หนึ่งเป้าหมาย หลายเส้นทางสู่จิตวิญญาณในการทำงาน
กระทรวงสาธารณสุขมีบุคลากรกว่าสี่แสนคนทั่วประเทศ แต่ที่เราไม่ทราบคือ คนจำนวนกว่าสี่แสนคนนี้ยัง active หรือ engage กับงานมากแค่ไหน ยังเหลือพลังอยู่เท่าไร หากเราทำให้คนทั้งหมดนี้มีกำลังใจ ในการสร้างสรรผลงาน ไม่ท้อถอย มีจิตใจที่ทุ่มเทก็จะสามารถทำอะไรได้อีกมาก
การอภิปรายวิทยากรสองท่านซึ่งเป็นผู้นำเรื่องของ SHA และงานบันดาลใจในการทำงานของประเทศไทยของบุคลากรในระบบสาธารณสุขทุกคน โดยมุ่งหวังว่าจะสามารถ 1. ตอบโจทย์การสร้างประสบการณ์ของบุคลากร (employee experience) ที่มีอยู่หลากหลายรูปแบบ เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาวะทางจิตวิญญาณในที่ทำงาน รูปแบบที่ หลากหลายเหล่านี้เปรียบเสมือนเส้นทางขึ้นสู่ยอดเขาที่มีมากมายหลายเส้นทาง แต่ละเส้นทางอาจแตกต่างกัน แต่หากเราเดินทางอย่างมุ่งมั่นแล้ว ทุกเส้นทางต่างก็พาเราไปพบ กันที่ยอดเขาสูงสุดอันเดียวกัน แม้เราจะเดินทางมาคนละเส้นทางก็ตาม 2. ให้แนวคิดและการจัดการองค์กรที่จะสามารถหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณในการทำงานของพนักงาน 3. อธิบายองค์ประกอบที่สำคัญของการจัดการองค์กรเพื่อหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณในการทำงานของบุคลากร
คำว่า SHA เดิมมีชื่อที่ยาวมาก (Sustainable Health Care & health Promoting by appreciation & Accreditation) แต่มีการมาปรับเปลี่ยนให้สั้นลง เป็น Spiritual Healthcare Appreciation แปลว่าการใช้จิตวิญญาณ และมุมมองเชิงบวก ในการทำงานระบบสุขภาพ ซึ่งเป็นระบบที่คู่ขนานกับงาน HA(Hospital Accreditation) จนอาจกล่าวได้ว่า HA สอนให้ทำงานอย่างมีหลัก แต่ SHA สอนให้รักในงานที่ทำสำหรับ theme ในการบรรยายในครั้งนี้ คือ ห้องบรรยาย Sapphire 201 ซึ่งเป็นห้อง Patient center care ซึ่งส่วนตัวแล้วคิดว่า ควรจะปรับเปลี่ยนว่า Human center care เพราะบุคลากร หรือผู้ให้บริการเองก็เป็นมนุษย์ เราจะเอาผู้ป่วยเป็นหลักโดยไม่เคารพความเป็นมนุษย์ของเพื่อนร่วมงานหรือของตัวเราเองก็คงไม่ใช่ บุคลากรที่ทำงานในระบบสุขภาพเอง ถ้าไม่มีจิตวิญญาณในการทำงาน มีแต่ความทุกข์ ความเครียด ความเศร้า ก็จะไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้
ในเรื่องของจิตวิญญาณในการทำงาน คือ เป็นพลังภายในที่ส่งผลให้มนุษย์มีความเข้มแข็งและมีพลังในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงาน ความพอใจในชีวิตของตนเอง ทุกวันนี้พบว่าบุคลากรสาธารณสุข ต้องเผชิญปัญหาวิกฤติมากขึ้น เพราะมีความขัดแย้ง มีความคาดหวังของผู้รับบริการ และมีการเปลี่ยนแปลงในระบบบริการสุขภาพที่สูง ทำให้มีแรงกดดันสูงมายังเจ้าหน้าที่เช่นกัน ดังนั้นหน่วยงานหรือโรงพยาบาล ควรต้องดูแลจิตวิญญาณของพนักงานให้ดี ในส่วนนี้ทางกระทรวงสาธารณสุข ดูเหมือนว่าจะไม่ได้นิ่งนอนใจ มีคำสั่งให้ผลิตบุคลากรเพิ่มขึ้นกว่า 5,000 ตำแหน่ง ซึ่งกว่าจะสามารถใช้งานได้เต็มที่ ต้องใช้เวลาอีกนาน และบุคลากรจะลาออกอีกหรือไม่เราเองก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้ แต่เมื่อพูดถึงวิกฤติระบบบริการสุขภาพ เรามักจะติดกับดัก “ความขาดแคลน” ซึ่งเรามักจะพูดเสมอว่า “เราขาดคน” ซึ่งความจริงกระทรวงสาธารณสุขมีบุคลากร กว่าสี่แสนคนทั่วประเทศ แต่เราไม่ทราบว่าคนจำนวนกว่าสี่แสนคนนี้ ยัง active หรือ engage กับงานมากแค่ไหน ยังเหลือพลังอยู่เท่าไร หากเราทำให้คนทั้งหมดนี้มีกำลังใจ ในการสร้างสรรผลงาน ไม่ท้อถอย มีจิตใจที่ทุ่มเทก็จะสามารถทำอะไรได้อีกมาก ทุกวันนี้เราทำงานหนักตลอดเวลาแต่ต้องเจ็บปวดกับข้อจำกัดต่างๆ วิกฤติที่เราเจอดังกล่าวจึงต้องการ การเยียวยา
หากเราเอาภาพเจ้าหน้าที่ที่กำลังปฏิบัติงาน ท่ามกลางผู้ป่วยมากมายที่รายล้อมขึ้นมาพิจารณา ถ้าเป็นบุคลากรสุขภาพเอง เราจะมองว่าจากภาพดังกล่าวเจ้าหน้าที่ มีความตั้งใจทำงาน คนไข้เยอะ ต้องทำงานคนเดียว น่าสงสาร หากเป็นเราเองอาจคิดได้ว่า “เราจะตายอยู่แล้ว” แต่หากเป็นบุคลภายนอกเมื่อมองภาพดังกล่าวจะมองว่า รอคิวนาน เจ้าหน้าที่ก้มหน้าก้มตา ไม่สนใจคนไข้ ดังคำที่ว่า “หน้างอ รอนาน บริการแย่” ที่เกิดจากความไม่เข้าใจ ซึ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างความขัดแย้ง และนี่คือความทุกข์ของเรา
นอกจากนี้การปฏิบัติงานในระบบบริการสุขภาพ บางครั้งก็บั่นทอนความเป็นคน บั่นทอนสุขภาพและคุณภาพชีวิตและรวมถึงชีวิตครอบครัวของบุคลากรสุขภาพเอง เราจะพบว่ามีบุคลากรจำนวนหนึ่งที่ต้องทำงานต่อเวร ภายไต้ข้อจำกัดของระบบกับภาระหน้าที่ ที่ต้องรับผิดชอบ จนมีผลกระทบกับสุขภาพและครอบครัว บางคนต้องตัดสินใจลาออกจากงาน จากความเหนื่อยล้าและท้อแท้ดังกล่าว ซึ่งจากประเด็นนี้ ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า “ในสมัยครูบาศรีวิชัยเมื่อท่านดำริว่าจะสร้างทางขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ ด้วยแรงศรัทธาของประชาชนก็มีชาวบ้านจำนวนมากที่เดินทางมาทั้งจาก ลำพูน ลำปาง หลายคนอดหลับอดนอน หลายมื้อที่ต้องทานข้าวกับเกลือ เพื่อที่จะช่วยเหลืองานให้สำเร็จ ถามว่าคนเหล่านี้ทำได้อย่างไร เพราะคนเหล่านี้มีเป้าหมายชีวิต มีคุณค่าทางจิตใจ มีความศรัทธาในสิ่งที่ทำ” หากเราพบว่าหมอเหนื่อย หากความเหนื่อยนั้นมันมีคุณค่า เค้าก็จะทนอยู่ได้ แต่ว่าหากเป็นการเหนื่อยที่ถูกเอาเปรียบ เช่น หมอจบใหม่ จับสลากได้ไปอยู่โรงพยาบาลที่ต้องตรวจคนไข้จำนวนมาก ออกตรวจคู่กับหมออีกคนที่ไม่ได้เร่งที่จะตรวจให้เสร็จ จากที่ตนเองมีคิวตรวจที่ยาวก็เร่งตรวจจนคิวสั้น แต่กลับถูกเอาคนไข้จากคิวหมอคนอื่นที่ไม่ได้ตั้งใจรีบตรวจคนไข้ มาเติมในคิว ของของตนเองทำให้ตรวจไม่เสร็จสักที อันนี้อาจเป็นการเพิ่มความเหนื่อยล้าจากการถูกเอาเปรียบ หากเรารู้สึกว่าเราเหนื่อยคนเดียว เราจะรู้สึกเหนื่อยขึ้นหลายเท่า แต่ถ้าเราเหนื่อยด้วยกันทั้งองค์กร รู้สึกว่าทุกคนก็เหนื่อย ความเหนื่อยของเราก็จะมีคุณค่าและเราก็จะหายเหนื่อย
ดาวน์โหลดที่นี่…ฟรี หนึ่งเป้าหมาย หลายเส้นทางสู่จิตวิญญาณในการทำงาน
ถอดบทเรียน ยอด สุนนทราช
ตำแหน่ง พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา