How to Implement Spirituality in Organization
งานที่เราทำทุกวันนี้มีสิ่งใดที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นคนที่มีประโยชน์และมีคุณค่าในงานนั้น อะไรที่บอกได้ว่าเป็นเพราะเราทำให้การดูแลคนไข้คนนี้ประสบความสำเร็จ ความรู้สึกดีๆ ต่อเพื่อนต่อผู้ร่วมงาน สิ่งดีๆ ที่เราอยากแบ่งปัน สิ่งที่ยึดเหนี่ยวความรักของเราต่อวิชาชีพและต่อองค์กรคืออะไร
คำตอบอยู่ในมาตรฐาน SHA (Spiritual Healthcare Appreciation)
สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์
(SHA) Spiritual Healthcare Appreciation หมายถึง การเห็นความสำคัญของเรื่องจิตวิญญาณ เพราะในงานสาธารณสุขเรื่องการบริการสุขภาพเป็นเรื่องใหญ่ หากบุคลากรไม่มีขวัญกำลังใจ เมื่อทำไประยะหนึ่งก็จะหมดแรง และหยุดการพัฒนาไป แต่หากเรานำความคิดของ SHA ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือคุณภาพของ HA มาใช้ เราจะพบว่าทำให้ขวัญกำลังใจของบุคลากรที่ทำงานดีขึ้น เพราะทุกคนจะได้คำตอบว่าคุณค่าที่เกิดจากการทำงานไม่ได้มาจากชื่อเสียงเงินทองเท่านั้น แต่ยังทำให้จิตใจได้ยกระดับและพัฒนาขึ้น การทำงานในโรงพยาบาลเหมือนการทำบุญโดยไม่ต้องไปที่วัด ทว่าหากเราทำงานในหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่ โดยใส่มิติ SHA เข้ามาก็จะเสริมให้เรามีพลัง แม้งานที่เราทำจะเหนื่อยยากเพียงไหนก็จะทำจนสำเร็จ เพราะเรามีความสุข ความภาคภูมิใจในงานที่ทำ
รศ.นพ.ชเนนทร์ วนาภิรักษ์ การยกประเด็นเรื่องมาตรฐาน SHA หากใช้สุนทรียสนทนา เรื่องเล่าเร้าพลังมาประกอบในการถ่ายทอด จะทำให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น เข้าใจง่ายขึ้น ผู้บริหารมีส่วนสำคัญในการนำทุกๆคนในองค์กรเข้าสู่มาตรฐาน SHA โดยการทำตนเป็นตัวอย่างในการปฏิบัติงานอย่างเข้าถึงจิตวิญญาณของผู้รับบริการ เช่นบางครั้งเราเห็นคนไข้คนหนึ่งไม่ยอมทานข้าว แต่หากลูกชายมาและป้อนข้าวให้ คนไข้จะกินข้าวได้มาก ถ้าเราสังเกตพฤติกรรมของคนไข้ก็จะรู้ถึงความต้องการของคนไข้ได้ บางครั้งเจ้าหน้าที่พยายามอธิบายสิ่งต่างๆหลายครั้งคนไข้ก็ไม่เข้าใจ ต้องมีเรื่องเล่าประกอบจึงจะเข้าใจ เป็นต้น เพราะฉะนั้นเรื่องของมิติจิตวิญญาณจะเป็นเครื่องมือที่ต้องนำมาใช้ในทุกกระบวนการทำงาน เพื่อผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่และยั่งยืน
มาตรฐาน HA ฉบับกาญจนาภิเษกเป็นมาตรฐานที่ใช้ในทุกโรงพยาบาล สำหรับมาตรฐานฉบับที่ 5 บังคับใช้วันที่
1 ตุลาคม 2564 ได้แทรกมาตรฐาน SHA เพื่อดูแลมิติทางจิตวิญญาณของทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ ใช้แนวคิดหล่อเลี้ยงองค์กรด้วยแรงบันดาลใจ เสริมพลังคนทำงานให้มีความภาคภูมิใจในงาน ให้อยากแบ่งปันและอยากให้ผู้รับบริการปลอดภัย
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์ มาตรฐาน SHA คือการดูแลผู้ป่วยต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างความปลอดภัยกับความพึงพอใจความสุขของผู้รับบริการ การวัดวิเคราะห์ผลลัพธ์ในสิ่งที่เราสามารถวัดได้ไม่ใช่ตัวเลข แต่เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพในทางที่ดีขึ้นทั้งบุคลากรและประชาชน นั่นคือเป้าหมายหลักที่ต้องการ
