เวลาเขียนแบบประเมินตนเองของ สรพ. คำๆหนึ่งที่โรงพยาบาลมักจะไม่ค่อยเข้าใจว่าจะให้เขียนอธิบายว่าอย่างไร และโรงพยาบาลก็ไม่เคยนำคำๆนี้ไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนจริงๆ คือคำว่า core competency ขององค์กร
core competency ขององค์กร คือ กระบวนการหรือทักษะความเชี่ยวชาญสำคัญที่โรงพยาบาลมีอยู่ที่จะช่วยให้โรงพยาบาลสามารถทำงานได้ตามพันธกิจที่ตั้งไว้ ดังนั้น core competency จึงควรเป็นสิ่งที่โรงพยาบาลมีอยู่แล้ว หรือจะสามารถพัฒนาให้มีขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ เพราะโรงพยาบาลต้องนำ core competency ไปใช้ในการขับเคลื่อนพันธกิจขององค์กร โดยทั่วไป core competency ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งจะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความโดดเด่นและสร้าง brand ให้กับโรงพยาบาลแห่งนั้น
บางครั้งโรงพยาบาลไปนำวิสัยทัศน์ที่มีการกำหนดมา มาเป็น core competency ขององค์กร เช่น วิสัยทัศน์กำหนดว่า จะเป็นศูนย์ดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุ ก็เลยมากำหนด core competency ของโรงพยาบาลว่าคือ ความเป็นเลิศด้านการดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุ แต่สภาพความเป็นจริง ทั้งอาคารสถานที่ เครื่องมือ บุคลากร และกระบวนการทำงาน ไม่มีส่วนไหนที่แสดงความเป็นเลิศได้เลย ความเป็นเลิศด้านการดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุจึงไม่ใช่ core competency ของโรงพยาบาลแห่งนี้
บ่อยครั้งที่โรงพยาบาลนำความเชี่ยวชาญพิเศษของแพทย์เฉพาะทางที่มีอยู่ 1 คน มาบรรยายเป็น core competency ของโรงพยาบาล ซึ่งอาจจะใช่หรือไม่ใช่ก็ได้ คำถามง่ายๆ ที่โรงพยาบาลควรถามตนเอง คือ ถ้าแพทย์ท่านนั้นย้ายไปโรงพยาบาลอื่น core competency ที่โรงพยาบาลเข้าใจว่ามีอยู่ จะสามารถสร้างกลับมาได้ในระยะเวลาไม่นานนักได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ สิ่งนี้ก็ไม่ใช่ core competency ที่มั่นคงในระยะยาวนัก
ในเชิงการวางแผน พันธกิจส่วนที่โรงพยาบาลต้องทำ แต่โรงพยาบาลไม่มี core competency จำเป็นต้องมีการจัดการ มิฉะนั้นพันธกิจที่วางไว้ก็จะไม่สำเร็จ ทางเลือกที่ผู้บริหารจะใช้ในการขับเคลื่อนพันธกิจในส่วนที่องค์กรไม่มี core competency ได้แก่
- การสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่มีเป้าหมายร่วมกัน (collaboration)
- การเชิญผู้เชี่ยวชาญมาร่วมลงทุนการดำเนินงาน (joint venture)
- การจ้างเหมาบริการกับผู้ที่เชี่ยวชาญกว่า (outsourcing)