“เหตุผลที่จะทำให้แนวทางปฏิบัติที่สร้างขึ้นมีการปฏิบัติจริง คือ การหมั่นทบทวนปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ มีการสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องและทดลองใช้ และการมีส่วนร่วมของสหสาขาวิชาชีพ” แพทย์หญิงปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ
ระบบบริการสุขภาพตามมาตรฐาน HA (Hospital accreditation) ได้รับความไว้วางใจ มีความปลอดภัย จากวิสัยทัศน์ของสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ที่รับรองระบบงานรับรองกระบวนการที่ทำให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ป่วย มาตรฐานที่สำคัญจำเป็นต่อความปลอดภัยควรมีคุณลักษณะดังต่อไปนี้
- ควรเป็นประเด็นเกี่ยวกับความผิดพลาดที่ป้องกันได้ (Preventable Harms) และมีความสำคัญหากเกิดความไม่ปลอดภัยในประเด็นดังกล่าวจะส่งผลต่อความไม่น่าไว้วางใจกับระบบของโรงพยาบาล
- ควรเป็นประเด็นที่มีระบบอยู่ในมาตรฐาน HA (Hospital accreditation) และสอดคล้องกับคู่มือแนวทางความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากร (National Patient and Personnel Safety Goals)
- เป็นประเด็นที่ได้รับการความยอมรับในระดับสากล หรือเชิงนโยบาย ที่ควรเกิดการขับเคลื่อน
- เป็นประเด็นที่สถานพยาบาลสามารถดำเนินการได้และเกิดประโยชน์เชิงระบบกับสถานพยาบาล
วันที่ 1 เมษายน 2563 WHO (World health organization) กำหนด มาตรฐานสำคัญจำเป็นต่อความปลอดภัย และมาตรฐาน HA advance กล่าวถึงความไม่ปลอดภัย (Harm) ทั้งที่แบบป้องกันได้ และป้องกันไม่ได้ เน้นที่ความไม่ปลอดภัยที่ป้องกันได้ (Preventable harm) มีแนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดความไม่ปลอดภัยดังกล่าว สรพ.จะเลือกประเด็นที่เป็นนโยบายที่ควรขับเคลื่อน สถานพยาบาลสามารถทำได้ และเมื่อโรงพยาบาลทำแล้วรู้สึกว่าเกิดประโยชน์ จาก 2 P Safety และNational Patient and Personnel safety goal มาตรฐานสำคัญที่จำเป็นต่อความปลอดภัยมีจำนวน 9 เรื่อง ได้แก่
- การผ่าตัดผิดคน ผิดข้าง ผิดตำแหน่ง ผิดหัตถการ (Safe surgery- มาตรฐานข้อ III-4.3) ร่วมกันทบทวนว่าโรงพยาบาลมีแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันความผิดพลาดหรือยัง ทีมผู้ปฏิบัติงานใช้แนวทางปฏิบัติหรือไม่ แนวทางดังกล่าวทบทวนครั้งสุดท้ายเมื่อไร มีการวางระบบรายงานหรือยัง มีผู้รับผิดชอบเก็บข้อมูลและเฝ้าดูอุบัติการณ์หรือยัง ผลลัพธ์การปฏิบัติเป็นอย่างไร
- การติดเชื้อที่สำคัญในสถานพยาบาล ตามบริบทขององค์กรในกลุ่ม Surgical site infection (SSI), Ventilator-associated pneumonia (VAP) , Catheter Associated Urinary tract infection (CAUTI), Central-line associated bloodstream infections (CLABSI) พบว่ามีอุบัติการณ์การติดเชื้อในโรงพยาบาลมาก จึงนำมาทบทวนให้คะแนนความปลอดภัยเรื่อง การป้องกันติดเชื้อในโรงพยาบาล นำไปสู่การแก้ไขป้องกันภาพรวมของทั้งโรงพยาบาล ผู้บริหารการจัดสรรทรัพยากร สื่อสารนโยบาย “Clean care is safer care – การล้างมือ 7 ขั้นตอน” จะช่วยลดการติดเชื้อในโรงพยาบาลลงได้
- บุคลากรติดเชื้อจากการปฏิบัติหน้าที่ (Personal safety) องค์กรมีนโยบายการดูแลบุคลากรให้ทำงานอย่างปลอดภัย (Healthcare personal) มีแนวทางปฏิบัติ (Guideline) ในการป้องกันการติดเชื้อ เช่น โรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 (โควิด 19) โรควัณโรค (Tuberculosis-TB) เป็นต้น
- การเกิด Medication error และ Adverse drug event เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่มีความสำคัญมาก จากการเก็บสถิติระดับประเทศ พบว่ามีระบบดักจับก่อนเกิดอุบัติการณ์ (Near missed) ค่อนข้างดีอยู่แล้ว
- การให้เลือดผิดหมู่ ผิดคน ผิดชนิด (Blood safety) จัดเป็นอุบัติการณ์ที่ป้องกันได้และไม่ควรเกิดขึ้น (Never event)
