Digital transformation : Use Case การเป็นโรงพยาบาลดิจิทัลทำอย่างไร

0
2115

     Digital Transformations คงเป็นคำพูดที่หลายๆ สถานพยาบาลได้ยินมาไม่มากก็น้อย สถานพยาบาลหลายแห่งกำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล อีกทั้งสถานพยาบาลหลายแห่งอาจไม่คุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นกระแสที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

Digital Transformation: The processes that used to improve work flows, result in increased efficiency, safety and accuracy by using digital technology AS A TOOL.

Digital Transformation คืออะไร?

     Digital Transformation คือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงาน โครงสร้างองค์กร และการให้บริการในโรงพยาบาล เป้าหมายหลักของการเปลี่ยนแปลงนี้คือการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดข้อผิดพลาด และปรับปรุง พัฒนาประสบการณ์ของผู้ป่วยและบุคลากร การปรับเปลี่ยนนี้ไม่ใช่เพียงแค่การนำเทคโนโลยีมาใช้ แต่ยังรวมถึงการปรับแนวคิดในการทำงาน วัฒนธรรมองค์กร และการบริหารจัดการเพื่อให้เข้ากับยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง

Digital transformation ประกอบด้วยอะไรบ้าง?

     การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลไม่ใช่เพียงการนำเทคโนโลยีมาใช้ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ครอบคลุมทุกด้านขององค์กร ประกอบด้วย 5 ปัจจัยสำคัญ ดังนี้

  1. Customers (ลูกค้า): ลูกค้าหรือผู้รับบริการ คือ ปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้า ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น และสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับลูกค้า
  2. Value (คุณค่า): การสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับองค์กร และลูกค้า ผ่านการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ซึ่งอาจหมายถึงการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน สร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ หรือเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า
  3. Data (ข้อมูล): ข้อมูลมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ข้อมูลเป็นพื้นฐานสำหรับการตัดสินใจ การวิเคราะห์ และการปรับปรุงกระบวนการต่างๆ ซึ่งข้อมูลที่ใช้ควรมีคุณสมบัติ 5 ประการดังนี้
    • Reliability (ความน่าเชื่อถือ) – ข้อมูลต้องสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่เกิดความผิดพลาดที่ส่งผลกระทบต่อระบบการทำงาน
    • Validity (ความถูกต้อง) – ข้อมูลต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด และสะท้อนถึงข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง
    • Safety (ความปลอดภัย) – มีมาตรการปกป้องข้อมูลจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ และควบคุมการเข้าถึงอย่างเหมาะสม
    • Accuracy (ความแม่นยำ) – ข้อมูลต้องมีแม่นยำสูงเพื่อช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง
    • Usability (ความสามารถในการใช้งาน) – ข้อมูลต้องถูกออกแบบให้ง่ายต่อการเข้าถึง และใช้งานเพื่อให้แพทย์และเจ้าหน้าที่สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  4. Competition (การแข่งขัน): ในยุคดิจิทัลล้วนมีการแข่งขัน การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลช่วยให้องค์กรสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบันได้ ซึ่งจะช่วยให้องค์กรสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  5. Innovation (นวัตกรรม): การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลกระตุ้นให้เกิดการทดลอง การเรียนรู้ และการนำเสนอสิ่งใหม่ ๆ

ทำไมเราต้องเปลี่ยนแปลงในสถานพยาบาลของเรา?

  1. เพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการทำงาน – ลดภาระงานเอกสาร และลดข้อผิดพลาดจากการใช้ข้อมูลแบบดั้งเดิม
  2. เพิ่มความปลอดภัยของข้อมูลผู้ป่วย – ใช้ระบบการจัดเก็บข้อมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Medical Records: EMR) และระบบการยืนยันตัวตนเพื่อป้องกันข้อมูลรั่วไหล
  3. ปรับปรุงประสบการณ์ของผู้ป่วย – การให้บริการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้บริการของบุคลากรทางการแพทย์รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
  4. รองรับการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง – การใช้ Big Data และ AI ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยและการตัดสินใจของแพทย์ และเพิ่มคุณภาพของงานบริการ
  5. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน – โรงพยาบาลที่สามารถปรับตัวได้เร็วกว่า จะมีความสามารถในการให้บริการที่มีคุณภาพสูงขึ้น

กลยุทธ์ในการเริ่มต้น  Digital Transformation ในสถานพยาบาล

  1. กำหนดเป้าหมาย และกลยุทธ์ที่ชัดเจน – วางแผนการดำเนินงาน และตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยผู้นำองค์กรในการ transform และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในองค์กรต้องมีส่วนสำคัญว่าตนเองจะมีส่วนได้ส่วนเสียอะไรจากการเปลี่ยนแปลง 
  2. เลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม – พิจารณาว่าระบบไหนที่จำเป็นต่อองค์กรของท่าน  เช่น  Hospital information system, ระบบ server ที่จะนำมาใช้, หรือ แอปพลิเคชัน ที่เหมาะสม
  3. สร้างวัฒนธรรมดิจิทัลในองค์กร – ปลูกฝังให้บุคลากรเปิดรับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และสื่อสารกันอย่างเข้าใจ
  4. ทดลองใช้งานแบบค่อยเป็นค่อยไป – เริ่มต้นจากโครงการนำร่อง (Pilot Project) หรือหน่วยงานเล็กๆ ก่อนขยายขอบเขตการใช้งาน รวมถึงการนำแนวคิด Lean Management มาใช้ในการออกแบบกระบวนการ 
  5. ติดตาม และปรับปรุง – ประเมินผลลัพธ์ของการใช้เทคโนโลยี และปรับปรุงกระบวนการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
  6. การพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ของบุคลากร – ให้มีการอบรม และพัฒนาทักษะเกี่ยวกับเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง

      การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยทั้งนวัตกรรม และการปรับตัว องค์กรต้องเริ่มต้นด้วยการนำนวัตกรรมมาใช้ และจากนั้นต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น การปรับตัวเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความยั่งยืน และความสามารถในการแข่งขันในยุคดิจิทัล

     Digital Transformation ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของแต่ละส่วน 6 ขั้นตอน ซึ่งแต่ละส่วนจะพัฒนาไปพร้อมๆกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และรวมกันเป็นเสาหลักของการเติบโตไปสู่องค์กรที่มีความคล่องตัว มีนวัตกรรม และมีความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลมากขึ้น

องค์ประกอบหลักของการเติบโตเต็มที่ทางดิจิทัล มีดังนี้

  • Governance and Leadership (การกำกับดูแล และความเป็นผู้นำ): โครงสร้างพื้นฐานที่ขับเคลื่อนด้วยปรัชญาความเป็นผู้นำ ซึ่งกำหนดชะตากรรมของการพัฒนาธุรกิจ
  • Data and Analytics (ข้อมูล และการวิเคราะห์): วิธีที่บริษัทติดตามข้อมูล วัดผลความคิดริเริ่ม สกัดข้อมูลเชิงลึก และนำไปใช้ในองค์กร
  • People and Operations (บุคลากร และการปฏิบัติงาน): ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล บทบาท ความรับผิดชอบ และหน้าที่ที่พวกเขาแบกรับ และวิธีที่องค์กรดำเนินการเปลี่ยนแปลงและจัดการการเปลี่ยนแปลง รวมถึงบทบาท กระบวนการ ระบบ และแบบจำลองสนับสนุน
  • Technology Integration (การบูรณาการเทคโนโลยี): การใช้เทคโนโลยีที่รวมกลุ่ม ฟังก์ชัน และกระบวนการเข้าด้วยกันเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลแบบองค์รวม
  • Digital Literacy (ความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัล): วิธีการนำความเชี่ยวชาญใหม่ๆ เข้าสู่องค์กร
  • Customer Experience (ประสบการณ์ของลูกค้า): กระบวนการและกลยุทธ์ที่มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงจุดสัมผัสตลอดเส้นทางของลูกค้า

