ระบบสำรองสำหรับแก๊สที่ใช้ทางการแพทย์

0
8088

ในมาตรฐานระบบสิ่งแวดล้อมในการดูแลผู้ป่วย ประเด็นที่มีการเพิ่มเติมเข้ามาใหม่ในมาตรฐานฉบับที่ 4 คือ “องค์กรจัดให้มีระบบสำรองสำหรับแก๊สที่ใช้ทางการแพทย์ โดยมีการบำรุงรักษา ทดสอบ และตรวจสอบที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ”

เพื่อทำความเข้าใจเบื้องต้น ขออธิบายศัพท์ที่ใช้ในเรื่องนี้ ดังนี้

– ชุดจ่ายแก๊ส  (gas manifold) หมายถึง อุปกรณ์สำหรับต่อเชื่อมทางออกของท่อบรรจุแก๊สที่มากกว่าหนึ่งท่อเข้ากับศูนย์รวมของระบบจ่ายกลางของแก๊สชนิดหนึ่ง ชุดจ่ายแก๊สมักประกอบด้วยกลุ่มท่อบรรจุแก๊ส 2 กลุ่ม โดยที่ขณะที่ใช้งาน กลุ่มท่อบรรจุแก๊สกลุ่มที่หนึ่งจะเป็นกลุ่มหลักในการจ่ายแก๊ส กลุ่มที่สองจะสำรองพร้อมใช้งานโดยอัตโนมัติเมื่อกลุ่มท่อบรรจุแก๊สกลุ่มแรกที่ใช้งานอยู่แก๊สหมดลง พร้อมมีระบบแจ้งเตือนให้ผู้ดูแลรับผิดชอบทราบว่าระบบสำรองถูกใช้งานแล้ว โดยทั่วไป แหล่งจ่ายสำรองจะต้องมีความจุเพียงพอที่จะจ่ายแก๊สให้ระบบได้อย่างน้อย 1 วัน

– ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มักใช้ออกซิเจนเหลวเป็นแหล่งของระบบจ่ายออกซิเจนหลักของระบบจ่ายออกซิเจน และใช้ชุดจ่ายแก๊สอัตโนมัติในลักษณะกลุ่มของท่อบรรจุออกซิเจนเป็นระบบสำรองจ่ายในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น

เหตุที่ต้องมีการเพิ่มเติมมาตรฐานข้อนี้เข้ามาก็เนื่องจากว่า เมื่อไปเยี่ยมสำรวจจะพบว่า บ่อยครั้งที่การบำรุงรักษาระบบสำรองออกซิเจนของโรงพยาบาลทำได้ไม่ดี ทำให้อุปกรณ์ที่เปลี่ยนไปใช้ระบบออกซิเจนสำรองไม่ทำงานโดยอัตโนมัติเมื่อแหล่งออกซิเจนหลักหมดลง จึงใช้วิธีให้ช่างวิ่งไปเปลี่ยนเป็นระบบสำรอง ซึ่งมักกินเวลานาน ทำให้ผู้ป่วยที่ต้องการออกซิเจนตลอดเวลาอาจขาดออกซิเจนได้ นอกจากนี้จากความไม่เข้าใจของเจ้าหน้าที่ ทำให้ระบบสัญญาณเตือนที่ติดตั้งไว้ถูกปิดไป จากความรำคาญว่ามีเสียงสัญญาณเตือนบ่อยครั้ง ดังนั้น เมื่อระบบออกซิเจนสำรองถูกใช้งาน จึงไม่มีสัญญาณเตือน ส่งผลให้ระบบสำรองถูกใช้ไปเรื่อยๆ จนหมด แล้วเกิดความล้มเหลวของระบบการจ่ายออกซิเจนของทั้งโรงพยาบาลตามมา

Photo by chuttersnap on Unsplash

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here