Inner life คือความรู้สึกว่าตนเองมีความหมาย มีเป้าหมายในชีวิต สิ่งที่ทำมีคุณค่า ภาคภูมิใจในตนเองมากจนต้องเผื่อแผ่ความรู้สึกเอื้ออาทร ความปรารถนาดีให้แก่ผู้อื่น เพื่อนบุคลากร ผู้ป่วยและผู้รับบริการด้วยความสุขใจ
ความรู้สึกที่มีต่อผู้ร่วมงานเปลี่ยนไปเมื่อใช้ SHA เช่น ความรู้สึกต่อพนักงานขับรถ ว่าเป็นลูกจ้างประจำคนหนึ่งเท่านั้น แต่หากเปลี่ยนความรู้สึกว่า พนักงานขับรถคนนี้ส่งเราถึงที่หมายอย่างปลอดภัย เป็นผู้รักษาชีวิตเรา เราจะเกิดความรู้สึกขอบคุณ อยากตอบแทนด้วยความเอื้ออาทรและแสดงความเป็นกันเองมากขึ้น ทำให้พนักงานขับรถคนนั้นรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองกับงานที่ทำอยู่ และเพิ่มความระมัดระวังให้ผู้โดยสารปลอดภัยทุกครั้งที่รับบริการ แม่บ้านมีหน้าที่ทำความสะอาดพื้นที่ให้บริการ สิ่งที่ซ่อนอยู่คือการทำให้ผู้ที่ผ่านไปมาบริเวณนั้นได้รับความปลอดภัย พื้นที่แห้งสะอาดไม่มีการลื่นหกล้ม หากได้รับการแสดงความขอบคุณจากผู้ทำงานหรือผู้รับบริการชมเชย แม่บ้านก็จะภาคภูมิใจในงานของตนเองว่ามีคุณค่า และตั้งใจในรายละเอียดของงานมากขึ้น เพื่อให้ผู้รับบริการปลอดภัย
ความรู้สึกสำนึกในชุมชน คือการแบ่งปัน มีแรงกระตุ้นให้อยากรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง รักษาสมดุลคุณภาพชีวิตกับงาน เพื่อจะได้ปฏิบัติงานตามหน้าที่ ไม่ต้องให้คนอื่นมาทำงานแทน งานต่างๆก็จะสำเร็จได้ด้วยพลังของชุมชน
การเชื่อมโยงกับสิ่งที่มีพลังและศรัทธา มีสิ่งยึดเหนี่ยวที่ยิ่งใหญ่ บุคลากรสาธารณสุขมีความศรัทธาในความดี
ได้ให้การดูแลผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลรักษาจริงๆทำให้เกิดความภาคภูมิใจ รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่ามากกว่าการตอบแทนด้วยทรัพย์สิน
มาตรฐาน SHA ยังให้ความสำคัญกับหลัก Patient center นอกจากนี้ได้เพิ่มเรื่องการส่งเสริมให้มีการประเมินปัจจัยการดูแลผู้ป่วยครอบคลุมถึง care giver เพราะ care giver คือคนที่สำคัญที่สุดในการดูแลผู้ป่วยเมื่อกลับไปอยู่ในชุมชน เช่นผู้ป่วยนอนติดเตียงที่ต้องนำกลับไปดูแลที่บ้าน ความรู้สึกของ care giver มีความสำคัญมาก เพราะต้องรับหน้าที่ดูแลผู้ป่วยต่อจากโรงพยาบาล
นพ.กิตติศักดิ์ กษตรสินสมบัติ SHA มุ่งหมายให้ประชาชนมีความรักความผูกพันกับโรงพยาบาล คนทำงานเกษียณไป แต่องค์กรคือโรงพยาบาลยังคงอยู่ สักวันหนึ่งเราอาจต้องมาเป็นผู้รับบริการที่โรงพยาบาลเราเอง หากเราต้องการสร้างความเชื่อและคุณภาพของชีวิตที่ดีให้คงอยู่อย่างยั่งยืน เราจะต้องปลูกศรัทธาและรากฐานของความเชื่อว่าทุกคนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดี เราจะปลูกและหล่อเลี้ยงให้ความดีนั้นเจริญเติบโตขึ้นด้วยสิ่งแวดล้อมและเวลาที่เหมาะสม โดยสร้างวัฒนธรรมที่ดี ซึ่งจะทำให้เมล็ดพันธุ์แห่งความดีเจริญเติบโตและรักษาความดีได้อย่างยั่งยืน
แนวทาง SHA ในมาตรฐาน HA ฉบับที่ 5 มี 8 บท ได้แก่
SHA 1 การนำและการกำกับดูแล ชี้นำผ่านมาตรฐานด้วยมิติจิตวิญญาณเพื่อความปลอดภัย มีคุณภาพ อาศัยการสนับสนุนการขับเคลื่อนและเป็นต้นแบบของผู้นำ ผ่านวิสัยทัศน์ที่มีพลังอันเป็นจุดร่วมของบุคลากร
