ในอดีต การฝึกทักษะของบุคลากรทางการแพทย์มักเกิดขึ้นภายใต้การให้บริการจริง โดยก่อนที่จะมีการฝึกทักษะ ผู้ฝึกจะได้รับการปูพื้นฐานความรู้มาแล้วเป็นอย่างดี หลังจากนั้น จึงเข้าสู่กระบวนการฝึกทักษะโดยผ่านการสังเกตสถานการณ์จริง – การทดลองทำภายในห้องฝึกหรือใช้อุปกรณ์จำลอง – และการปฏิบัติจริงภายใต้การกำกับดูแล (see – try – act)
จากความก้าวหน้าในยุคปัจจุบัน การฝึกทักษะสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและปลอดภัยต่อผู้ป่วยมากขึ้น โดยการจำลองสถานการณ์เสมือนจริง (simulation) ในลักษณะต่างๆ เช่น
- การใช้หุ่นที่มีลักษณะทางกายภาพที่ใกล้เคียงมนุษย์ เพื่อให้บุคลากรเข้าใจถึงโครงสร้างทางกายภาพของระบบต่างๆ ในร่างกายมนุษย์ และบางกรณี หุ่นนี้ยังสามารถแสดงผลของการฝึกว่าบุคลากรทำได้ถูกต้องเพียงไรด้วย เช่น หุ่นเพื่อการฝึกทำหัตถการต่างๆ หุ่นเพื่อการฝึกการประสานงานของทีมในกระบวนการดูแลผู้ป่วย เช่น การช่วยฟื้นคืนชีพ
- การสร้าง application ที่ทำให้เกิดภาพตอบสนองที่เสมือนจริง เพื่อช่วยให้ผู้ฝึกเกิดทักษะในการทำหัตถการหรือการผ่าตัดโดยไม่ต้องไปทำบนตัวผู้ป่วยจริง ตัวอย่างเช่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อฝึกการใช้กล้องส่องทางเดินอาหาร โปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อฝึกการผ่าตัดด้วยกล้อง
- การเรียนรู้ทักษะการทำงานอย่างประสานสอดคล้องกัน โดยใช้การเรียนรู้ผ่านเกมส์ที่ประดิษฐ์ขึ้นมา (gamification)
การเรียนรู้จะมีประโยชน์มากขึ้น เมื่อมีการถ่ายวิดิโอเพื่อเก็บภาพเหตุการณ์ไว้ แล้วนำมาทบทวนอีกครั้งโดยเจ้าตัวหรือโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้เพื่อช่วยพัฒนาให้การดำเนินงานทุกขั้นตอนถูกต้องตามหลักวิชาการ และผู้เกี่ยวข้องทุกส่วนมีปฏิสัมพันธ์ที่เอื้อต่อการสร้าวประสิทธิภาพที่สูงสุดของกระบวนงาน
ในแง่ของการทบทวนเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้น การจำลองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอีกครั้งให้ใกล้เคียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แล้วบันทึกภาพของสถานการณ์ที่จำลองขึ้นมา จะช่วยให้เข้าใจลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้มากขึ้น เห็นภาพของบทบาทเจ้าหน้าที่แต่ละคนที่มีในขั้นตอนแต่ละขั้น และสังเกตเห็นพฤติกรรมบริการที่เบี่ยงเบนไปจากข้อแนะนำที่พึงปฏิบัติได้ง่ายขึ้น