เส้นทางการพัฒนาคุณภาพบริการสุขภาพในประเทศไทย (4) Quality 4.0 All for Quality ในช่วงเดียวกับที่ Value-Based Health Care เริ่มเป็นที่สนใจในประเทศไทย สรพ. ก็ได้เริ่มพัฒนากระบวนการประเมินรับรองในลักษณะเครือข่ายสถานพยาบาล โดยมีแนวคิดสำคัญ คือ คุณภาพบริการที่ผู้ป่วยได้รับไม่ควรสะดุดลงเมื่อผู้ป่วยต้องได้รับการส่งต่อ กระบวนการดูแลรักษาที่ดีควรมีการเชื่อมโยงกันทั้งภายในสถานพยาบาลและระหว่างสถานพยาบาลอย่างไร้รอยต่อ (seamless care) จากแนวคิดนี้ นำมาสู่การพัฒนามาตรฐานบริการสุขภาพระดับจังหวัด (Provincial Healthcare Network Certification – PNC) และมาตรฐานระบบสุขภาพระดับอำเภอ (District Health System Accreditation – DHSA)
นอกจากการขยายเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถานพยาบาลอันนำไปสู่คุณภาพการดูแลรักษาที่ดีแล้ว ในระดับนานาชาติยังได้มีการชี้นำและเชื้อชวนให้กลุ่มผู้ป่วย (ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา เรามองผู้ป่วยเป็นผู้รับผลงาน ที่เราเพียงรับฟังเสียงสะท้อนและความคิดเห็น เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงงานบริการ) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมพัฒนาคุณภาพบริการโดยตรง ซึ่งกลุ่มผู้ป่วยจะมีบทบาทตั้งแต่ขั้นตอนการรับรู้สถานการณ์ร่วมกับสถานพยาบาล ออกแบบระบบบริการร่วมกัน (co-design) สะท้อนประสบการณ์ที่ได้รับ (patient experience) และประเมินผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้น (Patient Reported Outcome Measures – PROMs)
ในประเทศไทย การออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ พ.ศ. 2561 ทำให้เกิดการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) กลไก พชอ.ได้เข้ามามีส่วนช่วยสนับสนุนทรัพยากรและการประสานการจัดการด้านสุขภาพ ทำให้การขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพมีประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และเกิดความยั่งยืน มากยิ่งขึ้น
ในยุค Quality 4.0 การทำให้ระบบบริการสุขภาพมีคุณภาพอย่างยั่งยืนจึงไม่ใช่การดำเนินการของสถานพยาบาลเพียงฝ่ายเดียว แต่มีความจำเป็นที่กลุ่มผู้เกี่ยวข้องสำคัญทุกกลุ่มต้องเข้ามาร่วมสนับสนุน ร่วมดำเนินการ ร่วมติดตามประเมินผล และร่วมพัฒนาปรับปรุง เพื่อสร้างให้ระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยมีมาตรฐาน มีความน่าไว้วางใจ และเป็นที่พึ่งของประชาชนทุกระดับได้ตลอดไป
Image by David Mark from Pixabay