Practical Point for Medication Safety

0
12932
Practical Point for Medication Safety

บทความนี้ถอดมาจาก 2 session บรรยายโดย  ภญ.วิชชุนี พิตรากูล, ภญ.ผุสดี บัวทอง, ภก.พิชญ์สิทธิ์ อุดมนุชัยทรัพย์, ภก.ภาสกร รัตนเดชสกุล, ภญ.จันทร์จารึก รัตนเดชสกุล, ภญ.จารุณี วงศ์วัฒนาเสถียร

Practical Point for medication safety Episode I&II

ในการขับเคลื่อนระบบยาให้บรรลุเป้าหมาย “ความปลอดภัย” มีกระบวนการ/ระบบงานสำคัญที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ คณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด การพิจารณายาเข้า ออก การเก็บรักษา การสั่งยา การจัดจ่าย บริหารยาให้แก่ผู้ป่วย ตลอดจนการติดตามการใช้ยา มีระบบสนับสนุนจำเป็น เช่น HR, IT, ENV ฯลฯ ประเด็นที่ต้องดำเนินงานเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ได้แก่  

  1. คณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด (Pharmacy & Therapeutics Committee: PTC) คณะกรรมการฯ ต้องประกอบด้วยสหสาขาวิชาชีพ ทำหน้าที่ครอบคลุมทั้งการบริหารจัดการบัญชียาและความปลอดภัย ต้องจัดให้มีการประชุมสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง มีการกำหนดนโยบายด้านยาที่สำคัญ นำนโยบาย ลงสู่ผู้ปฏิบัติ โดยนโยบายควรมาจากการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งเภสัชกรควรเป็นผู้เตรียมข้อมูลด้านความปลอดภัย (ME/ADR) นำเสนอคณะกรรมการฯ ปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาได้แก่ 1) การสนับสนุนและผลักดันจากผู้บริหาร 2) การสื่อสารที่ดี (communication) 3) การกำกับติดตามอย่างต่อเนื่องในทุกระดับ

  1. สมรรถนะและความสามารถ (Competency & skill) บุคลากรผู้ปฏิบัติงานในระบบยาต้องเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อเป็นการประกันคุณภาพว่ามีสมรรถนะและความสามารถเพียงพอต่อการให้บริการ ทั้งนี้ต้องมีการพัฒนาบุคลากรอย่างสม่ำเสมอ โดยประเด็นที่ต้องพัฒนาบุคลากรในระบบยานั้นควรมาจากปัญหาหรือการวิเคราะห์ข้อมูลความคลาดเคลื่อนทางยาของโรงพยาบาล
  2. การจัดเก็บรักษาและคงสภาพยา (Drug storage & stability) ยาทุกรายการควรมีการได้รับการเก็บสำรองยาอย่างเหมาะสม ปลอดภัย มีคุณภาพและความคงตัว ต้องมีการควบคุมอุณภูมิ ความชื้น ทุกแห่งที่มีการสำรองยา และมีการติดตามบันทึกการควบคุมอุณหภูมิทุกแห่ง มีการควบคุมการสำรองที่คลังรัดกุม สถานที่มั่นคงแข็งแรง มีระบบ FEFO ทุกแห่งที่มีการสำรองจำนวนมาก พื้นที่จัดเก็บยาที่คลังเวชภัณฑ์เพียงพอ อยู่ในสถานที่ไม่เสี่ยงต่ออุทกภัย หรือ ภัยธรรมชาติตามพื้นที่ มีการจัดเก็บยาเสพติดรัดกุมทุกแห่งที่มีการสำรอง มีถังดับเพลิงพร้อมใช้ มีระบบสำรองไฟครอบคลุมพื้นที่เก็บรักษายาที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ โดยเฉพาะยาแช่เย็น มีระบบ Recall ยากรณีเกิดปัญหาคุณภาพ  ที่สำคัญผู้ปฏิบัติต้องเข้าใจเป้าหมาย มีการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ
  3. การจ่ายยาโดยเภสัชกร (Dispensing by pharmacist) การส่งมอบยาให้กับผู้ป่วยต้องทำโดย “เภสัชกร” เภสัชกรต้องมีทักษะ ความรู้ ในการประเมินปัญหาผู้ป่วยขณะส่งมอบยา ค้นหาปัญหาการใช้ยาขณะส่งมอบยากับผู้ป่วย เช่น กำหนด Prime question ตามบริบทโรงพยาบาล ต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องของยาก่อนที่จะส่งมอบ และมีการให้คำแนะนำใช้ยาอย่างเหมาะสม
  4. ยาฉุกเฉิน (Emergency drugs) ยาฉุกเฉินเป็นยาที่มีความจำเป็นต้องใช้อย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขภาวะความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใดหรือคาดการณ์ไม่ได้ หากในภาวะดังกล่าวไม่สามารถใช้ยาได้อย่างทันท่วงที (time) อาจอาจส่งผลให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้  แต่อาจพบความเสี่ยงเนื่องจากขาดการตรวจสอบยา (check) อย่างเหมาะสม ดังนั้น แนวทางการจัดการยาฉุกเฉินที่ดี คณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด ควรมีการกำหนดนโยบาย ได้แก่ กำหนดรายการยาให้ชัดเจน ปริมาณที่เหมาะสม และระบุว่าจะใช้ในภาวะฉุกเฉินใด เมื่อการใช้แล้วต้องมีการทดแทนจำนวนยาทันทีเพื่อให้มีความพร้อมใช้ตลอดเวลา
  5. การจัดเตรียมยา (Medication preparations) เพื่อให้องค์กรมีความมั่นใจในคุณภาพยาที่ผลิต ต้องมีการดำเนินการดังนี้ ยาทั่วไป สถานที่ต้องสะอาด สว่าง สงบ เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการเตรียมยาต้องมีมาตรฐานและสะอาด ต้องจัดทำเอกสารการผลิตและการบันทึก (Master&Working formula) มีการประกันคุณภาพยาที่ผลิต มีฉลากที่ระบุส่วนประกอบที่สำคัญ
  6. ความคลาดเคลื่อนทางยา (Medication errors) เป็นเหตุการณ์ความผิดพลาดทางด้านยาที่ควรป้องกันได้ (preventable) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหรือนำไปสู่การใช้ยาที่ไม่เหมาะสมหรือส่งผลอันตรายต่อผู้ป่วย คณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัดต้องกำหนดนโยบายการป้องกันและรายงานความคลาดเคลื่อนทางยา  มีแนวปฏิบัติการรายงานที่ต้องครอบคลุมทุกขั้นตอนการใช้ยา กำหนด Definition ความคลาดเคลื่อนแต่ละขั้นตอน และ วางระบบการค้นหาความคลาดเคลื่อนทางยาทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพนำมาวิเคราะห์ เพื่อปรับกระบวนการทำงานหรือค้นหาแนวทางปฏิบัติใหม่ให้เกิดความปลอดภัย
  7. เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ด้านยา (Adverse drug event: ADE) ต้องกำหนดนโยบายการรายงานระดับโรงพยาบาลโดยสร้างความเข้าใจหรือกำหนดเหตุการณ์ที่ต้องรายงานให้ตรงกันทั้งองค์กร เช่น การแพ้ยา (drug allergy), เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ด้านยาร้ายแรง (serious type A ADE)  มี flow การเฝ้าระวังและรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา กำหนดบทบาทแต่ละวิชาชีพให้ชัดเจน มีระบบป้องกันแพ้ยาซ้ำ มีเภสัชกรรับผิดชอบดูแลระบบ ที่สำคัญ เภสัชกรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับงานบริการต้องมีความรู้ ทักษะ Basic ADR  

“ไม่ละเลย คิดเป็นระบบ จะมองเห็นโอกาส”

  1. ยาที่มีความเสี่ยงสูง (High alert drugs: HAD) ต้องมีนโยบายการจัดการกับยาความเสี่ยงสูง มีการกำหนดรายการยาความเสี่ยงสูงโรงพยาบาล ครอบคลุมตามบริบทของโรงพยาบาล มีแนวทางปฏิบัติภาพรวมของการใช้ยาตั้งแต่การเก็บรักษายาจนการติดตามเฝ้าระวัง โดยยึดหลักการ 1) prevent errors 2) make errors visible 3) mitigate harm และมีการติดตามการปฏิบัติ  
  2. การประสานรายการยา (Medication reconciliation) คณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัดควรกำหนดเป็นนโยบายการจัดการดำเนินการ ระดับโรงพยาบาล โดยเริ่มดำเนินการในกลุ่มผู้ป่วยบางกลุ่มตามบริบทโรงพยาบาล มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนพร้อมทั้งกำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ละสาขาวิชาชีพ มีเภสัชกรให้คำปรึกษาด้านยา (discharge counselling) ในผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมาย
  3. การคัดกรองใบสั่งยา (Prescription screening) ควรมีการกำหนดนโยบายทบทวนคำสั่งใช้ยาจาก PTC โดยวางระบบให้เภสัชกรเข้าถึงคำสั่งแพทย์ ข้อมูลผู้ป่วยและข้อมูลยา วางผังงานให้เภสัชกรได้ทบทวนคำสั่งตั้งแต่แรก กำหนดเกณฑ์การทบทวนคำสั่งใช้ยา ออกแบบสารสนเทศให้เอื้อต่อการทบทวนคำสั่งการใช้ยา/ป้องกันอันตรายที่เกิดจากการใช้ยา  และหากพบปัญหาด้านยา ความไม่ปลอดภัย หรือความไม่เหมาะสม เภสัชกรต้องประสานแพทย์ผู้สั่งใช้ จากนั้นเก็บข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์ปรับปรุงและพัฒนางาน
  4. ระบบกระจายยา (Drug distribution system) ระบบกระจายยาต้อง 1 day หรือ 3 days  มีการกำหนดวงรอบยาโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ มีแนวปฏิบัติในการกระจายยาที่ผู้ป่วยนำมาจากบ้าน ฉลากยาที่จ่ายจะต้องประกอบด้วยข้อมูลครบถ้วน วางระบบคืนยาเมื่อแพทย์หยุดใช้หรือกลับบ้าน  กลุ่มงานเภสัชกรรมต้องมีวิธีปฏิบัติในการคืนยาที่ชัดเจน ต้องมีการตรวจสอบข้ามวิชาชีพ (Cross check) เมื่อรับยาจากกลุ่มงานเภสัชกรรม ใช้ระบบกระจายยาในการค้นหาความคลาดเคลื่อนทางยา

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here