ปัญหาที่อาจพบ และแนวทางแก้ไข

– แรงต่อต้านจากบุคลากร: ควรให้ความรู้ และแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นธรรมดา และต้องมีผู้ริเริ่ม (initiate)

– ข้อจำกัดด้านงบประมาณ: ต้องมีการวางแผนการจัดซื้อที่เหมาะสม เช่น การระบุในสัญญาจัดจ้างจัดซื้อว่า “ระบบที่นำเข้ามานั้นต้องสามารถปรับเข้ากับระบบของโรงพยาบาลได้”

– ปัญหาด้านการบูรณาการระบบ: ควรเลือกแพลตฟอร์มที่สามารถทำงานร่วมกับระบบเดิมได้

– ปัญหาด้านความปลอดภัยของข้อมูล: ต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่เข้มงวด และเป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งสถานพยาบาลควรมีระบบการสำรองข้อมูลรองรับในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

นวัตกรรมในโรงพยาบาลดิจิทัล

– AI สำหรับการวินิจฉัย: ใช้ AI หรือ Machine Learning ช่วยในการวิเคราะห์ผลตรวจทางการแพทย์ จากข้อมูลที่มีจำนวนมากในโรงพยาบาล

– Chatbot และระบบอัตโนมัติ: ใช้ช่วยตอบคำถาม ลดภาระงานของบุคลากร

– Wearable Technology: อุปกรณ์ตรวจวัดสุขภาพที่เชื่อมโยงกับระบบโรงพยาบาล

– Clinical Decision Support System (CDSS): ระบบช่วยสนับสนุนการตัดสินใจทางคลินิกโดยใช้ข้อมูลและ AI ในการวิเคราะห์ เพื่อให้แพทย์สามารถตัดสินใจได้แม่นยำขึ้น

– ระบบ Lab Critical: ระบบรายงานผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยระบบจะสามารถรายงานไปยังแพทย์  พยาบาลได้อย่างรวดเร็ว หากมีค่าผิดปกติระบบจะแจ้งแพทย์เพื่อให้ดำเนินการขั้นต่อไป ส่งผลให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยมากขึ้น 

ก้าวถัดไปของ Digital Transformation

     การพัฒนาอย่างต่อเนื่องของระบบไอที การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลไม่ใช่การลงทุนแบบครั้งเดียว แต่เป็นกระบวนการที่ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โรงพยาบาลต้องอัปเดตซอฟต์แวร์ ปรับปรุงความปลอดภัยของข้อมูล และพัฒนาทักษะของบุคลากรให้ทันกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ นอกจากนี้ ต้องมีการสำรองข้อมูลอย่างปลอดภัย และใช้มาตรฐานสากลในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ รวมถึงการสร้างเครือข่าย (Network) เพื่อขยายขอบเขต Digital Transformation และบูรณาการข้อมูลระหว่างองค์กรร่วมกันสู่การเป็น Data Driven Organization

Digital Transformation จึงไม่ใช่แค่การนำเทคโนโลยีมาใช้เท่านั้น แต่เป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง วัฒนธรรมองค์กร และวิธีคิดของบุคลากรในโรงพยาบาล การมีผู้นำที่เข้าใจทิศทาง และมีการวางกลยุทธ์ที่เหมาะสม จะทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นไปอย่างราบรื่น และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย และองค์กร โรงพยาบาลที่สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพจะสามารถให้บริการสุขภาพที่ดีขึ้น และรองรับความต้องการของสังคมในอนาคตได้อย่างมั่นคง

อ.ภก.บรรณสรณ์ เตชะจำเริญสุข ผู้ถอดความ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here