เมื่อปีพ.ศ. 2558 มีรายงานการเสียชีวิตของญาติผู้ป่วยรายหนึ่งที่เดินไปเข้าห้องน้ำที่อยู่ด้านหลังอาคารของ รพ.สต. แห่งหนึ่ง แล้วตัวไปสัมผัสกับเครื่องปั๊มลมของยูนิตทำฟัน ปรากฏว่าเครื่องปั๊มลมมีกระแสไฟฟ้ารั่ว ทำให้ไฟดูดญาติผู้ป่วยรายนั้น กว่าจะมีคนมาพบ ญาติผู้ป่วยรายนั้นก็เสียชีวิตแล้ว กรณีนี้ จึงทำให้ฉุกคิดได้ว่า ในโรงพยาบาลยังมีอุปกรณ์ทางการแพทย์อีกหลายชิ้นที่มีการสัมผัสตัวผู้ป่วยแล้วอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ โดยเฉพาะอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีความชื้นเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ตู้อบสมุนไพร เครื่องมือบางชิ้นของกายภาพบำบัด
อันตรายจากไฟฟ้าดูดในโรงพยาบาลมักตามมาด้วยการเสื่อมเสียชื่อเสียง และการเรียกร้องค่าเสียหายด้วยอ้างเหตุความประมาทเลินเล่อของโรงพยาบาล แนวทางที่จะช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องไฟฟ้าดูด ได้แก่
- โรงพยาบาลควรมีการติดตั้งอุปกรณ์ตัดกระแสไฟฟ้าในกรณีที่มีกระแสไฟฟ้ารั่ว และมีการวางระบบสายดินที่ใช้งานได้จริง (หลายแห่งเมื่อไปตรวจแล้ว พบว่าไม่มีการเดินสายลงดินจริง มีแต่ช่องให้เสียบปลั๊กสายดินเท่านั้น)
- ทุกหน่วยงานที่มีการให้บริการผู้ป่วยควรมีการฝึกซ้อมการช่วยฟื้นคืนชีพในสถานที่ให้บริการจริง เพื่อเสริมสร้างทักษะความชำนาญของเจ้าหน้าที่ ตลอดจนเรียนรู้ปัญหาและอุปสรรคในการช่วยฟื้นคืนชีพในสถานที่จริง เช่น ช่องประตูเล็กไป ไม่สามารถนำเตียงผู้ป่วยเข้าไปได้, กริ่งเรียกทีมมาช่วยไม่สามารถใช้งานได้
- กรณีที่มีการวางอุปกรณ์ไฟฟ้าอยู่ด้านนอกอาคาร ควรมีการดำเนินการดังต่อไปนี้
– เดินสายไฟอยู่ภายในช่องเดินสายไฟ เพื่อป้องกันแดดและฝน ที่เป็นสาเหตุของไฟฟ้าลัดวงจร
– ต่อสายไฟฟ้าของอุปกรณ์นั้นตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง
– สร้างหลังคาเพื่อบังมิให้อุปกรณ์ได้รับแดดหรือฝนโดยตรง
– สร้างรั้วหรือแนวป้องกันที่ทำให้คนทั่วไปไม่สามารถสัมผัสอุปกรณ์เหล่านั้นได้โดยไม่ตั้งใจ
- ผู้บริหารระดับสูงควรมีการเดินสำรวจรอบโรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยของอุปกรณ์ต่างๆอย่างสม่ำเสมอ
Photo by Anthony Indraus on Unsplash