ชนิดของวัคซีนที่ใช้ในการป้องกัน COVID-19 ที่ใช้ในประเทศไทย แต่ละชนิดมีความแตกต่างกันอย่างไร สรุปได้ดังนี้
หลักการสำคัญของการสร้างวัคซีนป้องกัน การติดเชื้อ COVID-19 คือ การฉีดสารชีวเคมีเข้าไปในร่างกายเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ COVID-19 ไว้ล่วงหน้า ต่อมาภายหลัง เมื่อมาเจอเชื้อตัวจริง ร่างกายจะได้จัดการเชื้อได้ก่อนที่จะมีอาการ หรือถึงมีอาการ การเจ็บป่วยก็จะไม่รุนแรงมาก
สารชีวเคมีที่กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันของ COVID-19 ได้ดี คือส่วนโปรตีนที่ยื่นออกมา จากผิวของไวรัสซึ่งใช้ในการจับกับเซลล์มนุษย์ เพื่อให้ไวรัสทะลุผ่านเข้าไปทำให้เซลล์ติดเชื้อ โปรตีนส่วนนี้เรียกว่า Spike Protein ดังนั้น วัคซีนทุกชนิดที่มีการผลิตอยู่ในขณะนี้ จึงมีเป้าหมายให้เกิด Spike Protein ในร่างกายมนุษย์โดยไม่มีการติดเชื้อไวรัสจริง
วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีที่มีมาแต่เดิม คือ การเพาะเลี้ยงไวรัสให้มีจำนวนมากขึ้น แล้วฆ่าหรือทำให้ไวรัสอ่อนแอจนไม่สามารถแพร่พันธุ์เพิ่มในร่างกายมนุษย์ได้อีก ในเมืองไทย วัคซีนกลุ่มนี้ คือ Sinovac
ถัดมา คือ ไม่ใช้ไวรัสในการผลิต แต่ไปฝากการสร้าง Spike Protein ในสิ่งมีชีวิตอื่น เช่น แบคทีเรีย หรือพืช โดยวิธีการตัดต่อทางพันธุกรรม ในเมืองไทย วัคซีนกลุ่มนี้ คือ วัคซีน ใบยาของจุฬาฯ
เทคโนโลยีใหม่ ที่ใช้ในการผลิตวัคซีนสำหรับ COVID-19 คือ ไม่ไปยุ่งกับตัวไวรัส หรือ Spike Protein เลย แต่ไปยุ่งกับโรงงานที่ไวรัสใช้ผลิต Spike Protein แทน โดยถ้ายุ่งกับตัว DNA ซึ่งเป็นโรงงานตัวแม่ ก็ใช้วิธีสังเคราะห์สารพันธุกรรม DNA ของ COVID-19 แล้วตัดต่อเฉพาะส่วนที่ใช้ในการผลิต Spike Protein นำไปรวมกับไวรัสที่ไม่ขยายพันธุ์และก่อโรคในคน เพื่อใช้ไวรัสนี้เป็นตัวนำสารพันธุกรรมนี้ เข้าไปในเซลล์มนุษย์ (Viral Vector) แล้วให้ไปสร้าง Spike Protein ในร่างกายมนุษย์เลย ในเมืองไทย วัคซีนกลุ่มนี้ คือ AstraZeneca, Johnson & Johnson
ส่วนการผลิตที่ใช้การสังเคราะห์ mRNA ที่ใช้ในการสร้าง Spike Protein แล้วนำไปรวมกับ lipid nanoparticle เพื่อให้ mRNA นี้ผ่านทะลุเข้าไปในเซลล์มนุษย์ได้ เป็นวัคซีนกลุ่มที่เรียกว่า mRNA vaccine ในเมืองไทย วัคซีนกลุ่มนี้ คือ Pfizer, Moderna
วัคซีนทุกตัวที่กล่าวถึง ผ่านเกณฑ์ประสิทธิภาพขององค์การอนามัยโลก ตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีน แต่ละตัวอาจเทียบกันได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่ข้อสรุปที่ตายตัว เนื่องจากผลการศึกษาประสิทธิภาพ ทำในประเทศ ที่บริบทไม่เหมือนกัน นิยามบางตัวก็ไม่เหมือนกันทั้งหมด อีกประการที่สำคัญ วัคซีนทุกตัวมีผลข้างเคียงที่รุนแรงอยู่ในระดับต่ำมาก แต่เมื่อฉีดกับคนเป็นล้านคน ก็มีโอกาสเจอคนที่เกิดผลข้างเคียงรุนแรงใน จำนวนหนึ่งอย่างแน่นอน การตัดสินใจฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีน จึงต้องคำนึงถึงโอกาสและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จากการติดเชื้อ COVID-19 เทียบกับความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน…
ภาพโดย Ali Raza จาก Pixabay