บทเรียนจาก 13 หมูป่ากับถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน
“เหตุการณ์ครั้งนี้เราพบ Hidden Heroes เยอะมาก น้องที่มารับซักผ้า คนที่มาทำอาหาร ป้าเจ้าของปิ่นมณีรีสอร์ท เด็กหนุ่มอายุประมาณ 16-17 ปี ตัวเล็กๆ ผอมๆ 2 คน ที่โทรบอกว่าไม่มีตังค์ ไม่มีอุปกรณ์ แต่มีรถหกล้อที่จะช่วยขนของบริจาคที่กรุงเทพฯ มาให้ทีม และ Hero อีกหลายคนมากที่ซ่อนอยู่ในงานนี้ ทำให้เราเห็นถึงน้ำใจ พลังใจของคนทั่วโลก จนเราต้องบอกกับตัวเองว่า เราจะไม่ปล่อยให้น้ำใจและพลังใจของทุกคนสูญเปล่า เราไม่มีสิทธิ์ที่จะท้อเลยซักวัน….” (นรินทร ณ บางช้าง)
“มันเกิดการเปลี่ยนแปลงในวิธีคิดของผม ที่ได้มากไปกว่านั้น คือ การเปลี่ยนแปลงในวิธีคิดขององค์กรด้วย….การที่ เราทำเรื่องนี้ให้สำเร็จลงได้ ก็เพราะเราทุกคนมีเป้าหมายที่เหมือนกันคือต้องเอาเด็กออกมาให้ได้ และเด็กทุกคนต้องรอด เมื่อเป้าหมายสูงสุดตรงกันจึงเกิดการทำงานโดยไม่ต้องคิดอะไรมาก ทำอะไรก็ได้เพื่อให้ตอบเป้าประสงค์ และเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความยั่งยืน…” (นพ.สมศักดิ์ อุทัยพิบูลย์)
“เหตุการณ์ที่ถ้ำขุนน้ำนางนอนเป็นจุดศูนย์รวมที่ฉายให้เห็นถึงพลังความรัก พลังของแสงสว่างที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคนที่มารวมกัน ณ เวลานั้น… เรื่องนี้เป็นประวัติศาสตร์ของโลกที่มีคุณค่ามาก เราน่าจะนำสิ่งที่เกิดขึ้นมาถอดบทเรียนข้ามหน่วยงานเพื่อช่วยกันค้นหาคุณค่าว่าอะไรคือคุณค่าของไทยอย่างแท้จริง แล้วเก็บรักษาคุณค่านั้นไว้ ไม่ปล่อยให้มันสูญหายไปกับภารกิจ 18 วันที่จบลงไป….” (ณาตยา แวววีรคุปต์)
เหตุการณ์ 13 หมูป่าติดถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาอันสั้น แต่ก็เป็นปรากฏการณ์ความร่วมมือของมวลมนุษยชาติครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการ ซึ่งทั่วโลกให้คำชื่นชมว่ามีความเฉียบคมและเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยสังคมรับรู้ถึงความช่วยเหลือของผู้เกี่ยวข้องผ่านการนำเสนอตามสื่อสาธารณะต่างๆ หากแต่ในสถานการณ์จริงนั้นยังมีความร่วมมือของผู้คนอีกมากมายที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของปฏิบัติการครั้งนั้น ซึ่งอาจไม่ได้ถูกชูให้เป็นประเด็นหลักหรือไม่มีพื้นที่ในการนำเสนอ ขณะที่บางท่านก็ถูกท้าทายด้วยคำถามในด้านลบและข้อสงสัยถึงเหตุผลที่แท้จริงในการมาปฏิบัติการช่วยเหลือ แต่เขาก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่ต่อไปได้ การปฏิบัติการค้นหาและให้ความช่วยเหลือดำเนินไปทุกๆ วินาทีไม่มีการหยุดพัก ทั้งกลางวันและกลางคืน และในท่ามกลางความสับสนวุ่นวายของผู้คนจำนวนมากที่เข้ามามีส่วนร่วมในปฏิบัติการจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะบริหารจัดการ ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบต้องใช้สติ ความรอบคอบ ความละเอียดถี่ถ้วนอย่างมากในการตัดสินใจทุกๆ เรื่อง จากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งที่น่าค้นหาว่า อะไรคือปัจจัยความสำเร็จในการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเพื่อให้ดำเนินการไปในแนวทางเดียวกันได้ หรือมีบทเรียนสำคัญอะไรบ้างที่จะสามารถถอดรหัสเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในเหตุการณ์อื่นๆ ได้ในอนาคต การค้นหาที่จะทำให้ได้ข้อมูลสำคัญอย่างรอบด้านในแง่มุมที่หลากหลาย คือการได้รับฟังการบอกเล่าเรื่องราว และถอดบทเรียนจากผู้ที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้น
