการที่เกิดจากการประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของคนในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

“ระบบสุขภาพปฐมภูมิใกล้บ้าน ใกล้ใจ” ควรเป็นสถานที่แรกที่ประชาชนในชุมชนนึกถึง สามารถพึ่งพาได้ ดังนั้นภาครัฐจึงให้ความสำคัญ โดยที่ผ่านมาได้เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ การถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมีการเร่งรัดการถ่ายโอนเพิ่มขึ้นมากขึ้นในช่วง 3 ปีหลัง
ซึ่งบุคลากรผู้ที่มีประสบการณ์ตรงในพื้นที่จะมาถ่ายทอดกระบวนทำงาน การประสานงาน ทั้งงานบริการ และการบริหารจัดการ จนสามารถสร้างผลงานที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม ดังนี้

ทิพย์หทัย ลาดมะโรง (สสจ.ปราจีนบุรี) ระหว่าง ปี 2564 และ 2565 มีการเตรียมความพร้อมรับการถ่ายโอนภารกิจของบุคลากรทางด้านสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่งสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี ผ่านการประชุม เพื่อทำความเข้าใจ เพิ่มความรู้ และแนวทางการดำเนินงานถ่ายโอนภารกิจ ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี โดยทีมผู้บริหารเป็นวิทยากร ชี้แจงแนวทางการดำเนินงาน ตอบข้อซักถามของบุคลากร ทำให้การถ่ายโอนฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

มีการบริหารจัดการภายใต้กรอบระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ (6 Building Blocks of A Health System)
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ถ่ายโอน) ทั้งด้านงานบริการสุขภาพ กำลังคน ยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นการเงินการคลัง ระบบสารสนเทศ และการอภิบาลระบบ กำหนด Timeline การถ่ายโอนภารกิจ โดยในวันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม 2565 มีการลงนามส่งมอบการถ่ายโอนภารกิจฯ และ ข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาศักยภาพขององค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรีในด้านสาธารณสุขมูลฐาน และการบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ ระหว่าง อบจ.ปราจีนบุรี และ สสจ.ปราจีนบุรี ณ องค์กรบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี อย่างเป็นทางการ ซึ่งมีสถานีอนามัยฯ และรพ.สต.ถ่ายโอน
ครบ 100% มีบุคลากรกลุ่มพนักงานราชการ พนักงานสาธารณสุข และลูกจ้างที่สมัครใจถ่ายโอนฯ ครบ 100% สำหรับประเภทข้าราชการสมัครใจฯ 83.01% เนื่องจากผู้ที่ใกล้เกษียณอายุราชการไม่ประสงค์ถ่ายโอนฯ

ภายหลังการถ่ายโอนฯ มีการตั้งคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการเพื่อรองรับการถ่ายโอนภารกิจฯ ได้แก่ คณะกรรมการอำนวยการ คณะทำงานด้านวิชาการและติดตามประเมินผล คณะทำงานงานบริหารจัดการ คณะทำงานด้านกฎหมาย คณะทำงานด้านสื่อสารประชาสัมพันธ์ เปิดช่องทางรับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ เสนอความเห็น สอบถามข้อมูล ผ่านทางโทรศัพท์ และเอกสารเผยแพร่ข่าวสารประชาสัมพันธ์ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี มีการประชุม
เพื่อติดตามความคืบหน้าและแก้ไขปัญหา ซึ่งไม่พบประเด็นการร้องเรียน ร้องทุกข์จากประชาชนจากการให้บริการประชาชน ทั้งนี้มีการบริหารจัดการ 3 ประเด็น คือ 1. การประสานงานและสนับสนุนการปฏิบัติงานให้เกิดความคล่องตัว สามารถอำนวยความสะดวกต่อผู้รับบริการอย่างมีประสิทธิภาพ 2. ระบบสารบรรณ การรับ-ส่งหนังสือราชการ
3. ดำเนินการจ้าง/จัดหาบุคลากร ในบางพื้นที่ที่ขาดแคลน