- การระบุตัวผู้ป่วยผิดพลาด พบมีอุบัติการณ์การส่งตัวผู้ป่วยผิดคน ทำให้มีคนเสียชีวิต การป้องกันอุบัติการณ์ดังกล่าวต้องมีการวางระบบให้ชัดเจน ให้มีการตรวจสอบบ่งชี้ผู้ป่วยถูกต้องสม่ำเสมอทุกขั้นตอนของการดูแลผู้ป่วย
- ความคลาดเคลื่อนในการวินิจฉัยโรค เป็นมาตรฐานสำคัญในเป้าหมายความปลอดภัยของผู้ป่วย (patient safety goal)
- การรายงานผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ /พยาธิวิทยาคลาดเคลื่อน
- การคัดกรองที่ห้องฉุกเฉินคลาดเคลื่อน
สิ่งที่โรงพยาบาลควรทำคือการนำมาตรฐานสำคัญที่จำเป็นต่อความปลอดภัยทั้ง 9 เรื่อง มาทบทวนโดยทีมสหสาขาวิชาชีพเพื่อแยกประเภทว่าเรื่องใด “ทำได้ดีแล้ว” และเรื่องใด “ยังมีโอกาสพัฒนา” โรงพยาบาลที่ผ่านการรับรอง HA อย่างน้อยจะมีระบบการดูแลผู้ป่วยใน 9 เรื่องนี้ มีการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ มีผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระบบบริการ ทำให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ป่วยที่มารับบริการอย่างมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่โรงพยาบาลควรจัดทำและนำมาปฏิบัติคือ
- แนวทางปฏิบัติ (Guideline or CPG – Clinical practice guideline) และเฝ้าติดตามให้มีการปฏิบัติจริง เหตุผลที่จะทำให้เกิดแนวทางปฏิบัติและปฏิบัติจริงจากความคิดเห็นของผู้ปฏิบัติงานมีดังนี้
- มีการหมั่นทบทวนปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์
- มีการสื่อสารทำความเข้ากับผู้ที่เกี่ยวข้องและทดลองใช้
- แนวทางปฏิบัตินั้นเกิดจากการมีส่วนร่วมของสหสาขาวิชาชีพ ไม่ใช่โดยใครคนใดคนหนึ่ง
- เฝ้าติดตาม (Monitor) เก็บข้อมูลอุบัติการณ์ (Incident report – IR) ดังระบบรายงานอุบัติการณ์ในมาตรฐานใหม่ตอนที่ 4 แบบประเมินตนเองจะมีช่องให้เติมจำนวนอุบัติการณ์ และให้เขียนแนวทางการป้องกันประกอบไว้ด้วยสั้นๆ 3-4 บรรทัด การตรวจเยี่ยมของ สรพ.จะสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติงานที่หน้างานเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริง
- นำอุบัติการณ์ที่อยู่ในระดับรุนแรงระดับ E ขึ้นไปมาทบทวน ต้องมีการวิเคราะห์รากเหง้าของปัญหา (Root cause analysis – RCA) เมื่อเกิดเหตุกับคนไข้ให้เหมาะสมกับปัญหาและความรุนแรงนั้นๆ ทบทวนเพื่อวางแนวทางปฏิบัติ ไม่ให้เกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นอีก ถ้ามีแนวทางปฏิบัติที่ดี อุบัติการณ์นั้นๆจะเกิดขึ้นน้อยลงแน่นอน (Potential change)
- จัดทำแผนควบคุมป้องกันความเสี่ยง (Risk register) ดำเนินงานอย่างเป็นระบบเพื่อติดตามผลการปฏิบัติ มาตรฐานสำคัญที่เกิดขึ้นจากคำถามว่าทำไม (WHY) อะไรคือพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe act) เช่น การให้ยาโดยไม่ได้ถามชื่อ นามสกุล เกิดจากปัจจัยแวดล้อมหรือสถานการณ์อะไร คิดเชิงระบบ ไม่คิดถึงเฉพาะตัวบุคคล การป้องกันอาจมีการสร้างนวัตกรรมขึ้น โดยใช้ Human factor engineering (HFE) ปรับในแนวทางปฏิบัติ Guideline ที่มีอยู่ ทำให้คนไข้ได้รับความปลอดภัยมากขึ้น
- เมื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติเพื่อป้องกันอุบัติการณ์ มีการบันทึกผลการดำเนินการว่าเกิดแนวทางอะไรขึ้นบ้าง บันทึกข้อมูลในแบบประเมินตนเอง ทีมสหวิชาชีพร่วมกันพิจารณาว่าเรื่องใดที่มั่นใจว่าโรงพยาบาลทำได้ดีแล้ว และเรื่องใดที่ โรงพยาบาลต้องใช้ความพยายามในการดำเนินการจึงจะสำเร็จ ทั้งนี้เมื่อพบช่องโหว่ (Gap) ในการปฏิบัติแล้ว จึงวางแผนการปฏิบัติต่อไป (Action plan) ให้เกิดความปลอดภัยแก่คนไข้และบุคลากร ตามมาตราฐานสำคัญและจำเป็นจุดเน้นเพื่อความปลอดภัย (2P Safety และNational Patient and Personnel safety goal)
ถอดบทเรียนโดย กาญจนา เสนะเปรม หัวหน้างานพัฒนาระบบบริการพยาบาล โรงพยาบาลราษฎร์บูรณะ
ภาพถ่ายโดย Asad Photo Maldives จาก Pexels