เคล็ดลับงานคุณภาพ วันนี้ชวนมาเรียนรู้ เรื่อง
การจัดการรพ.ภายใต้สถานการณ์การระบาดของ COVID-19
“ฝากถึงบุคลากรสาธารณสุขว่า ไม่มีใครรู้ว่าพวกท่านเป็นวีรบุรุษ แต่เราเรียกกันเองว่าเป็น มดงานนิรนาม เราไม่ได้ทำเพื่อชื่อเสียงหน้าตา แต่เราทำเพื่อให้คนไทยทุกคนปลอดภัย ในวันหนึ่งเมื่อเราชนะ ท่านจะภูมิใจในสิ่งที่ท่านได้ทำ” นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค HA Live ณ สรพ. 11 มีนาคม 2563
นอกจากคำพูดที่ก่อให้เกิดกำลังใจในหมู่ชาวสาธารณสุขที่เป็นด่านหน้าในการปะทะกับ COVID-19 แล้ว รองอธิบดีกรมควบคุมโรคยังได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับการจัดการโรงพยาบาลในอีกหลายประเด็น คือ
1. COVID-19 แพร่เชื้อผ่านละอองฝอยน้ำลายและการสัมผัสเชื้อนำเข้าสู่ร่างกาย (droplet transmission) เชื้อมีระยะฟักตัวสั้น Reproductive Number ประมาณ 2.2 มี doubling time 1 สัปดาห์ (จำนวนผู้ป่วยขยายเป็นเท่าตัวในทุก ๆ หนึ่งสัปดาห์) อัตราการเสียชีวิตไม่สูงเหมือน SAR ผู้ป่วย 90%หายได้เอง ผู้ป่วย 5-10% ต้องนอนโรงพยาบาล (ข้อมูลในประเทศจีน มีผู้ป่วย 5% เป็นบุคลากรทางการแพทย์)
2. เป้าหมายการรับมือกับ COVID-19 ในประเทศไทย คือ การชะลอการระบาดไปให้ได้นานที่สุด เพื่อลดความแออัด ลดการแย่งชิงทรัพยากร เพราะถ้ามีคนป่วยจำนวนมากพร้อม ๆ กัน อัตราตายจะสูง เมื่อเข้าสู่ระยะการระบาดในวงกว้าง การจัดการจะเหมือนไข้หวัดใหญ่ คือ คนไข้อาการเล็กน้อยให้คำแนะนำ แล้วพักรักษาตัวที่บ้าน เน้นการดูแลคนที่บ้านไม่ให้ติดเชื้อ อาการมากให้รีบมาโรงพยาบาล
3. ที่จุดคัดกรองและ ARI (Acute Respiratory Infection) Clinic สิ่งที่ต้องทำคือ universal precaution คือ ดูแลคนไข้ทุกคนเสมือนว่าเป็นผู้ป่วย COVID-19
4. ในระดับจังหวัด ควรวางแผนและซ้อมการรับมือแบบ aggressive scenario คือ สมมุติสถานการณ์การระบาดแบบรุนแรงที่สุดและมีการติดเชื้อในหมู่เจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งด้วย อาจกำหนดให้โรงพยาบาลชุมชนบางแห่ง เป็น cohort ward ของจังหวัดหรือพื้นที่ใกล้เคียง และจัดการให้ผู้ป่วยโรคอื่นไม่ต้องมารับการตรวจที่โรงพยาบาล เพื่อสงวนเตียงไว้รักษาผู้ป่วย COVID-19 ที่มีอาการหนัก
5. ภายใต้บริบทที่มีความจำกัดของทรัพยากร การสวมชุด cover-all น่าจะจำเป็นเฉพาะในการปฏิบัติงานที่มีโอกาสเสี่ยงสูงภายในห้องแยกโรคที่ต้องทำหัตถการที่ก่อให้เกิด aerosol ส่วนการทำหัตถการอื่น หรือการตรวจคัดกรองผู้ป่วย การใช้หน้ากากอนามัยร่วมกับชุดกาวน์กันน้ำ (water-proof) ก็น่าจะเพียงพอ
6. ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยสงสัยหรือผู้ป่วยติดเชื้อ ให้สวมหน้ากากอนามัยให้กับผู้ป่วย ส่วนเจ้าหน้าที่ให้สวมหน้ากากอนามัยร่วมกับการใส่กาวน์กันน้ำก็เพียงพอ แต่ถ้ายังมีความกังวล ในส่วนเจ้าหน้าที่ ก็ใส่ N-95 ได้ แต่ไม่ว่าจะใส่หน้ากากอนามัยหรือ N 95 สิ่งสำคัญคือ ต้องทำให้หน้ากาก fit กับใบหน้า โดยใช้ micropore ปิดที่บริเวณรอยต่อระหว่างหน้ากากกับใบหน้าให้แนบสนิท
7. เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลผู้ป่วยที่สงสัยหรือผู้ป่วยติดเชื้อ ที่แต่งชุด PPE ถูกต้องและปฏิบัติตาม protocol ไม่ถือว่าเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด สามารถปฏิบัติงานต่อเนื่องได้ตามปกติ แต่เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ควรมีเจ้าหน้าที่ safety อีกหนึ่งคน เพื่อกำกับการปฏิบัติตาม protocol ของผู้ปฏิบัติงาน หากทำไม่ถูกต้องจะถือว่าผู้ปฏิบัติงานคนนั้นเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดทันที