ENV Gamechanger: สิ่งที่คนทำงานและทีมนำระบบสนับสนุนควรรู้เพื่อยกระดับผลลัพธ์ระบบสิ่งแวดล้อมในการดูแลผู้ป่วย

0
2428
ENV Gamechanger: สิ่งที่คนทำงานและทีมนำระบบสนับสนุนควรรู้เพื่อยกระดับผลลัพธ์ระบบสิ่งแวดล้อมในการดูแลผู้ป่วย

โรงพยาบาลสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในการดูแลผู้ป่วย/ผู้รับงานอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ด้วยการนำ Game Changer, Growth Mindset
รวมถึงแนวคิดการพัฒนา เช่น 3C-DALI มาใช้ร่วมกันอย่างมีคุณค่า

การเป็น ENV Game Changer ด้วยแนวคิด “SMART” องค์กรใดที่อยากเป็น Game Changer สามารถใช้แนวคิด “SMART” ในการดำเนินการซึ่งประกอบด้วย

  • S: SIMPLE (ง่าย) เริ่มต้นด้วยแนวคิดที่ไม่ซับซ้อน อาจทดลองในกลุ่มเล็กๆ จะทำให้สามารถติดตามและปรับปรุงได้อย่างรวดเร็ว ผลกระทบน้อยเมื่อล้มเหลว
  • M: Meaningful (มีคุณค่า) ทั้งต่อกระบวนการหรือระบบ
  • A: Actionable (ทำได้จริง) และขยายผลใช้ได้ในวงกว้าง
  • R: Relational (สร้างความสัมพันธ์) คิดเชื่อมโยงกับระบบ/กระบวนการ/หน่วยงานที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง
  • T: Transformational (เปิดรับความเปลี่ยนแปลง) ด้วยมุมมองที่เปิดกว้างเพื่อรับทั้งความรู้ ความเห็น นำสู่พัฒนาด้วยความเชื่อว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้
  • S: Scalable (มีความเป็นไปได้) สามารถนำไปใช้แล้วได้คาดว่าได้ผลดี

    เริ่มต้นเป็น
    Game Changer ด้วยการเข้าใจเป้าหมายของการจัดการสิ่งแวดล้อมในการดูแลผู้ป่วย/ผู้รับผลงาน การจัดการสิ่งแวดล้อมในการดูแลผู้ป่วย/ผู้รับผลงาน มีเป้าหมายเพื่อ

    • ให้โรงพยาบาลมีสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่เอื้อต่อความปลอดภัยและความผาสุกของผู้ป่วย/ผู้รับผลงาน เจ้าหน้าที่ และผู้มาเยือน
    • สร้างความมั่นใจว่าผู้อยู่ในพื้นที่อาคารสถานที่จะปลอดภัยจากอัคคีภัย วัสดุและของเสียอันตราย หรือภาวะฉุกเฉินอื่นๆ
    • มีเครื่องมือที่จำเป็น พร้อมใช้งาน ทำหน้าที่ได้เป็นปกติ และมีระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็น พร้อมใช้งานได้คลอดเวลา
    • องค์กรแสดงความมุ่งมั่นในการที่จะทำให้โรงพยาบาลเป็นสถานที่ที่ปลอดภัย เอื้อต่อสุขภาพ สร้างเสริมสุขภาพ การเรียนรู้ การสร้างความสัมพันธ์และพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งแนวคิดสำคัญที่สามารถขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายคือ Visual Management, Human-centered Design และ User-centered Design

    จากการเข้าใจเป้าหมาย/แนวคิด ผู้ที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนคือผู้นำและทีมนำ ที่จะต้องมีบทบาทในการวางแผนกลยุทธ์ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม กำหนดนโยบาย/แผนปฏิบัติการ ศึกษามาตรฐานที่เกี่ยวข้อง การออกแบบพื้นที่ แผนการบำรุงรักษา การวิเคราะห์และบริหารจัดการความเสี่ยง/มาตรการป้องกัน การสนับสนุนให้มีการนำนวัตกรรม/เทคโนโลยีมาใช้แทนคน การกำกับติดตามการดำเนินงานโดยผู้นำ การติดตามตัวชี้วัด/อุบัติการณ์ การรายงานผล รวมทั้งรวบรวมผลลัพธ์กำกับติดตามมาทบทวนและวิเคราะห์เพื่อหาโอกาสการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

