ธนาคารเวลากับภาคีอาสาการดูแลผู้มีอายุยืน
ธนาคารเวลา “วาระแห่งชาติ” เพื่อผู้สูงอายุ ไม่ “แก่อย่างเดียวดาย”
การแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิด การดูแลผู้สูงอายุ ด้วยการใช้เครื่องมือแบบใหม่ โดยผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสังคมผู้สูงอายุ ที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้า
ธนาคารเวลา คือ การสะสมเวลาในรูปแบบของบัญชีส่วนบุคคล โดยสามารถเบิกถอนเวลามาใช้เมื่อต้องการความช่วยเหลือ” ซึ่งใช้หลักคิด “Give and take” หลังจากฝากเวลา ด้วยการบริการ ช่วยเหลือ ในด้านสังคม เศรษฐกิจ หรือสุขภาพ ธนาคารเวลา จะมีผู้รับรองและแปลงเวลาให้เป็นเครดิต ซึ่งอาจดำเนินงานผ่าน website หรือ มีสมุดฝาก เมื่อต้องการ ถอน จะมีทางเลือกในการรับผลตอบแทนได้ในหลายรูปแบบ เช่น การรับบริการแบบที่เคยฝากไป การรับเกียรติบัตร รางวัล หรือการส่งต่อผลตอบแทนให้ผู้อื่น จะมีการบริหารจัดการโดย มีการประเมินความต้องการ จับคู่ (Matching) การจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับที่ต้องการ
ธนาคารเวลาเป็นเครื่องมือ ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและองค์กร นั่นคือ ช่วยลดความเหงาซึมเศร้าของผู้สูงอายุ สร้างสัมพันธภาพของเพื่อนบ้าน เสริมสร้างปฏิสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายในชุมชน แลกเปลี่ยนทักษะประสบการณ์ ช่วยเหลือเกื้อกูล ตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของตนเอง กล้าขอความช่วยเหลือเพราะไม่ได้รับอยู่ฝ่ายเดียว (Give and Take) สุขภาพกายและสุขภาพจิตดีขึ้น เห็นคุณค่าของผู้อื่น ทุกคนเท่าเทียม
ตัวอย่างของธนาคารเวลาที่ดำเนินการในประเทศไทย ได้แก่ 1. สสส. ซึ่งได้สนับสนุนโครงการนำร่องในระดับภูมิภาคชุมชนท้องถิ่น 42 แห่ง พื้นที่นำร่องในกรุงเทพมหานครและเครือข่ายภาคประชาสังคมคนรุ่นใหม่ 2. กรมกิจการผู้สูงอายุ ได้ดำเนินโครงการในพื้นที่ดินแดง กทม. การดำเนินงานกับโรตารี่และเครือข่ายอื่นๆ การจัดทำคู่มือแนวทางการดำเนินงานในพื้นที่นำร่องและสมุดบันทึกเวลา เปิดรับสมัครเป็นอาสาสมัครธนาคารเวลาผ่านเว็ปไซต์กรมกิจการผู้สูงอายุ
บทบาท สสส. ในการร่วมขับเคลื่อนธนาคารเวลา 1. ด้านวิชาการ มีการทบทวนสถานการณ์ในต่างประเทศ เสนอแนวทางการขับเคลื่อนและติดตามประเมินผล 2. ด้านการบริหารจัดการ ได้แก่จัดระบบ IT ฐานข้อมูล จัดทำคู่มือ แนวปฏิบัติ กติกามาตรการเพิ่มแรงจูงใจ ฯลฯ 3. โครงการนำร่อง ได้แก่ ในส่วนภูมิภาคนำร่องในชุมชนท้องถิ่น 42 แห่ง, ในเขตกรุงเทพมหานครเริ่มในชุมชน องค์กรและเครือข่ายภาคประชาสังคมคนรุ่นใหม่ ธนาคารจิตอาสา 4. การประสานความร่วมมือและเสริมพลังเครือข่ายที่ร่วมดำเนินการ การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียน 5. การรวบรวมผลการดำเนินงานและจัดทำข้อเสนอเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ความยั่งยืนของ ธนาคารเวลาในประเทศไทย ประเทศไทยมีพลังสังคมด้านบวกสูง เป็นสังคมแห่งความเอื้ออาทร มีความสัมพันธ์อันดีของคนในชุมชน มีเครือข่ายจิตอาสาและต้นแบบอาสาสมัครต่างๆ มีต้นทุนงานในระดับพื้นที่โดยเฉพาะธนาคารความดี ที่สามารถต่อยอดประยุกต์ใช้ได้ อีกทั้งยังมีมีโอกาส ได้แก่ ภาคนโยบายสนับสนุนแนวคิดการจัดตั้งธนาคารเวลา การกำหนดมาตรการนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ แต่ก็มีแรงต้านในมุมมองการยอมรับแนวคิดธนาคารเวลาซึ่งเป็นเรื่องใหม่และมีความซับซ้อน ยังขาดระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ การบูรณาการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาวะคุกคามจากผลกระทบต่อระบบจิตอาสาที่ไม่มีการตอบแทนใดๆ และความเสี่ยงภาพลักษณ์ของการดำเนินงาน หากมีการละเมิดความรุนแรงอาจเกิดกับผู้สูงอายุที่รับบริการ จึงจำเป็นต้องสร้างร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชนและประชาชน ในการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
ดาวน์โหลดที่นี่…ฟรี ธนาคารเวลากับภาคีอาสาการดูแลผู้มีอายุยืน
ถอดบทเรียน พัชรีย์ ยิ้มขาวผ่อง
ตำแหน่ง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ (งานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน) โรงพยาบาลสระบุรี
Photo by Curtis MacNewton on Unsplash