Health Information Management: Efficiency Enhancement from
Taiwan to Paraguay and Thailand
“ในขณะที่บุคลากรทำหัตถการเจาะหลังผู้ป่วยรายหนึ่ง การตรวจสอบ (Double check) ยาเคมีบำบัดต้องรอนานขึ้น ทำให้ผู้ป่วยและญาติไม่เข้าใจว่าทำไมต้องรอนานขึ้น ต้องการความเปลี่ยนแปลงที่สามารถเชื่อมโยงทุกระบบในโรงพยาบาลเข้าด้วยกัน เพื่อลดระยะเวลารอคอยในแต่ละกระบวนการลง” (วิชุนีย์ แซ่เล้า)
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติและองค์กรเพิ่มผลผลิตแห่งเอเซีย (Asian Productivity Organization: APO) จัดทำโครงการThailand Demonstration Project 2018 “Outpatient Chemotherapy System” เพื่อแก้ปัญหาความเชื่อมโยงของข้อมูลในระบบสารสนเทศของกระบวนการให้ยาเคมีบำบัด
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาโปรแกรม Si-CPOE (Siriraj-Computerized Physician Order Entry) ร่วมกับ Cathay General Hospital Healthcare Information Technology ประเทศไต้หวัน นำมาใช้ในการสั่งการรักษาของแพทย์ เพื่อลดความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นจากการสั่งยา การจ่าย และการให้ยาผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสั่งยาของผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด ทำให้แพทย์สามารถเลือก protocol การรักษาได้อย่างสะดวกเพิ่มความรวดเร็วในการคีย์ข้อมูล ระบบจะส่งข้อมูลให้เภสัชกร นำคำสั่งการรักษามาจัดเตรียมยา จ่ายยาและคิดราคายา สามารถเชื่อมโยงเข้าระบบตรวจสอบการแพ้ยาได้โดยอัตโนมัติ และพยาบาลสามารถนำเครื่อง Personal Digital Assistant (PDA) มาใช้ในการบริหารยา ตรวจทานคำสั่งการรักษา ยาเคมีบำบัดที่ได้รับจากเภสัชกร และระบุตัวผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องผ่าน PDA เพิ่มความปลอดภัย ลดความคลาดเคลื่อนทางยา ลดเวลาระยะเวลาในกระบวนการให้ยาเคมีบำบัด เพิ่มความพึงพอใจของบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย
โปรแกรม Si-CPOE มีแนวคิดจากปัญหาการปฏิบัติงานของภาควิชากุมารเวชศาสตร์ เพื่อใช้ระบบสั่งยาเคมีบำบัดให้กับผู้ป่วยเด็ก ซึ่งมีการคิด Protocol ที่ซับซ้อน ให้อยู่ในรูปแบบของชุดข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และใช้ระบบสารสนเทศในการบันทึกข้อมูลยาตาม Protocol ที่ใช้กับคนไข้ โดยสามารถเรียกดูประวัติการใช้ยาและสั่งยาโดยอ้างอิงประวัติยาเดิมโดยไม่ต้องบันทึกรายการยาใหม่ทั้งหมด จากนั้นเภสัชกรทำการพิมพ์ใบสั่งยาจากระบบสารสนเทศเพื่อจัดยาให้คนไข้ และส่งต่อพยาบาลเพื่อนำไปปฏิบัติงานต่อ
การวิเคราะห์กระบวนการทำงาน เมื่อผู้ป่วยมารับการตรวจที่ตึกเจ้าฟ้ามหาจักรี ชั้น 1 (แผนกผู้ป่วยนอก) แพทย์สั่งยาเคมีบำบัดในแบบเวชระเบียนผู้ป่วยให้ตรงกับ protocol พร้อมกับบันทึกข้อมูลยาเคมีบำบัด Online ให้เภสัชกร ในโปรแกรมSiIT Þ พยาบาลตรวจสอบ และให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วย Þ เภสัชกร รับคำสั่งยาเคมีบำบัด จากระบบ SiIT นำคำสั่งจากเวชระเบียนมาบันทึกในระบบ SiOP เพื่อให้เกิดค่าใช้จ่ายและพิมพ์ Sticker label ยาให้ผู้ป่วย Þ ผู้ป่วยและญาติกลับไปพบพยาบาลเพื่อตรวจสอบ Sticker ยาเคมีบำบัดให้ตรงกับคำสั่งการรักษาในเวชระเบียน Þ ผู้ป่วยและญาติไปที่ตึกอานันทมหิดล ชั้น 6 แผนก Chemotherapy Center พยาบาลลงทะเบียนรับผู้ป่วยเข้าห้องตรวจในระบบคอมพิวเตอร์ และตรวจวัดสัญญาณชีพของผู้ป่วย Þ พยาบาล/แพทย์ บริหารยาเคมีบำบัด Þ พนักงานทั่วไปรับแบบเวชระเบียน และแฟ้ม Protocol ของผู้ป่วย (ลงจากตึกอานันทมหิดล ชั้น 6 ไปที่ตึกเจ้าฟ้ามหาจักรี ชั้น 1 ) Þ พยาบาลตรวจสอบคำสั่งการรักษาในแบบเวชระเบียน แฟ้ม Protocol และ Sticker ยา Þ ส่งเวชระเบียน และแฟ้ม Protocol และ Sticker ยาให้เภสัชกร Þ เภสัชกร ห้องผสมยาเคมีบำบัด ตรวจสอบคำสั่งการรักษาใน SiIT กับ เวชระเบียน แฟ้ม Protocol Sticker ยาเคมีบำบัด และบันทึก คำสั่งการรักษาเข้าระบบ CMP ผสมยาเคมีบำบัดตามคำสั่งการรักษา Þ พยาบาล รับยาเคมีบำบัดจากเภสัชกรและตรวจสอบกับคำสั่งการรักษา (Double check) ระบุชี้บ่ง และ บริหารยาเคมีบำบัดให้กับผู้ป่วย หากมีการสั่งยาผิดต้องเริ่มกระบวนการทั้งหมดใหม่ อาจทำให้เสียเวลาเพิ่มขึ้นประมาณ 2 ชั่วโมง ทั้งหมดนี้คือ ระบบการทำงานปกติของผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัด
ดาวน์โหลดที่นี่…ฟรี Health Information Management: Efficiency Enhancement from Taiwan to Paraguay and Thailand
ถอดบทเรียน วรรษวรรณ กระต่ายจันทร์
ตำแหน่ง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ (งานการพยาบาลผู้ป่วยนอก) สถาบันโรคผิวหนัง
Photo by Online Marketing on Unsplash