Global Patient Safety Challenge

0
1755

     ในปี ค.ศ. 2019 สมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 72 ได้ให้คำมั่นสัญญาเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นมาตรการระดับโลก (Global Action on Patient Safety) และได้จัดตั้งวันความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก (World Patient Safety Day) ในวันที่ 17 กันยายนของทุกปี โดยในแต่ละปีองค์การอนามัยโลกจะมีประเด็นสำคัญในการผลักดัน เช่น ในปี 2020 คือ “Safe health workers, Safe patients”

     ในมาตรการระดับโลกเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนด 7 เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ (7 Strategic Objectives) เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานสู่ความปลอดภัยของผู้ป่วยระดับโลก ดังนี้

  1. นโยบายเพื่อกำจัดความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ (Policies to Eliminate Avoidable Harm in Health Care)
  2. ระบบที่มีความน่าเชื่อถือสูง (High-reliability Systems) 
  3. ความปลอดภัยในกระบวนการดูแลรักษา (Safety of Clinical Processes)
  4. การมีส่วนร่วมของผู้ป่วยและครอบครัว (Patient and Family Engagement)
  5. ความสามารถ การศึกษา และความปลอดภัยของบุคลากรสาธารณสุข (Health Worker Education, Skills, and Safety)
  6. ข้อมูลสารสนเทศ การวิจัย และการบริหารความเสี่ยง (Information, Research, and Risk Management)
  7. การทำงานร่วมกัน ภาคีเครือข่าย และความสามัคคี (Synergy, Partnership, and Solidarity)

     จากเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ทั้ง 7 ด้านนี้ จะเห็นได้ว่าความปลอดภัยของผู้ป่วยไม่ใช่เรื่องของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เป็นประเด็นในระดับประเทศและระดับโลกที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ตั้งแต่ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ปฏิบัติตามนโยบาย บุคลากรทางการแพทย์แนวหน้า ตลอดจนผู้ป่วยและญาติ

     แต่ละเป้าหมายเชิงกลยุทธ์มีกลยุทธ์ย่อยอีก 5 กลยุทธ์ สามารถศึกษารายละเอียดได้จากหนังสือ Global Patient Safety Action Plan 2021-2030 (https://www.who.int/teams/integrated-health-services/patient-safety/policy/global-patient-safety-action-plan)

     ประเด็นที่น่าสนใจในการนำกลยุทธ์ของ WHO ไปใช้ในบริบทของสิงคโปร์ ได้แก่ การศึกษา การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน สำหรับประเทศไทย ทั้ง 3 ประเด็นยังมีความท้าทายมากเนื่องจากความแตกต่างด้านบริบททางสังคม อย่างไรก็ตาม นับว่าประเทศไทยมีพัฒนาการที่ดี จากการปรับตัวจาก 2P Safety (Patient, Personnel) สู่ 3P Safety (Patient, Personnel, People) จึงน่าสนใจว่า เส้นทางสู่ความปลอดภัยของผู้ป่วยในประเทศไทยจะก้าวหน้าไปอย่างไรในอนาคตจนถึงปี 2030

     สุดท้ายนี้ ขอให้ระลึกไว้ว่า เราไม่ได้เดินทางไปคนเดียว แต่ต้องร่วมเดินทางไปกับบุคลากร ผู้ป่วย ประชาชน ภาครัฐ ผู้กำหนดนโยบาย รวมถึงประเทศอื่น ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายความปลอดภัยของผู้ป่วยและการบริการที่มีคุณภาพ

นศพ.พีรภาส สุขกระสานติ ผู้ถอดความ

ครีเอทีฟคอมมอนส์
งานนี้ใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ แบบแสดงที่มาไม่ใช้เพื่อการค้า ไม่คัดแปลง

 

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here