องค์ประกอบ SHA จากการเยี่ยมสำรวจ
“ดอกไม้ที่สวยที่สุดยังไม่บาน” มาตาราฐาน HA จะยกระดับให้โรงพยาบาลมีคุณภาพประดุจดอกไม้ที่สวยงาม เมื่อโรงพยาบาลประเมิน HA จะพบว่ามีสิ่งที่เป็นโอกาสพัฒนา ยังไม่ใช่ดอกไม้ที่สวยที่สุด เมื่อเอามาตรฐานเป็นมาตรวัด คนในโรงพยาบาลเกิดความเครียด SHA เพิ่มมุมมองไปที่คนปลูกดอกไม้ บางครั้งดินไม่ดี น้ำแล้ง คนปลูกยังเพียรพยายามปลูกจนได้ดอกไม้ถึงเพียงนี้ SHA จึงเพิ่มมิติที่คุณค่าของคน มิใช่ประเมินเฉพาะคุณค่ามาตรฐาน
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงตรัสไว้ว่า “ฉันไม่ต้องการให้พวกเธอเป็นแต่ เพียงหมอเท่านั้น แต่ต้องการให้เป็นมนุษย์ด้วย” คือ แนวคิดที่ SHA ต้องการเผยแพร่สู่การปฎิบัติ เพื่อให้บุคลากรสาธารสุขให้ การดูแลรักษาคนไข้ด้วยวิชาชีพ และเอื้ออาทรต่อคนไข้ด้วยจิตใจของมนุษย์ที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ ดุจคำกล่าว “หมอรักษาไข้ มนุษย์เยียวยาคน” นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์
ถ้าจิตวิญญาณในการทำงานของบุคลากร คือ พื้นฐานที่จะทำให้การพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาลดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่พฤติกรรมที่เกิดขึ้นเพียงฉาบฉวย ในการเยี่ยมสำรวจเพื่อที่จะประเมินว่าแต่ละโรงพยาบาลมีกระบวนการนำแนวคิดจิตวิญญาณในการทำงาน (Spiritual Healthcare Appreciation: SHA) ไปใช้ใน โรงพยาบาลได้จริงมากน้อยเพียงใดนั้น ผู้เยี่ยมสำรวจจะมีมุมมอง มีวิธีการและแนวทางในการตามหาร่องรอยอย่างไร โรงพยาบาลควรจะเชื่อมโยงมาตรฐาน SHA กับ HA ได้ในรูปแบบใด และหากโจทย์ที่สำคัญของโรงพยาบาลหลายแห่งคือการพัฒนาคุณภาพที่ยังขาดความต่อเนื่องและยั่งยืนแล้ว โรงพยาบาลที่มีความสนใจในการนำแนวคิดนี้ไปใช้ตอบโจทย์ ควรจะมีการเริ่มต้นอย่างไรนั้น สามารถหาคำตอบทั้งหมดตามองค์ประกอบของ SHA ผ่านประสบการณ์ตรงของผู้เยี่ยมสำรวจในครั้งนี้ได้
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์ ผมมีประสบการณ์ ตอนที่จบหมอออร์โธปิดิกส์ ไปอยู่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา มีคุณหมอผู้หญิงคนหนึ่งทำงานในโรงพยาบาลชุมชน และเป็นกรรมการชมรมแพทย์ชนบท พาคุณพ่อที่มีปัญหาข้อเข่าติดงอทั้งสองข้าง เพราะนอนเจ็บป่วยมานาน คุณหมอต้องการให้แก้ไข ให้คุณพ่อเหยียดเข่าได้ เพื่อจะได้ยืนและเดินได้ ตอนแรกผม ให้พักในโรงพยาบาลและทำกายภาพบำบัด แต่ไม่สามารถยืดเหยียดเข่าได้ ผมจึงนัดคุณหมอลูกสาวให้มาหาผมเพื่ออธิบายวิธีการผ่าตัด และผลลัพธ์ที่คาดหวัง คุณหมอมารอพบผมที่ห้องคนไข้ เช้าวันหนึ่ง ขณะที่กำลังอธิบายรายละเอียดการผ่าตัด คนไข้พูดกับคุณหมอลูกสาวว่า “อาหมวย อั๊วอยากกินก๋วยเตี๋ยว” สาวน้อยที่คุณหมอจ้างให้มาเฝ้าคุณพ่อรีบบอกคุณหมอลูกสาวว่า คุณหมอคะ อากงก็อย่างนี้แหละ เมื่อวานอากงก็บอกอยากกินก๋วยเตี๋ยว แต่พอหนูไปซื้อก๋วยเตี๋ยวมา อากงก็ใช้ช้อนเขี่ยไปเขี่ยมา แล้วก็ไม่กิน ท่านผู้ฟังครับ ถ้าท่านเป็นคุณหมอลูกสาว ท่านจะพูดกับ คุณพ่อว่าอะไรครับ คุณหมอลูกสาวหันมาพูดกับคุณพ่อว่า เตี่ยอย่าเรื่องมาก อาหารของโรงพยาบาลดีๆ ทั้งนั้น กินซะ และนี่หนูอุตส่าห์เบิกไฮโซแควมาให้กินซะ ผมโกรธมากเรียกคุณหมอออกมานอกห้องแล้วสั่งว่า “คุณหมอ ไปซื้อก๋วยเตี๋ยวมา แม้ว่าพ่อจะเททิ้ง” ผมจำประโยคนี้ได้มาจนทุกวันนี้
