Empowering Clinical Excellence Through Evidence-based Practices

0
1255

     การส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยด้านยา คือ การทำให้ใบสั่งยามีความปลอดภัย โดย empower ให้มีการสั่งใช้ยาตาม evidence-based practice มีการใช้หลักฐานทางวิชาการประกอบการตัดสินใจ หรือการสั่งใช้ยาตาม guideline 

     งานวิจัยที่กล่าวถึงการสั่งใช้ยาของแพทย์แบบ การใช้ยาแบบนอกข้อบ่งใช้ (off-label) ในผู้ป่วยเด็กที่เป็นไมเกรน พบมีการสั่งใช้ยา ร้อยละ 66.7 และ ในกลุ่มที่สั่งใช้ยา พบเป็นการสั่งใช้ยาแบบ off-label use ร้อยละ 60.34 เมื่อวิเคราะห์ถึงผู้สั่งใช้ยา แบบ off-label พบว่า แพทย์เฉพาะทางมีการสั่งใช้ยาแบบ off-label น้อยกว่า general physician ในทางตรงกันข้าม งานวิจัยที่ศึกษาความคิดเห็นในการสั่งใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ของสูตินรีแพทย์ พบว่า specialist มีการสั่งใช้ยาที่แตกต่างกัน งานวิจัยทั้ง 2 ชิ้น เป็นเพียงตัวอย่างที่นำมาแสดงให้เห็นว่าการสั่งใช้ยาของแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์เฉพาะทางหรือแพทย์ทั่วไป ไม่ได้นำ evidence base มาประกอบการตัดสินใจสั่งใช้ยา  หรือ ใช้ evidence base ไม่ถูกต้อง จึงควรหาวิธีการที่จะทำให้ผู้สั่งใช้ยามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ evidence-based medicine (EBM) เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่ถูกต้อง จากผลการศึกษาในงานวิจัยผลของการให้ความรู้เรื่อง EBM ในแพทย์ ต่อทัศนคติ ความรู้และการปฏิบัติทางคลินิก ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า การให้ความรู้ด้าน EBM เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางคลินิกเมื่อเทียบกับก่อนให้ความรู้ แต่ผลในการสั่งใช้ยาไม่พบความแตกต่างของการสั่งใช้ในทั้ง 2 กลุ่ม จากข้อค้นพบดังกล่าว อาจสรุปได้ว่า การให้ความรู้เรื่อง EBM ไม่สามารถส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ ดังนั้น การสอนอาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการให้ความรู้  มีงานวิจัยที่สอบถามถึงแหล่งความรู้ที่แพทย์เลือกใช้เมื่อต้องการ พบว่า ข้อมูลที่แพทย์ทุกคนเลือกใช้ คือ หาข้อมูลจากช่องทางออนไลน์ อันดับรองมาคือปรึกษาเพื่อนแพทย์ด้วยกัน และสอบถามจากเภสัชกร มีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากที่ตอบว่าไม่เลือกใช้วิธีการเปิดหนังสือ

     ข้อมูลการศึกษาถึงความคลาดเคลื่อนของการสั่งใช้ยาในเด็กของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ ในปริมาณสูง จึงได้ให้ intervention  2 แบบร่วมกัน คือให้ความรู้และให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทำหน้าที่ตรวจสอบใบสั่งยาซ้ำ หลังจากที่ intervention แล้วพบว่าอัตราสั่งใช้ยาคลาดเคลื่อนลดลง หลังจากนั้น ทำการหยุดขั้นตอนที่ให้แพทย์ช่วยตรวจสอบสั่งยา พบว่าอัตราการเกิด prescribing กลับเพิ่มขึ้นมาอีก ในขณะที่ยังคงมีกิจกรรมให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลดังกล่าว อาจสรุปได้ว่า การตรวจสอบซ้ำช่วยลดความคลาดเคลื่อนได้จริง แต่หากต้องการให้มีคนมาทำหน้าที่ตรวจสอบความเหมาะสมของการสั่งใช้ยา อาจต้องจ้างเภสัชกรเพิ่มขึ้น จำนวน 28 คน ซึ่งคิดเป็นเงินจำนวนมากต่อปี 

     การนำระบบการสั่งยา CPOE และ CDSS (clinical decision support system) เข้ามาช่วยในการสั่งใช้ยา จะสามารถช่วยลดอุบัติการณ์ของความคลาดเคลื่อนทางยาได้ ซึ่งจุดคุ้มทุนจะเกิดขึ้นหลังจากใช้งานไปประมาณ 5 ปี เมื่อเทียบกับการจ้างคนเพิ่ม  การยอมปล่อยให้เกิดความคลาดเคลื่อนทางยา  อาจส่งผลเสียมากกว่าทั้งในแง่ของความน่าเชื่อถือของโรงพยาบาลและค่าใช้จ่ายเมื่อเกิดความคลาดเคลื่อนในการสั่งใช้ยา การลงทุนในโปรแกรมที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการสั่งใช้ยาเหมาะสมจะช่วยทำหน้าที่ตรวจสอบรายการยาที่สั่งตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่น การเกิด drug interaction ความเหมาะสมของขนาดยา หรือการแพ้ยา เป็นต้น

     บทสรุป การส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยในการสั่งใช้ยา ด้วยการสั่งใช้ยาตาม EBM วิธีการให้ความรู้มีผลน้อย ในขณะที่การให้ความรู้ ร่วมกับการใช้ EMR และ CDSS มีผลกระทบมากต่อการพฤติกรรมการสั่งใช้ยาของแพทย์ และทำให้เกิดความเหมาะสมในการสั่งใช้ยาเพิ่มขึ้น

ผศ.ดร.ภญ.ดารณี เชี่ยวชาญธนกิจ ผู้ถอด/เรียบเรียง

ครีเอทีฟคอมมอนส์
งานนี้ใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ แบบแสดงที่มาไม่ใช้เพื่อการค้า ไม่คัดแปลง

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here