โรงพยาบาลสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในการดูแลผู้ป่วย/ผู้รับงานอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ด้วยการนำ Game Changer, Growth Mindset
รวมถึงแนวคิดการพัฒนา เช่น 3C-DALI มาใช้ร่วมกันอย่างมีคุณค่า
การเป็น ENV Game Changer ด้วยแนวคิด “SMART” องค์กรใดที่อยากเป็น Game Changer สามารถใช้แนวคิด “SMART” ในการดำเนินการซึ่งประกอบด้วย
- S: SIMPLE (ง่าย) เริ่มต้นด้วยแนวคิดที่ไม่ซับซ้อน อาจทดลองในกลุ่มเล็กๆ จะทำให้สามารถติดตามและปรับปรุงได้อย่างรวดเร็ว ผลกระทบน้อยเมื่อล้มเหลว
- M: Meaningful (มีคุณค่า) ทั้งต่อกระบวนการหรือระบบ
- A: Actionable (ทำได้จริง) และขยายผลใช้ได้ในวงกว้าง
- R: Relational (สร้างความสัมพันธ์) คิดเชื่อมโยงกับระบบ/กระบวนการ/หน่วยงานที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง
- T: Transformational (เปิดรับความเปลี่ยนแปลง) ด้วยมุมมองที่เปิดกว้างเพื่อรับทั้งความรู้ ความเห็น นำสู่พัฒนาด้วยความเชื่อว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้
- S: Scalable (มีความเป็นไปได้) สามารถนำไปใช้แล้วได้คาดว่าได้ผลดี
เริ่มต้นเป็น Game Changer ด้วยการเข้าใจเป้าหมายของการจัดการสิ่งแวดล้อมในการดูแลผู้ป่วย/ผู้รับผลงาน การจัดการสิ่งแวดล้อมในการดูแลผู้ป่วย/ผู้รับผลงาน มีเป้าหมายเพื่อ- ให้โรงพยาบาลมีสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่เอื้อต่อความปลอดภัยและความผาสุกของผู้ป่วย/ผู้รับผลงาน เจ้าหน้าที่ และผู้มาเยือน
- สร้างความมั่นใจว่าผู้อยู่ในพื้นที่อาคารสถานที่จะปลอดภัยจากอัคคีภัย วัสดุและของเสียอันตราย หรือภาวะฉุกเฉินอื่นๆ
- มีเครื่องมือที่จำเป็น พร้อมใช้งาน ทำหน้าที่ได้เป็นปกติ และมีระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็น พร้อมใช้งานได้คลอดเวลา
- องค์กรแสดงความมุ่งมั่นในการที่จะทำให้โรงพยาบาลเป็นสถานที่ที่ปลอดภัย เอื้อต่อสุขภาพ สร้างเสริมสุขภาพ การเรียนรู้ การสร้างความสัมพันธ์และพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งแนวคิดสำคัญที่สามารถขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายคือ Visual Management, Human-centered Design และ User-centered Design
จากการเข้าใจเป้าหมาย/แนวคิด ผู้ที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนคือผู้นำและทีมนำ ที่จะต้องมีบทบาทในการวางแผนกลยุทธ์ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม กำหนดนโยบาย/แผนปฏิบัติการ ศึกษามาตรฐานที่เกี่ยวข้อง การออกแบบพื้นที่ แผนการบำรุงรักษา การวิเคราะห์และบริหารจัดการความเสี่ยง/มาตรการป้องกัน การสนับสนุนให้มีการนำนวัตกรรม/เทคโนโลยีมาใช้แทนคน การกำกับติดตามการดำเนินงานโดยผู้นำ การติดตามตัวชี้วัด/อุบัติการณ์ การรายงานผล รวมทั้งรวบรวมผลลัพธ์กำกับติดตามมาทบทวนและวิเคราะห์เพื่อหาโอกาสการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ENV Game Changer กับมาตรฐาน HA ฉบับที่ 5 และเครื่องมือการพัฒนาคุณภาพที่เกี่ยวข้อง
การพัฒนาระบบบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในการดูแลผู้ป่วย/ผู้รับผลงานตามมาตรฐาน HA ฉบับที่ 5 สามารถเกิดคุณค่าได้โดยใช้แนวคิด 3P เพื่อทำความเข้าใจเป้าหมาย (Purpose) ของมาตรฐาน จากนั้นนำมาตรฐานไปเรียนรู้จากการทบทวนการปฏิบัติที่หน้างาน นำสู่ค้นหาโอกาสพัฒนาในระยะสั้น/ระยะยาว (Process) โดยต้องครอบคลุมทุกพื้นที่และคำนึงถึงความเชื่อมโยงกัน และทบทวนประเมินผลในภาพรวมเชิงระบบและการบรรลุเป้าหมาย (Performance) ผ่านการทบทวนตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ในกระบวนการสำคัญและตัวชี้วัดผลลัพธ์ นอกจากนั้นต้องมีการศึกษาควบคู่กับกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยนอกจากนั้นแล้ว ยังสามารถใช้แนวคิด 3C-DALI ควบคู่กับการใช้ HA Scoring Guideline เพื่อประเมินระดับและขับเคลื่อนการพัฒนา โดยอย่างน้อยจะต้องได้ระดับคะแนน 3 (มีการปฏิบัติที่ครอบคลุมและได้ผล มีการวิเคราะห์และใช้ประโยชน์จากตัวชี้วัด) หรือระดับคะแนน 4 (มีการปรับปรุงกระบวนการต่อเนื่อง มีผลลัพธ์อยู่ในเกณฑ์ดี/สูงกว่าค่าเฉลี่ย)
เมื่อพิจารณามาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสิ่งแวดล้อมในการดูแลผู้ป่วย/ผู้รับผลงานให้มีคุณภาพ จะพบว่าอยู่ในหลายส่วนโดยมีประเด็นสำคัญตามมาตรฐานโดยสรุปคือ
II-3.1 ก. ความปลอดภัยและสวัสดิภาพ มุ่งเน้นการตรวจสอบความแข็งแรงของอาคารสูง/อาคารขนาดใหญ่ รวมทั้งการมีแผนบริหารความเสี่ยง แผนการบำรุงรักษา/พัฒนา/ปรับปรุงด้านอาคาร สถานที่ และสิ่งแวดล้อมโดยมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง
II-3.1 ข. การจัดการวัสดุและของเสียอันตราย ครอบคลุมการจัดทำบัญชีวัสดุ/ของเสียอันตราย สถานที่จัดเก็บที่ปลอดภัย การใช้อุปกรณ์ป้องกัน การกำจัดที่เหมาะสม และการกำกับติดตามเพื่อหาโอกาสในการพัฒนา
II-3.1 ค. ความปลอดภัยจากอัคคีภัย มีแผนป้องกัน/ระงับอัคคีภัย/การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย การจัดทำแผนผังทางหนีไฟ อุปกรณ์แจ้งเตือน/ระงับอัคคีภัย โดยจะต้องมีการฝึกซ้อมในระดับโรงพยาบาลอย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับกับมาตรฐาน I-6.2 ค. (ความปลอดภัยจากภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉิน) ที่ต้องมีการวิเคราะห์ว่ามีภัยฉุกเฉินหรือภัยพิบัติที่กระทบต่อการดำเนินงานของโรงพยาบาล โดยจะต้องมีการจัดทำแผนและฝึกซ้อมแผนเพื่อเตรียมความพร้อมและหาโอกาสพัฒนาแผนให้รัดกุม
II-3.2 ก. เครื่องมือ เน้นการมีผู้รับผิดชอบดูภาพรวมระบบเครื่องมือแพทย์ทั้งโรงพยาบาลที่ชัดเจน และมีการทบทวนอุบัติการณ์ที่เกี่ยวกับความไม่เพียงพอ ไม่พร้อมใช้ ชำรุด รวมถึงผลการทดสอบ/บำรุงรักษา ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา/ซ่อมแซม เพื่อนำมาวิเคราะห์และวางแผนพัฒนาต่อเนื่อง
II-3.2 ข. ระบบสาธารณูปโภค มุ่งเน้นการมีแผนผังการติดตั้งระบบต่างๆ โดยเฉพาะระบบไฟฟ้า/ประปา /ระบายอากาศและปรับอากาศ/ก๊าซทางการแพทย์/สุญญากาศ/ขนส่ง/สื่อสาร และมีความเพียงพอในการใช้งาน มีแผนการช่วยเหลือกรณีลิฟต์ขัดข้องและการซ้อมแผนสม่ำเสมอ และสถานที่ติดตั้งระบบสาธารณูปโภคต้องมีความสะอาดและเป็นไปตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง
II-3.3 ก. การสร้างเสริมสุขภาพ โรงพยาบาลต้องมีการจัดสภาพแวดล้อมให้สะอาด โล่ง มีระบบระบายอากาศ ปรับอากาศ แสง ที่เหมาะสม มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมกับทั้งผู้รับบริการและเจ้าหน้าที่
II-3.3 ข. การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ครอบคลุมระบบบำบัดน้ำเสียที่ต้องมีการปรับปรุงหากพบว่ามีผลตรวจใดที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ระบบจัดการขยะที่ต้องกำหนดประเภทขยะตามมาตรฐาน มีการกำจัดขยะอย่างเหมาะสมและกรณีที่จ้างกำจัดขยะ ต้องมีการกำกับติดตามกระบวนการขนย้ายและการกำจัดให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงการลดปริมาณของเสีย และการร่วมมือกับชุมชนรอบข้างในการปกป้อง/ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม
นอกจากมาตรฐาน II-3 (สิ่งแวดล้อมในการดูแลผู้ป่วย) แล้ว ยังมีมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้องอีกได้แก่มาตรฐานตอนที่ II-4.2 ก.(2) การควบคุมสิ่งแวดล้อมขณะก่อสร้างให้ปลอดภัยและลดผลกระทบ เช่น ฝุ่น เสียง รวมถึงตอนที่ II-4.2 ก.(3) การลดความเสี่ยงในพื้นที่ที่ควรให้ความสำคัญ เช่น หน่วยจ่ายกลาง หน่วยซักฟอก หน่วยโภชนาการ ห้องผ่าตัด ห้องคลอด หอผู้ป่วยที่มีความแออัด เอกซเรย์ ทันตกรรม หน่วยไตเทียม พื้นที่เตรียมยา ฯลฯ
เครื่องมือสำคัญอีกเครื่องมือหนึ่งที่โรงพยาบาลสามารถใช้ทบทวนเพื่อตรวจสอบความครบถ้วน เหมาะสม ความพร้อมใช้ และค้นหาโอกาสพัฒนาด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมในการดูแลผู้ป่วยคือ แบบประเมินตนเองโครงสร้างอาคารสถานที่ สิ่งแวดล้อม และหน่วยงานสำคัญในโรงพยาบาล หรือที่เรียกกันว่า (ENV Checklist) ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ
- แบบประเมินตนเองโครงสร้างอาคาร สถานที่ และสิ่งแวดล้อมในสถานพยาบาล เป็นการประเมินในภาพรวม เช่น การขออนุญาต/สถานที่ตั้งอาคาร ภายนอกอาคาร ภายในอาคาร ระบบสำคัญ (เครื่องมือแพทย์ ไฟฟ้าสำรอง หอหล่อเย็น ลิฟต์โดยสาร การจัดการขยะ ระบบบำบัดน้ำเสีย ฯลฯ)
- แบบประเมินอาคาร สถานที่ สิ่งแวดล้อมของหน่วยงานสำคัญ ซึ่งมีข้อกำหนดเฉพาะ ได้แก่ หน่วยจ่ายกลาง หน่วยซักฟอก หน่วยโภชนาการ ห้องผ่าตัด ห้องคลอด
- ภาคผนวก 1-3: สรุปผลด้านสิ่งแวดล้อมในการดูแลผู้ป่วย
จากประเด็นการเรียนรู้ต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้ทราบว่าระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมในการดูแลผู้ป่วย/ผู้รับผลงานมีความสำคัญอย่างยิ่ง หากเรานำมาตรฐานและเครื่องมือต่างๆ มาใช้ทบทวนเพื่อพัฒนา ขับเคลื่อนผ่านแนวคิด Growth Mindset และ Game Changer จะทำให้โรงพยาบาลมีการจัดการอาคาร สถานที่และสิ่งแวดล้อมโรงพยาบาลที่ดี มีความสะอาด สะดวก สบาย มีความปลอดภัย สร้างความสุข ลดความเครียด ส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีให้กับผู้ป่วย ญาติ ผู้มาติดต่อ และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล
ผู้ถอดบทเรียน นายสุทธิพงศ์ คงชุม
นักวิชาการคอมพิวเตอร์ งานพัฒนาคุณภาพการบริการ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