สิ่งที่ผมอยากจะสะท้อนจากเหตุการณ์นี้ คือ มนุษย์เรามีจิตวิญญาณความดีในตัวตนความเป็นมนุษย์ มนุษย์จะไม่สามารถดำรงเผ่าพันธุ์มาได้จนถึงทุกวันนี้ ถ้าไม่มีความดีในจิตวิญญาณ จิตวิญาณความดีของมนุษย์ คือ 1. มนุษย์มีความรัก เริ่มจากความรักครอบครัว ถ้าพ่อแม่ไม่รักลูก ชาติพันธุ์มนุษย์ก็สูญไปแล้ว เพราะเด็กที่เกิดมาไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ด้วยตัวเองได้ นอกจากนี้มนุษย์มีความรักตัวเอง มนุษย์จึงพัฒนาตัวเอง และสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ตัวเองสามารถดำรงชีวิตได้อย่างสุขสบายและเจริญก้าวหน้า 2. มนุษย์ทุกคนเป็นคนดี เพราะถ้าไม่ดี มนุษย์จะทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง มนุษย์อยู่ได้ด้วยเพราะจิตวิญญาณความดี ความรัก ความคิดสร้างสรรค์ เมื่อมนุษย์มีจิตวิญญาณความดีเป็นพื้นฐาน เพราะอะไรจะต้องมารือฟื้นอีก มันหายไปไหน กรณีเหตุการณืของอากง มันหายไปเพราะความเป็นหมอ หมอรู้ว่าอาหารที่มีประโยชน์ต่อคนไข้ คือ อาหารที่โรงพยาบาลจัดให้เหมาะสมกับสภาพความเจ็บป่วย ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเหมาะสมกับคนที่กินอาหารได้น้อย ทำให้ได้สารอาหารที่สำคัญไม่เพียงพอ ความรู้นี้กลับบดบังความรัก ความเข้าใจจิตใจของคุณพ่อ เพราะพ่ออาจต้องการกินอาหารสักมื้อกับลูกสาว
เมล็ดพันธุ์ความดีของมนุษย์อาจไม่เจริญเติบโต เพราะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีโอกาสบ่มเพาะให้เจริญเติบโต ประดุจดั่งเมล็ดพันธุ์ที่เพาะไว้ขาดการพรวนดินรดน้ำ เราสอนหมอให้ผ่าตัดเป็น รักษาโรคเป็น แต่ไม่ได้สอนหมอให้เข้าใจคนไข้ เราสอนพยาบาลให้ทำงานให้ครบถ้วนทันเวลา แต่ไม่ใส่ใจต่อความรู้สึกของคนไข้ เมื่อท่านเป็นผู้บริหาร มีโอกาสที่จะทำชื่อเสียง ทำให้โรงพยาบาลมีวิสัยทัศน์เป็นเลิศ แต่อาจบดบังบางมุมมองทำให้คนในองค์กรไม่มีความสุข
ประสบการณ์เป็นผู้เยี่ยมสำรวจ ผมเคยไปเยี่ยมโรงพยาบาลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นโรงพยาบาลขนาด 200 เตียง ซึ่งผ่าน HA ขั้น 2 มาหลายครั้งได้คะแนนขั้น 2 ดีมาก แต่ไม่กล้าขอประเมิน Accredit HA ขั้น 3 ผู้อำนวยการบอกว่า “ผมไม่กล้าขอประเมิน Accredit เพราะเห็นโรงพยาบาลใกล้ๆที่ผ่าน Accredit บุคลากรเครียดกันทั้ง โรงพยาบาล”
โรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่ง ขอประเมิน Accreditation HA ขณะ Exit Conference คณบดีกล่าวว่า “ถ้าผมรู้ว่าการทำ HA ทำให้ลูกน้องผมลำบากขนาดนี้ ผมจะไม่ขอประเมิน HA”