SHA 2 กลยุทธ์ที่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณ วิถีชีวิตทั้งคนไข้และคนทำงาน รับฟังประสบการณ์ผู้ป่วย รับรู้ชีวิตด้านในบุคลากร (Inner life) และวิเคราะห์ปัญหาสุขภาพขีดความสามารถขององค์กร จัดทำกลยุทธ์ที่ทำให้ยกระดับจิตวิญญาณบุคลากรและเน้นผู้ป่วย/ครอบครัวเป็นศูนย์กลาง
SHA 3 วัฒนธรรมองค์กร รูปธรรมของค่านิยม เน้นตามองค์ประกอบของจิตวิญญาณ สามารถกระตุ้นจิตวิญญาณในการทำงานให้บุคลากรด้วยการนำแนวคิดพื้นฐานการมีจิตวิญญาณที่ดี ได้แก่การรักผู้อื่นอย่างแผ่ไพศาล เห็นแก่ประโยชน์ผู้อื่น มีความรักความเมตตา ปรารถนาดีห่วงใยซึ่งกันและกัน เห็นคุณค่าของตนเอง ทำให้องค์กรมีวัฒนธรรมคุณภาพที่มีจิตวิญญาณเป็นพื้นฐาน
SHA 4 การจัดการและการออกแบบการทำงาน ใช้ QA, CQI, process management, process requirement
3P/รับรู้ความต้องการ วิถีชีวิตของทั้งผู้รับและผู้ให้บริการ รับรู้ความต้องการ คุณค่า ความหมายของชีวิตทั้งจากผู้ปฏิบัติงาน ผู้ป่วยและญาติ นำมาออกแบบปรับปรุงบริการสุขภาพ/กระบวนการทำงานที่สำคัญ มีการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ทั่วทั้งองค์กรเพื่อยกระดับการทำงานและส่งมอบคุณค่าให้ผู้ป่วย/ผู้รับผลงานอื่น ทีมงานมีปิติสุขในการทำงาน เพื่อให้บรรลุความสำเร็จขององค์กร
SHA 5 การส่งเสริมจิตวิญญาณในการทำงานของทีมผู้ให้บริการ ปลูกจิตสำนึกและหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณบุคลากรด้วย การส่งเสริมให้มีการพัฒนาทักษะด้านจิตวิญญาณ ฝึกฝนให้เติบโตด้านในหรือรับรู้ชีวิตด้านใน (Inner life)
การ สร้างบรรยากาศอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน การเชื่อมโยงสร้างพลังจากสิ่ที่ศรัทธาเป็นกิจกรรมที่ควรทำสม่ำเสมอและเป็นระบบ มีระบบการจัดการความรู้ที่ดี สร้างเวทีในการถ่ายทอด สร้างต้นแบบแรงบันดาลใจทำให้บุคลากรมีพลังบวกยกระดับจิตวิญญาณในการทำงาน
SHA 6 องค์ประกอบจิตวิญญาณในการทำงาน การเติบโตด้านในหรือรับรู้ Inner life ทำงานด้วยความตระหนักในคุณค่าและความหมายของงาน มีจิตสำนึกร่วมในชุมชนและสัมพันธภาพที่ดี บุคลากรมีแรงบันดาลใจในการทำงานและมีพลังในการทำความดี
SHA 7 ระบบงานที่ให้ความเคารพ เห็นคุณค่าของผู้ป่วยและญาติ บูรณาการมิติจิตวิญญาณ คำนึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ทั้งผู้ป่วย ญาติ และบุคลากร
SHA 8 สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเยียวยา ระบบ ENV ที่ปลอดภัยเอื้อต่อการดูแลรักษาทั้งร่างกายและจิตใจ
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ รศ.นพ.ชเนนทร์ วนาภิรักษ์ มาตรฐาน SHA คือค่านิยมทางจิตวิญญาณ ความงาม ความคิด ความซื่อสัตย์ ความเอื้ออาทร ความอยากเป็นมิตร ความรู้สึกที่ดีที่มีต่อกัน นำสิ่งเหล่านี้มาบูรณาการมิติจิตวิญญาณในมาตรฐานโรงพยาบาล เป็น Soft power ของระบบการแพทย์และสาธารณสุขไทย ส่งเสริมการสนับสนุน Care giver ให้ผู้ป่วยและญาติเชื่อมั่นในตนเอง ภูมิใจในการดูแลตัวเอง มีศักดิ์ศรี ดูแล Inner life ของทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ รวมทั้งการดูแลสิ่งแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในจิตใจ โดยใช้“แนวทางการดูแลผู้ป่วยด้วยมิติทางจิตวิญญาณ” (SPA ของ SHA) เป็นมาตรฐาน
ผู้ถอดบทเรียน กาญจนา เสนะเปรม หัวหน้างานพัฒนาระบบบริการพยาบาล ฝ่ายการพยาบาล
โรงพยาบาลราษฎร์บูรณะ