ณาตยา แวววีรคุปต์ ในเหตุการณ์ 18 วันที่เกิดขึ้น ข้อสรุป คือ การทำภารกิจร่วมใจกันเป็นหนึ่งเดียว ก้าวข้ามทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเป้าหมายเดียวกัน ก้าวข้ามจุดยืนทางการเมือง ก้าวข้ามองค์กร ก้าวข้ามความคุ้นเคยในการทำงานที่เคยชิน ก้าวข้ามทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อความสำเร็จอันเดียวกัน ไม่เฉพาะข้าราชการ ไม่ใช่แค่พ่อแม่ ประชาชน ชาวนา ชาวบ้าน ชาวเขา ต่างระดมแรงกาย แรงใจ หาจุดทางน้ำ ไปแบกอุปกรณ์ แบกไม้ไผ่ เพื่อไปเบี่ยงทางน้ำ แบกท่อส่งน้ำแม้จะหนักมาก ดูแล้วน้ำตาไหล แต่ภาพที่ออกมาคนส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้จดจำภาพนั้น มองไม่เห็น เพราะไปโฟกัสที่ภาพนักดำน้ำชาวต่างชาติที่ไปช่วยเด็กในถ้ำ แต่ความจริงแล้วถ้าไม่มีชาวบ้านที่ไปชี้จุดว่าน้ำมุดเข้าถ้ำได้ทางไหน ก็จะไม่มีวันเอาน้ำออกจากถ้ำเพื่อลดระดับให้คนดำน้ำเข้าไปช่วยเด็กออกมาได้อย่างปลอดภัย เป็นสิ่งที่เกื้อกูลกันไม่ใช่ความบังเอิญ เพราะถ้าคิดเราว่าเป็นความพอใจของเจ้าแม่ก็จะไม่เกิดปัญญา แต่ถ้าเราเห็นว่าเรื่องนี้มีคุณค่ามากจนถูกจารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ของโลกแล้ว เราก็น่าจะลองตั้งเป้าหมายเพื่อสร้างการเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยการถอดบทเรียนข้ามหน่วยงานจาก Stakeholder ซึ่งยังไม่ค่อยมีใครทำ เพื่อที่จะช่วยกันค้นหาว่าอะไรคือคุณค่าของไทยอย่างแท้จริง แล้วเก็บรักษาคุณค่านั้นไว้ ไม่ปล่อยให้มันสูญหายไปกับภารกิจ 18 วันที่จบลง
ผศ.(พิเศษ) ดร.นพ.วัชรพล ภูนวล ความสำเร็จครั้งนี้เกิดจากการที่ทุกคนมองข้ามอุปสรรคต่างๆ แต่ใช้ Ability to change เป็นความสามารถในการที่จะสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบพลิโฉม โดยการใช้พลังกาย พลังใจที่ยิ่งใหญ่ ที่จะให้มีการแสดงความสามารถระดับบุคคลออกมา มีความไว้ใจ (Trust) มีความเชื่อมั่น เชื่อใจ (Confidence) ก้าวข้ามความแตกต่างระหว่างบุคคล (Ability overcome personal difference) มีภาวะผู้นำโดยรวม (Collective Leadership) ตั้งแต่คนแรกที่เข้าไปและตามมาเรื่อยๆ เกิดการร่วมมือในภาพกว้าง มีการติดตามจากคนทั่วโลก เราอยากให้มีภาพความงดงามเช่นนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องไป เรายังสามารถถอดบทเรียนเหตุการณ์นี้ได้อีกหลายชุด เพื่อนำมาสร้างประโยชน์ในสังคมให้มากขึ้นได้ และเราก็สามารถนำเอาบทเรียนนี้กลับไปใช้ในองค์กรได้ เพราะองค์กรของเราก็ไม่แตกต่างจากเหตุการณ์นี้ เป็นเพียงการย่อส่วนลงเท่านั้น ในองค์กรก็จะมีทั้งคนที่ขัดแย้ง มีคนที่เห็นต่าง เราในฐานะของผู้นำองค์กร หากเราใช้ความสามารถและภาวะผู้นำที่เหมาะสมไปใช้ส่งเสริมสนับสนุนให้คนในองค์กรได้เปลี่ยนแปลงตนเองในการทำงานเพื่อการบรรลุเป้าหมาย ก็จะช่วยให้องค์กรก้าวสู่ความเป็นเลิศได้
ดาวน์โหลดที่นี่…ฟรี บทเรียนจาก 13 หมูป่ากับถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน
ถอดบทเรียน อรอินทร์ ขำคม
ตำแหน่ง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ (กลุ่มงานการพยาบาลจิตเวชเด็ก) โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์
Photo by Natalie Pedigo on Unsplash