หากจะเปรียบองค์กร สรพ. เหมือนร่างกายมนุษย์ ซึ่งอวัยวะสำคัญ 3 อย่าง ได้แก่ head, hand and heart เราจะสามารถสะท้อนภาพผู้นำที่เป็นเสาหลัก อันแสดงถึงความสำคัญของแต่ละอวัยวะได้ดังนี้
Head – ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา
ผู้นำด้านแนวคิดชาว HA ได้กล่าวถึงระบบการดูแลสุขภาพ ประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำไปปฏิบัติ และผู้ได้รับผล โดยมีเป้าหมายของการมี “สุขภาวะ” ที่ดี (well-being) ที่ไม่ใช่เพียง “สุขภาพ” ที่ดีเท่านั้น แต่ต้องประกอบไปด้วย 8 องค์ประกอบ คือ Emotional, Spiritual, Intellectual, Physical, Environmental, Financial, Occupational and Social ในมุมมองที่ใหญ่ขึ้นของประเทศไทย การมีสุขภาวะที่ดีนั้น ไม่ได้เกิดจากด้านสาธารณสุขอย่างเดียว แต่เกิดจากหลากหลายด้าน อาจจะแบ่งได้เป็น 9 ส สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การศึกษา สัตว์ สัมมาชีพ สังคม ศาสนา ที่สัมพันธ์กันกับสุขภาวะ โดยต้องอาศัยความร่วมมือขององค์กรจากหลายภาคส่วน เพื่อก่อการไกล สู่การก้าวไปด้วยกัน
Hand – พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ
ผู้นำด้านปฏิบัติงาน ก็คือ ผอ. สรพ. โดยในปีนี้ยุทธศาสตร์ของสรพ.จะมีการพัฒนาในทุกระดับตามแนวคิด “ก่อการไกล” ทั้งในระดับพื้นที่ โดย สรพ.กำลังพัฒนา Quality Management Representative (QMR) expert ในแต่ละรพ. และในระดับ Global ที่ได้มีโอกาสนำแนวทางของประเทศไทยไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับประชาคมนานาชาติ และนำเอาประเด็นที่สนใจมาปรับประยุกต์ให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทย เช่น
- เป้าหมายของการประกันคุณภาพเพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่น หลังการเข้าไปของ surveyor ก็มีการประชุมกันเองปรับกันเอง
- การทำงานประกันคุณภาพภายใต้ evidenced-based มีการประเมิน outcomes และ safety ที่เห็นหลักฐานเชิงประจักษ์ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และคำนึงถึง person-centered care
แต่การทำงานจะปราศจากพลังใจไม่ได้ ซึ่งเราจะได้รับการเติมพลังใจจาก ศ.เกียรติคุณ นพ. ประเวศ วะสี ในส่วนต่อไป
Heart – ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี
“ชีวิตคนประดุจฟ้า ความปลอดภัย และสุขภาวะคือสิ่งสูงสุด”
ชาว HA ต้องมีลักษณะที่สำคัญ 2 ประการ
- มีหัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์
- การเรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติจริง [Interactive Learning Through Action: ILTA]
วิกฤตการณ์จากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้เราปรับตัวให้ทุกที่เป็นสถานพยาบาลไม่ว่าจะเป็น บ้าน โรงเรียน หรือโรงแรม ดังนั้น จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของคุณภาพสถานพยาบาลที่ต้องครอบคลุมทุกภาคส่วน
ควรคิดเป็นองค์รวมเพื่อความปลอดภัยและสุขภาวะที่สมบูรณ์ของคนไทยทั้งแผ่นดิน นั่นคือเป้าหมายสูงสุดของประเทศไทย ทำให้ประเทศมีบูรณภาพและดุลยภาพ
ตามที่ WHO ให้คำจำกัดความของสุขภาพ “Health is complete well being physically, mentally, socially (and spiritually)”
“Health is totally integral in all human and social development”
ตามกฎบัตรออตตาวา สุขภาวะประกอบด้วย
- พฤติกรรมสุขภาพ
- สิ่วแวดล้อมที่ดี
- ชุมชนเข้มแข็ง
- ระบบบริการสุขภาพดี
- นโยบายสาธารณะดี
ระบบบริการสุขภาพดี ต้องทั่วถึงเป็นธรรม มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ จากการผสานความร่วมมือของคณะมนตรีสุขภาพทั้ง 8 (สธ. สปสช. สวรส. สช. สสส. สรพ. สพฉ. มสช.) เป็นฟันเฟืองหลัก โดยมีพื้นที่เป็นตัวตั้ง พัฒนาอย่างบูรณาการทั้งแปดมิติ คือเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม การศึกษา และประชาธิปไตยเพื่อให้เกิดการบูรณาการระบบสุภาพ เป็นระบบที่สำคัญและมีประสิทธิภาพของประเทศไทย
ดังนั้นแล้ว ด้วยการนำ (head) กระบวนการ (hand) และความมุ่งมั่นตั้งใจที่ดี (heart) เราเชื่อว่า ชาว สรพ และทีมบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนจะสามารถผนึกกำลังเพื่อขับเคลื่อนความปลอดภัย และสุขภาวะของประชาชนไทยได้เป็นแน่แท้
ไตรสิทธิ์ ภูวเตชะหิรัณย์ และ ศักดิธัช อิทธิพิสิฐ
ผู้เรียบเรียง