    ENV Game Changer กับมาตรฐาน HA ฉบับที่ 5 และเครื่องมือการพัฒนาคุณภาพที่เกี่ยวข้อง
    การพัฒนาระบบบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในการดูแลผู้ป่วย/ผู้รับผลงานตามมาตรฐาน HA ฉบับที่ 5 สามารถเกิดคุณค่าได้โดยใช้แนวคิด 3P เพื่อทำความเข้าใจเป้าหมาย (Purpose) ของมาตรฐาน จากนั้นนำมาตรฐานไปเรียนรู้จากการทบทวนการปฏิบัติที่หน้างาน นำสู่ค้นหาโอกาสพัฒนาในระยะสั้น/ระยะยาว (Process) โดยต้องครอบคลุมทุกพื้นที่และคำนึงถึงความเชื่อมโยงกัน และทบทวนประเมินผลในภาพรวมเชิงระบบและการบรรลุเป้าหมาย (Performance) ผ่านการทบทวนตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ในกระบวนการสำคัญและตัวชี้วัดผลลัพธ์ นอกจากนั้นต้องมีการศึกษาควบคู่กับกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย

    นอกจากนั้นแล้ว ยังสามารถใช้แนวคิด 3C-DALI ควบคู่กับการใช้ HA Scoring Guideline เพื่อประเมินระดับและขับเคลื่อนการพัฒนา โดยอย่างน้อยจะต้องได้ระดับคะแนน 3 (มีการปฏิบัติที่ครอบคลุมและได้ผล มีการวิเคราะห์และใช้ประโยชน์จากตัวชี้วัด) หรือระดับคะแนน 4 (มีการปรับปรุงกระบวนการต่อเนื่อง มีผลลัพธ์อยู่ในเกณฑ์ดี/สูงกว่าค่าเฉลี่ย)

    เมื่อพิจารณามาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสิ่งแวดล้อมในการดูแลผู้ป่วย/ผู้รับผลงานให้มีคุณภาพ จะพบว่าอยู่ในหลายส่วนโดยมีประเด็นสำคัญตามมาตรฐานโดยสรุปคือ

    II-3.1 ก. ความปลอดภัยและสวัสดิภาพ มุ่งเน้นการตรวจสอบความแข็งแรงของอาคารสูง/อาคารขนาดใหญ่ รวมทั้งการมีแผนบริหารความเสี่ยง แผนการบำรุงรักษา/พัฒนา/ปรับปรุงด้านอาคาร สถานที่ และสิ่งแวดล้อมโดยมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง

    II-3.1 ข. การจัดการวัสดุและของเสียอันตราย ครอบคลุมการจัดทำบัญชีวัสดุ/ของเสียอันตราย สถานที่จัดเก็บที่ปลอดภัย การใช้อุปกรณ์ป้องกัน การกำจัดที่เหมาะสม และการกำกับติดตามเพื่อหาโอกาสในการพัฒนา

    II-3.1 ค. ความปลอดภัยจากอัคคีภัย มีแผนป้องกัน/ระงับอัคคีภัย/การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย การจัดทำแผนผังทางหนีไฟ อุปกรณ์แจ้งเตือน/ระงับอัคคีภัย โดยจะต้องมีการฝึกซ้อมในระดับโรงพยาบาลอย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับกับมาตรฐาน I-6.2 ค. (ความปลอดภัยจากภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉิน) ที่ต้องมีการวิเคราะห์ว่ามีภัยฉุกเฉินหรือภัยพิบัติที่กระทบต่อการดำเนินงานของโรงพยาบาล โดยจะต้องมีการจัดทำแผนและฝึกซ้อมแผนเพื่อเตรียมความพร้อมและหาโอกาสพัฒนาแผนให้รัดกุม

    II-3.2 ก. เครื่องมือ เน้นการมีผู้รับผิดชอบดูภาพรวมระบบเครื่องมือแพทย์ทั้งโรงพยาบาลที่ชัดเจน และมีการทบทวนอุบัติการณ์ที่เกี่ยวกับความไม่เพียงพอ ไม่พร้อมใช้ ชำรุด รวมถึงผลการทดสอบ/บำรุงรักษา ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา/ซ่อมแซม เพื่อนำมาวิเคราะห์และวางแผนพัฒนาต่อเนื่อง

    II-3.2 ข. ระบบสาธารณูปโภค มุ่งเน้นการมีแผนผังการติดตั้งระบบต่างๆ โดยเฉพาะระบบไฟฟ้า/ประปา /ระบายอากาศและปรับอากาศ/ก๊าซทางการแพทย์/สุญญากาศ/ขนส่ง/สื่อสาร และมีความเพียงพอในการใช้งาน มีแผนการช่วยเหลือกรณีลิฟต์ขัดข้องและการซ้อมแผนสม่ำเสมอ และสถานที่ติดตั้งระบบสาธารณูปโภคต้องมีความสะอาดและเป็นไปตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง

