เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ Adverse Event

0
7865
เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์
เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ Adverse Event

      กระบวนการดูแลผู้ป่วยต้องออกแบบให้สอดคล้องกับความรู้ทางการแพทย์ที่เป็นปัจจุบัน   และมีการจัดบริการโดยบุคลากรจากสหวิชาชีพที่ทำงานประสานกัน โดยมีอุปกรณ์ อาคารสถานที่ และเครื่องมือที่ทันสมัย ปัจจัยจำนวนมากเหล่านี้มีความสลับซับซ้อนและควบคุมให้สมบูรณ์แบบตลอดเวลาได้ยาก ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากบริการทางการแพทย์ (Adverse Event – AE)ซึ่งเป็นปัญหาที่ท้าทายระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยของทุกประเทศทั่วโลก

Adverse Event
Adverse Event

       จากการศึกษาโดย OECD ในปี 2020 พบว่า ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของผู้ป่วยประสบ AE ในระหว่างกระบวนการดูแลรักษา  ซึ่ง AE ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 13 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ

      และเมื่อวัดด้วย Disability Adjusted Life Years (DALYs) จะพบว่า Patient harm เป็น 1 ใน 5 อันดับแรกของภาระโรคของโลก (Global Burden of Disease)

      จากรายงานในระบบ National Reporting and Learning System (NRLS) ของประเทศไทย พบว่าในปีงบประมาณ 2563 มีรายงาน AE ทางคลินิกเข้ามาในระบบจำนวน 468,134 ครั้ง

        AE ที่กระทบถึงตัวผู้ป่วย และมีความรุนแรงระดับ E-I พบได้ 7.22%

        ความคลาดเคลื่อนทางยาเป็น AE ที่พบบ่อยที่สุด แต่ไปกระทบถึงตัวผู้ป่วยในจำนวนที่ไม่ต่างจาก AE ตัวอื่นมากนัก

        การดูแลผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉิน และกระบวนการดูแลผู้ป่วยทั่วไป เมื่อเกิด AE แล้วมีโอกาสที่จะมีความรุนแรงในระดับ G-I สูง

        การผ่าตัดที่ไม่ปลอดภัย การป้องกันการติดเชื้อที่ไม่ดี และกระบวนการดูแลผู้ป่วยที่ไม่ได้มาตรฐาน เมื่อเกิด AE แล้ว จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยสูงขึ้นมาก

        สาเหตุการเกิด AE ภาพที่มักใช้บ่อยในการอธิบายการเกิด AE คือ Swiss Cheese Model (ตามภาพ)

        ด้วยข้อจำกัดด้านกำลังคนและงบประมาณ ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งไม่สามารถวางระบบงานที่มีความรัดกุมและเกิดความปลอดภัยสูงสุดได้    

       นอกจากนี้ วัฒนธรรมการทำงานที่ไม่ประสานความร่วมมือกัน ไม่กล้าคุยกันเรื่องความเสี่ยง และการสื่อสารภายในองค์กรที่ไม่ดี ก็ยิ่งทำให้รูรั่วในระบบใหญ่ขึ้น

       การที่องค์กรมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถไม่เหมาะสมกับงาน ขาดความตระหนักรู้ในเรื่องความปลอดภัย และขาดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดขององค์กร

       การขาดการติดตามความรู้ทางการแพทย์และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้ขั้นตอนบริการที่วางไว้ล้าสมัย และมีความเสี่ยงสูงเมื่อเทียบกับหน่วยงานอื่นที่มีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

       การจัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ไม่เหมาะสม ขาดการบำรุงรักษาที่ดี เป็นอีกหนึ่งรูรั่วของขั้นตอนบริการที่น่าจะป้องกันได้

        มีการประเมินว่าประมาณครึ่งหนึ่งของ AE น่าจะป้องกันได้ด้วยความรู้และเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน

        ดังนั้น โรงพยาบาลทุกแห่งจึงควรเรียนรู้เรื่องการบริหารความเสี่ยงและหาแนวทางลด AE ลงให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ป่วยและทุกผู้คนที่เกี่ยวข้องกับงานบริการสุขภาพ

Photo by Sam Moqadam on Unsplash

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here