เคล็ดลับงานคุณภาพ วันนี้ชวนคุยเรื่อง แนวทางการจัดการประเด็น Ethical Dilemma หนึ่งในประเด็นทางจริยธรรมที่ยากลำบากในการตัดสินใจของแพทย์ที่ให้การรักษาผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิต คือ ในสถานการณ์ที่ผู้ป่วยกำลังจะเสียชีวิต และไม่น่าจะมีโอกาสรอดแล้ว อาจมีลูกของผู้ป่วยคนหนึ่งที่ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และรับรู้ถึงความทุกข์ของทั้งตัวผู้ป่วยเองและผู้ให้การดูแลที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงเวลาของการดูแลที่ยาวนานนี้ จึงมีความเห็นที่จะให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ แต่จะมีลูกอีกคนหนึ่ง แสดงความจำนงให้ดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มที่และถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจ แพทย์ก็ต้องช่วยฟื้นคืนชีพอย่างเต็มที่ ซึ่งความคิดเห็นของญาติที่แตกต่าง อาจจะเกิดขึ้นจาก
1. ความเชื่อว่าการดูแลรักษาและช่วยฟื้นคืนชีพอย่างเต็มที่อาจจะมีปาฏิหาริย์
2. ความไม่ไว้วางใจว่าการที่แพทย์แนะนำให้หยุดการดูแลรักษาจะเป็นคำแนะนำที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยรายนี้ แต่อาจะเกิดจากความต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาล
3. ความรู้สึกลึกๆ ในใจว่ายังไม่ได้ดูแลบุพการีอย่างดีพอ จึงต้องการแสดงความกตัญญู โดยการดูแลบุพการีของตนให้ดีที่สุดในช่วงสุดท้าย
วิธีการที่จะช่วยจัดการกรณีที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างของญาติ ได้แก่
– เข้าใจความรู้สึกของญาติผู้ป่วยทุกคน และให้ข้อมูลทางวิชาการที่ชัดเจนและเพียงพอแก่ทุกคน
– เคารพในการตัดสินใจของผู้ป่วย (กรณีผู้ป่วยแสดงเจตจำนงที่เป็นไปตามหลักกฎหมาย) หรือของญาติผู้ที่รับมอบหมายให้เป็นผู้ตัดสินใจ
– แพทย์บันทึกคำอธิบายที่ได้ให้ไปแก่ญาติ และขั้นตอนการดูแลรักษาที่ครบถ้วนตามความเป็นจริง ไว้ในเวชระเบียน
– สื่อสารกับญาติผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ทั้งในช่วงก่อนและหลังการเสียชีวิตของผู้ป่วย
ขอบคุณภาพประกอบ https://www.pobpad.com