    II-3.3 ก. การสร้างเสริมสุขภาพ โรงพยาบาลต้องมีการจัดสภาพแวดล้อมให้สะอาด โล่ง มีระบบระบายอากาศ ปรับอากาศ แสง ที่เหมาะสม มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมกับทั้งผู้รับบริการและเจ้าหน้าที่

    II-3.3 ข. การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ครอบคลุมระบบบำบัดน้ำเสียที่ต้องมีการปรับปรุงหากพบว่ามีผลตรวจใดที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ระบบจัดการขยะที่ต้องกำหนดประเภทขยะตามมาตรฐาน มีการกำจัดขยะอย่างเหมาะสมและกรณีที่จ้างกำจัดขยะ ต้องมีการกำกับติดตามกระบวนการขนย้ายและการกำจัดให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงการลดปริมาณของเสีย และการร่วมมือกับชุมชนรอบข้างในการปกป้อง/ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม

    นอกจากมาตรฐาน II-3 (สิ่งแวดล้อมในการดูแลผู้ป่วย) แล้ว ยังมีมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้องอีกได้แก่มาตรฐานตอนที่ II-4.2 ก.(2) การควบคุมสิ่งแวดล้อมขณะก่อสร้างให้ปลอดภัยและลดผลกระทบ เช่น ฝุ่น เสียง รวมถึงตอนที่ II-4.2 ก.(3) การลดความเสี่ยงในพื้นที่ที่ควรให้ความสำคัญ เช่น หน่วยจ่ายกลาง หน่วยซักฟอก หน่วยโภชนาการ ห้องผ่าตัด ห้องคลอด หอผู้ป่วยที่มีความแออัด เอกซเรย์ ทันตกรรม หน่วยไตเทียม พื้นที่เตรียมยา ฯลฯ

    เครื่องมือสำคัญอีกเครื่องมือหนึ่งที่โรงพยาบาลสามารถใช้ทบทวนเพื่อตรวจสอบความครบถ้วน เหมาะสม ความพร้อมใช้ และค้นหาโอกาสพัฒนาด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมในการดูแลผู้ป่วยคือ แบบประเมินตนเองโครงสร้างอาคารสถานที่ สิ่งแวดล้อม และหน่วยงานสำคัญในโรงพยาบาล หรือที่เรียกกันว่า (ENV Checklist) ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ

    1. แบบประเมินตนเองโครงสร้างอาคาร สถานที่ และสิ่งแวดล้อมในสถานพยาบาล เป็นการประเมินในภาพรวม เช่น การขออนุญาต/สถานที่ตั้งอาคาร ภายนอกอาคาร ภายในอาคาร ระบบสำคัญ (เครื่องมือแพทย์ ไฟฟ้าสำรอง หอหล่อเย็น ลิฟต์โดยสาร การจัดการขยะ ระบบบำบัดน้ำเสีย ฯลฯ)
    2. แบบประเมินอาคาร สถานที่ สิ่งแวดล้อมของหน่วยงานสำคัญ ซึ่งมีข้อกำหนดเฉพาะ ได้แก่ หน่วยจ่ายกลาง หน่วยซักฟอก หน่วยโภชนาการ ห้องผ่าตัด ห้องคลอด
    3. ภาคผนวก 1-3: สรุปผลด้านสิ่งแวดล้อมในการดูแลผู้ป่วย

    จากประเด็นการเรียนรู้ต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้ทราบว่าระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมในการดูแลผู้ป่วย/ผู้รับผลงานมีความสำคัญอย่างยิ่ง หากเรานำมาตรฐานและเครื่องมือต่างๆ มาใช้ทบทวนเพื่อพัฒนา ขับเคลื่อนผ่านแนวคิด Growth Mindset และ Game Changer จะทำให้โรงพยาบาลมีการจัดการอาคาร สถานที่และสิ่งแวดล้อมโรงพยาบาลที่ดี มีความสะอาด สะดวก สบาย มีความปลอดภัย สร้างความสุข ลดความเครียด ส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีให้กับผู้ป่วย ญาติ ผู้มาติดต่อ และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล

    ผู้ถอดบทเรียน นายสุทธิพงศ์ คงชุม
    นักวิชาการคอมพิวเตอร์ งานพัฒนาคุณภาพการบริการ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

    ครีเอทีฟคอมมอนส์
    งานนี้ใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ แบบแสดงที่มาไม่ใช้เพื่อการค้า ไม่คัดแปลง

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here