ในแบบประเมินตนเองส่วน Clinical Tracer/ Clinical Quality Summary มีคำแนะนำว่า
“Purpose: แสดงเป้าหมายของการดูแลผู้ป่วยและอาจแสดง Driver Diagram ที่แสดงองค์ประกอบสำคัญในการให้บริการที่มีคุณภาพ”
Driver Diagram เป็นการแสดงวิธีคิดของทีมงานว่า ถ้าทีมงานต้องการบรรลุเป้าหมาย (aim) ในระดับผลลัพธ์ของเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มีสิ่งใดที่ทีมงานคิดว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก (primary driver) ที่ช่วยให้เกิดการบรรลุเป้าหมาย และมีสิ่งใดที่เป็นแรงขับเคลื่อนรอง (secondary driver) ที่ช่วยส่งเสริมให้มีแรงขับเคลื่อนหลักมากยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อทีมงานเห็นความสัมพันธ์เหล่านี้ชัดเจนตรงกันแล้ว ทีมงานมีแนวคิดใหม่ๆ อะไรบ้างที่จะเริ่มทำ (change ideas) ซึ่งจะส่งผลในทางบวกต่อแรงขับเคลื่อนเหล่านี้
การเขียนผังก้างปลา (Fish-bone Diagram) ที่หลายคนคุ้นชิน จะเป็นการเขียนโดยเอาปัญหาเป็นตัวตั้ง แล้วแสดงสาเหตุหลักและสาเหตุรองที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว ในขณะที่การเขียน Driver Diagram จะพลิกจากการเอาปัญหาเป็นตัวตั้ง มาเป็นการเอาเป้าหมายที่อยากได้เป็นตัวตั้ง แล้วแสดงแรงขับเคลื่อนหลักและแรงขับเคลื่อนรองที่ต้องสร้างขึ้น โดยใช้แนวคิดใหม่ เทคโนโลยีใหม่ หรือคนที่มีศักยภาพใหม่ มากระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของแรงขับเคลื่อนเหล่านี้