โดยสรุป การดำเนินการเป็นไปด้วยความราบรื่น เนื่องจากจังหวัดปราจีนบุรี มีจุดแข็ง คือ ผู้นำองค์กร ได้แก่
นายกองค์กรบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี อดีตรมต.ช่วยวาการกระทรวงสาธารณสุข ผู้อำนวยการกองสาธารณสุข ผอ.รพ.สต.ลาดตะเคียน มีสัมพันธภาพที่ดี มีการทำงานลักษณะพี่น้องถึงแม้ว่าจะอยู่ต่างกระทรวง มีการเติมเต็มในส่วนที่ขาดและร่วมกันแก้ไขปัญหา มีจุดหมายเดียวกัน คือ การดูแลสุขภาพประชาชน และการได้รับการสนับสนุนที่ดีของผู้บริหาร เน้นการทำงานที่ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ดูแลบุคลากรสาธารณสุขให้มีผลกระทบน้อยที่สุด

บัณฑิต ตั้งเจริญดี (ศูนย์การแพทย์และฟื้นฟูบึงยี่โถ) การถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ย่อมมีผลกระทบต่อบุคลากรที่ปฏิบัติงาน ทั้งกลัวผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง อาทิ ผลกระทบต่อนักการเมือง เป็นต้น สำหรับในช่วงแรกของการถ่ายโอนฯ ยังไม่มีการเตรียมความพร้อมใดๆ จนกระทั่งปี 2562 ได้มีการออกกฎ ระเบียบอย่างเป็นทางการ ทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น แต่ละท้องถิ่นมีกฎหมาย กฎระเบียบเฉพาะภายใต้การจัดตั้งของตนเอง การได้รับการตรวจสอบจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จึงทำให้มีผลกระทบมากขึ้น จึงต้องมีการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก เกิดการดำเนินการที่เป็นไปตามข้อกำหนด มีการระวังความเสี่ยงและความผิดพลาด มีการทำงานที่เป็นระบบมากขึ้น อีกทั้งบริบททางสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง อาทิ การสร้างบ้านจัดสรรเกิดขึ้นจำนวนมาก ประชาชนต่างพื้นที่เข้ามาอาศัย
ซึ่งไม่ทราบพื้นฐานประวัติความเป็นมา พบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ คนพื้นที่บึงยี่โถน้อยลง กลายเป็นสังคมเดี่ยว จากสังคมผู้สูงอายุ ทำให้การรักษาพยาบาล ทั้งป้องกัน รักษา และฟื้นฟูเข้าเข้ามามีบทบาท เนื่องจากมีกลุ่มผู้สูงอายุมักเป็นโรค NCD เพิ่มมากขึ้น

สำหรับศูนย์การแพทย์และฟื้นฟูบึงยี่โถ เดิมคือสถานีอนามัย ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น รพ.สต. และปัจจุบันเป็นศูนย์การแพทย์ฯ ทำให้บุคลากรเกิดความภาคภูมิใจ มีจำนวนบุคลากรจาก 5 คน ปัจจุบันจำนวน 50 คน เป็นแพทย์เฉพาะทางเพิ่มมากขึ้น ได้รับทราบปัญหาต่างๆ จากชุมชนโดยแพทย์ที่ลงพื้นที่เป็นประจำ ให้ความสำคัญกับประชาชน ทั้งเรื่องการมีส่วนร่วมในการออกแบบการดูแลสุขภาพตนเอง ค่ารักษาพยาบาลที่ไม่แพงเกินไป มีการจัดสรรงบประมาณให้กับการส่งเสริมสุขภาพประชาชนอย่างทั่วถึง ทำให้ศูนย์การแพทย์ฯ เป็นที่พึ่งพาให้กับประชาชนในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ (รพ.คูเมือง) จากที่ได้รับตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคูเมือง ตั้งแต่ก้าวเข้ามาครั้งแรก พบว่าสิ่งที่เหมือนกันของทุกหน่วยงาน คือ ต้องการทำสิ่งที่ดี และทำเพื่อประชาชน ปัญหาต่างๆ ไม่ใช่ข้อจำกัด ผู้นำมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน แต่สิ่งที่มองเห็นภาพเครือข่าย คือ ต่างคนต่างทำหน้าที่ เข้าไม่ถึงภาคเอกชน มีความคิดต่างด้านการเมือง จึงใช้ทฤษฎี Nudge Theory (ทฤษฎีผลักดัน) “มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไร้เหตุผล แม้จะพยายาม ตั้งใจมีเหตุผลอย่างไร แต่ในที่สุดแล้ว พวกเขาจะมีพฤติกรรม เอนเอียงไปกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่เกิดขึ้นตามสถานการณ์ หรืออารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวอยู่ดี” ในการบริหารจัดการเครือข่าย โดยจัดการภายในก่อน สู่การจัดการภายนอก ปรับมุมมองคนในก่อน ได้แก่ 1. การสร้าง Core Value เหมาะสมกับเครือข่าย (Customer focus, Teamwork, Management by fact, Public mind) 2. การสร้างความรู้สึกดี ๆ ให้เครือข่าย (เขาขออะไร ห้ามปฏิเสธ เราให้เขาก่อน ให้ใจได้ใจ ได้หน้า-ได้งาน) 3. สร้างกลยุทธ์ ขยายวงออกไป (รพ. รพ.สต. หน่วยงานราชการ อปท. เอกชน จังหวัด) ใช้หลัก ผู้นำกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กร ของ Peter Senge : Learning Organization ได้แก่ 1. สร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน (Shared Vision) มีการ Share Vision กับเครือข่ายผ่านการศึกษาดูงานเทศบาลเขาพระงาม จ.ลพบุรี ศูนย์โฮมสุข จ.กาฬสินธุ์ ศูนย์การเรียนรู้บ้านหนองทราย จ. กาญจนบุรี
โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม อาทิ นายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ กิ่งกาชาด นายกอปท./อบต. ปลัด ผอ.กอง ผอ.รพ. เป็นต้น 2. สร้างแบบแผนความคิด (Mental Model) สร้างการเรียนรู้ผ่านการออกแบบกิจกรรม Transformer Learning ผสมผสานทั้ง Hard skill และ Soft skill “SAME MENTALMODEL” 3. พัฒนาขีดความสามารถตนเอง (Personal Mastery) ผ่านการฝึกอบรมการดูแลฟื้นฟูสภาพ อบรมเชิงวิชาการการดูแลผู้ป่วยแบบ Case Manager อบรมวิชาการเชิงปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยแบบ PC และทักษะการดูแลผู้ป่วยให้กับ Care Giver 4.คิดและจัดการเชิงระบบ (System Thinking) ผ่านภาพฝัน “ปันสุข” เครือข่าย อ.คูเมือง เครือข่ายมีส่วนร่วมดูแลประชากรทุกกลุ่มวัย ระบบข้อมูลจัดการทรัพยากร (Allocation) ระบบข้อมูล และอสม.เชี่ยวชาญ 5. สร้างการเรียนรู้เป็นทีม (Team Learning) กิจกรรมช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส โครงการมอบบ้านผู้พิการโดยเครือข่าย อำเภอสวัสดิการทุกช่วงวัย ศูนย์ซ่อมกายอุปกรณ์ยืม-คืน ศูนย์ปันสุข ต.ตูมใหญ่ การประชุมเครือข่าย

ทั้งนี้เมื่อ รพ.สต.ย้ายไป อปท. ได้กำหนดแผนสำคัญ ได้แก่ การผนึกกำลังเครือข่ายภายในโดยกลไก พชอ.
ใช้ Model อปท.เป็นแกนกลางเชื่อมประสาน ยึดแนวคิดเดิม คือประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเชื่อมโยงข้อมูลโดย
ยึดหลัก PDPA

สรุปได้ว่า กระบวนเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ การเปลี่ยนมุมมอง ปรับ Mindsetโดยคำนึงว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อประโยชน์ของประชาชนมากที่สุด ทั้งนี้หากมีการบริหารจัดการภายใต้แนวคิด Growth Mindset จะทำให้การมองทุกปัญหามีทางออก นำมาสู่การแก้ไขอย่างมีระบบ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้อย่างเป็นรูปธรรม

ผู้ถอดบทเรียน ดร.สดศรี พูลผล                                                                                              หัวหน้างานพัฒนาคุณภาพงาน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ครีเอทีฟคอมมอนส์
งานนี้ใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ แบบแสดงที่มาไม่ใช้เพื่อการค้า ไม่คัดแปลง

 

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here