รากฐาน สานต่อ ก่อการไกล
“รากฐาน”: นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล
“บ่มเพาะมุ่งมั่นก่อราก บั่นบากก่อฐานการณ์ใหญ่
ทุ่มเทมุ่งมั่นตั้งใจ ต้นไม้คุณภาพประเทศไทยกำเนิดมา”
ก่อนจะมาเป็น HA
3 กระแสที่นำมาสู่กระบวนการ HA ในปี พ.ศ. 2540 ได้แก่ (1) การมี พรบ.ประกันสังคมทำให้เกิดการจัดทำมาตรฐานสถานพยาบาลประกันสังคม เป็นแรงจูงใจในการสร้างมาตรฐาน HA ที่มีความสมบูรณ์มากขึ้น (2) การศึกษาต้นแบบการพัฒนาการใช้ Quality Management ในโรงพยาบาลของประเทศสหรัฐอเมริกา และนำแนวคิด TQM มานำร่องทดลองใช้ในโรงพยาบาลประเทศไทย (3) ความสนใจของ สวรส. ในการสร้างกลไกการทำให้มีระบบคุณภาพเกิดขึ้น และได้เรียนรู้กระบวนการเยี่ยมสำรวจที่น่าประทับใจจาก Mr.Anthony Wagemakers ซึ่งเป็นกระบวนการเชิงบวก ที่ไม่คุกคาม ให้เกียรติ และสามารถกระตุ้นให้โรงพยาบาลอยากพัฒนามากขึ้น
กอบร่างสร้างมาตรฐาน HA
มาตรฐาน HA ฉบับแรกได้มีการเพิ่มเติมแนวคิดการพัฒนา (Quality Improvement) เป็นเอกสารที่มีพลัง สะท้อนถึงคุณค่าและความหมาย ทั้งต่อผู้ป่วย บุคลากร และโรงพยาบาล โดยการพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาลได้อาศัยการทดลองปฏิบัติ เรียนรู้จากประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนกัน จากการที่มาตรฐาน HA ไม่มีวิธีให้ปฏิบัติ มีแต่กรอบแนวคิดกว้างๆ ทำให้โรงพยาบาลมีอิสระในการทำงาน ลองผิดลองถูกเอง และเกิดเป็นนวัตกรรม
“Accreditation is an Educational Process” แนวคิดกระบวนการเรียนรู้เป็นรากฐานที่สำคัญ โดยเริ่มจากการที่โรงพยาบาลประเมินตนเอง แล้วผู้เยี่ยมสำรวจเข้าไปเรียนรู้จากผลการประเมินตนเองของโรงพยาบาล ซึ่งจากแนวคิดนี้ ทำให้กระบวนการ HA ยังอยู่รอด ไม่เป็นไฟไหม้ฟาง เป็นฟางกองใหญ่ ที่ปะทุ ลุกโชน ให้พลังกับโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ใช้ความรู้เป็นฐานในการทำงาน ไม่ใช้อำนาจ หัวใจคือการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล เรื่องการรับรองเป็นของแถม มุ่งที่คุณภาพของบริการ ทำให้ภาพลักษณ์ของกระบวนการ HA เป็นภาพของกระบวนการพัฒนา ไม่ใช่การตัดสินว่าสอบได้หรือสอบตก
จาก พรพ. สู่ สรพ. (พ.ศ. 2542-2552)
การดำเนินงานสำคัญ 6 ประเด็น ได้แก่ การพัฒนาด้านจิตตปัญญา การสร้างเสริมสุขภาพ ความปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วย การจัดประชุม HA National Forum การส่งเสริมการประเมินตนเองและกระบวนการเรียนรู้ มาตรฐาน การประเมิน การยกย่อง การรับรองและแรงจูงใจ ด้วยแนวคิดการรับรองบันไดสามขั้น (Stepwise Recognition) ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้สามารถขับเคลื่อนแผ่ขยายกระบวนการ HA ในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว จากนั้นมีการบูรณาการการสร้างเสริมสุขภาพ (HPH) บูรณาการมาตรฐาน MBNQA/TQA การพัฒนากลไกเทียบเคียงการพัฒนาโปรแกรม THIP การพัฒนา SHA Program นำมาสู่การจัดตั้งเป็น “สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน)” ในปี พ.ศ.2552
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงาน
Head: Principle & Knowledge ปรัชญาการรับรองเป็นกระบวนการเรียนรู้ และการติดตามความรู้ต่างๆ ให้ทันโลก นำความรู้ที่ได้มาทดลองทำ
Heart: Respect & Trust ให้ความเคารพและให้ความยอมรับนับถือกับผู้คน และการสร้างความไว้วางใจ
Hand: Pragmatic & Enjoy ต้องทำอะไรที่เป็นเชิงปฏิบัติมากๆ และมีความสุขอยู่กับมัน
ร่วมด้วยช่วยกันนำแนวคิด HA National Forum มาสู่การปฏิบัติ และเรียนรู้จากแหล่งความรู้ HAarchive
“สานต่อ”: นพ.กิตตินันท์ อนรรฆมณี
“สานต่อก่อต้นแข็งแกร่ง รับแสงรดนํ้าต้นกล้า
พรวนดินใส่ปุ๋ยนานา กิ่งก้านสาขาแตกใบ”
ผู้สานต่อระบบคุณภาพ ต่อจาก นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล คือ นพ.กิตตินันท์ อนรรฆมณี ซึ่งได้พัฒนาต่อยอดระบบคุณภาพ 5 ระบบงานคุณภาพ ได้แก่
1) การพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐาน HA มีการขยาย/พัฒนาการประเมินคุณภาพสถานพยาบาลให้รอบด้านมากขึ้น ได้แก่ การประเมินรับรองขั้นก้าวหน้า(AHA : Advanced HA), รางวัลจิตวิญญาณในการทำงาน(SHA Award), การประเมินรับรองระบบการดูแลผู้ป่วยเฉพาะโรค (DSC : Disease Specific Certification) รวมทั้ง ขยายการประเมินรับรองไปถึงระดับปฐมภูมิด้วยการประเมิน DHSA : District Health System Accreditation
2) Information &Technology เนื่องจากเริ่มมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ทางการแพทย์มากขึ้นจึงต้องมีมาตรฐานการดูแล และ มาตรการป้องกันความปลอดภัยของระบบ ประกอบกับปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามาในรูป telemedicine นอกจากนี้ในโลกของอนาคต โลกเสมือนจริงอย่าง metaverse ที่อาจเข้ามามีส่วนช่วยเรื่องของการ training ในโรงพยาบาลที่มีการฝึกอบรมนักศึกษาบุคลากรทางการแพทย์ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการสร้าง Metaverse Training Centre ที่ทางสรพ.เริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญและจะนำไปสู่การวางแผนเพื่อรับรองคุณภาพกันต่อไป
3) Lean & Logistics การนำระบบ flow ของกระบวนการทาง logistic มาใช้ในการจัดทำบริการทางสาธารณสุข
4) Value-Based Healthcare
5) COVID-19
ในช่วงยุคการระบาดของ COVID -19 นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั้งการประเมินรับรอง ,กระบวนการเยี่ยมสำรวจ เป็นรูปแบบ online และมีการเผยแพร่ความรู้ต่างๆผ่านหลายช่องทาง เช่น Facebook Live และ YouTube เพิ่มมากขึ้น เป็นต้น
“ก่อการไกล”: พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ
“เติบโตยืนต้นแผ่กว้าง หลากสีแตกต่างสดใส
ผลิดอกออกผลหลากใบ ต้นไม้คุณภาพเติบใหญ่ในสังคม”
การกว้าง
Hospital -> Healthcare System -> Health System
ความท้าทายของ สรพ. ในบทบาทของการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาล (Hospital) สู่การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Healthcare System) สู่การพัฒนาระบบสุขภาพ (Health System) ที่สังคม/ประชาชนมีส่วนร่วม โดยมีการพัฒนาระบบการประเมินที่นอกเหนือไปจากการดูเป็นรายโรงพยาบาลแบบเดิม ซึ่งในปัจจุบันมีการรับรองรายโรงพยาบาลที่หลากหลาย เช่น HA, การประเมินรายโรค, SHA ก่อการไกลแนวกว้าง จึงเพิ่มมุมมองการพัฒนาและรับรองหน่วยบริการปฐมภูมิ (Primary care unit accreditation) นอกจากนี้เพิ่มมุมมองการประเมินคุณภาพโดยประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนพร้อมเป็นเจ้าของ
การไกล
มุ่งสู่วิสัยทัศน์: ระบบบริการสุขภาพมีคุณภาพและไว้วางใจได้ในระดับสากลด้วยมาตรฐาน HA
- สร้างการยอมรับในสังคมระดับประเทศ จาก HA เป็น HA Thailand โดยขับเคลื่อนองค์กรให้เป็น National body เรื่อง External Evaluation Organization โดย สรพ. ได้รับการรับรองจากหน่วยงานสากล ISQua EEA โดยได้รับการรับรอง ครบทั้ง 3 โปรแกรม ได้แก่ การรับรององค์กร การรับรองมาตรฐาน และการรับรองกระบวนการพัฒนาผู้เยี่ยมสำรวจ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็น 1 ใน 13 ประเทศทั่วโลกที่มีองค์กรที่ได้รับการรับรองครบทั้งโปรแกรม ซึ่งเป็นผลมาจากการวางรากฐานและการสานต่อให้เกิดความต่อเนื่อง
- สร้างความร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศ อาทิเช่น ความร่วมมือเชิงวิชาการในการขับเคลื่อนการพัฒนามิติจิตวิญญาณในระดับสากล หรือความร่วมมือการพัฒนากับหน่วยงานจากต่างประเทศ
- ขับเคลื่อนประเด็น Patient Safety ในระดับ Global เป็น 1 ใน 12 ประเทศที่ได้รับการยอมรับ และการขับเคลื่อนการพัฒนา 2P-Safety และบูรณาการประเด็นความปลอดภัยในมาตรฐาน HA ฉบับที่ 5
4 ปีต่อจากนี้
ปี 2565 ปีแห่งการ อยู่รอด (Living Organization)
ปี 2566 ปีแห่งการ อยู่ร่วม (Friendly Organization)
ปี 2567 ปีแห่งการ อยู่อย่างมีความหมาย (Meaning Organization)
ปี 2568 ปีแห่งความยั่งยืน
สรพ. ในความตั้งใจ การไกลที่อยากเป็น คือ “องค์กรที่มีชีวิต องค์กรที่เป็นมิตร และองค์กรที่ใครๆ ก็คิดถึง”