ถ้า HA ทำให้เกิดมุมมองแบบนี้ต้องหันกลับมาดูว่า HA ทำอะไร HA มีความดีเยอะ เมื่อท่านก้าวเข้ามาอยากจะได้ HA ท่านอาจจะลืมบางอย่าง สรพ.ให้ความสำคัญในมิติจิตวิญญาณ เราเชื่อว่าความมีคุณค่าทั้งหมดในรากฐานที่มีอยู่แล้ว ถ้าเราจะให้ความดีนี้คงอยู่โดยไม่ต้องสร้างความทุกข์ด้วยจะดีไหม จึงเป็นที่มาของโครงการ SHA
ขอยกตัวอย่าง พ่อกับแม่อุ้มลูกซ้อนรถจักยานยนต์มา ER เวลาตี 3 พ่อกับแม่ร้องหาหมอเสียงดังลั่น พยาบาลวิ่งไปดู หมอวิ่งไปดู เห็นแผลที่ศีรษะเด็กแค่เซ็นเดียว ไม่รู้ทำไมถึงต้องรีบมา เพราะเราตัดสินจากความเป็นหมอเป็นพยาบาล ตัดสินจากวิชาชีพ แต่เราไม่ได้ตัดสินจากความเป็นพ่อเป็นแม่ พ่อแม่ไม่รู้หรอกว่า แผลแตก 1 ซม. ข้างในสมองมีเลือดออกไหม ดังนั้นเมื่อคุณอยู่ในจุดหนึ่งพื้นฐานความดีที่เป็นศักยภาพเดิมนี้อาจถูกบดบัง ทำอย่างไรจะดึงกลับมาและหล่อเลี้ยงมันให้เติบโตได้
สิ่งแวดล้อมในการเยียวยา ควรเป็นการเยียวยาเจ้าหน้าที่ด้วย ผมไปโรงพยาบาลที่มีเพื่อนเป็นผู้อำนวยการ ได้ไป ดูห้องพักเจ้าหน้าที่ เป็นห้องเล็กๆ ในซอกบันได เข้าไปดูแล้วมีทุกอย่าง มีหมวกกันน็อค มีน้ำปลา กาแฟของแห้ง เป็นของคนหลายๆคน มีรองเท้าด้วย ผมบอกให้แก้ไขสิ่งแวดล้อมก่อน กลับไปอีกรอบหนึ่ง บรรยากาศดีขึ้นมาก เขาปรับปรุงห้องใหม่ เจ้าหน้าที่ ER ยังได้พัฒนาเรื่องอื่นๆ ด้วย จึงเป็นการเปลี่ยนทันทีหลังจากได้รับการเยียวยา นี่คือความเข้าใจในเรื่องจิตวิญญาณ การมีความรัก การมีความดี การอยากให้คนได้ดีเหมือนกันจะช่วยทุกอย่างช่วยเยียวยาในตัวของมันเอง แล้วผลลัพธ์จะกลับมาที่องค์กรโดยไม่ต้องไปตามบอกว่า “ตั้งใจทำงานหน่อย”
จากประสบการณ์เยี่ยมสำรวจ พบว่าการดูแลเอาใจใส่เจ้าหน้าที่ ไม่ว่าลูกเจ็บป่วย สามีเจ็บป่วย หรือเขาจะลางาน สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เยียวยา มาตรฐาน SHA จะช่วยได้ นับจากปี 2538 เราทำ HA มากว่า 20 ปี ซึ่งเชื่อถือได้ว่า ถ้าทำตามมาตรฐาน HA ท่านจะเป็นดอกไม้งามที่สุด ถ้าท่านอยากได้ดอกไม้ที่สวยมาเชยชม แต่คนปลูกมีแต่ความทุกข์ ท่านจะยินดีไหม แต่เราสามารถทำให้ทั้ง 2 อย่างประสานกันได้
ในเรื่องอุบัติการณ์ณ์ความเสี่ยง ท่านนำเสนอผู้เยี่ยมสำรวจว่าความเสี่ยงที่นี่จัดการทุกวัน ผู้บริหารความเสี่ยงเข้มงวด กำกับดูแลเข้มข้น จี้ทุกเรื่อง ลองทบทวนว่าเรากำลังทำอะไร ลองเปลี่ยนมาเป็นการประกาศความดีที่เกิดขึ้น ในโรงพยาบาลจะดีไหม นำเสนอการทำความดีในโรงพยาบาล แทนที่เราจะให้คะแนนอุบัติการณ์ความเสี่ยง เราสามารถทำให้ความเสี่ยงลดลงได้ ด้วยการนำเสนออุบัติการณ์ความดี เมื่อวานนี้ ward ของท่าน ทำความดีอะไรบ้าง เพราะนั่นคือ การจัดการความเสียงไปเรียบร้อยแล้ว เรื่องที่ไม่คุ้นชิน แบบนี้ต้องค่อยๆคิด เป็นอีกมุมมองหนึ่งของ SHA สิ่งที่ สรพ. อยากนำเสนอก็ คือ ในท่ามกลางการลดอุบัติการณ์ความเสี่ยง ท่านสามารถสร้างอุบัติการณ์ความดีได้
ดาวน์โหลดที่นี่…ฟรี องค์ประกอบ SHA จากการเยี่ยมสำรวจ
ถอดบทเรียน อรอินทร์ ขำคม
ตำแหน่ง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ (กลุ่มงานการพยาบาลจิตเวชเด็ก) โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์
Photo by Hans Vivek on Unsplash