Foresight and Futures of Health and Wellness in Thailand

0
1087

     ในปัจจุบัน คำว่า Wellness มีปรากฏให้เห็นเคียงคู่กับคำว่า Health มากขึ้นเรื่อย ๆ บทความนี้จะพาผู้อ่านขึ้น Time Machine ไปสำรวจอนาคตสุขภาพแลสุขภาวะในอีก 10 ปีข้างหน้า รวมทั้งการสำรวจแง่มุมต่างๆ ของ Health and Wellness ให้ดียิ่งขึ้นผ่านมุมมองของนักอนาคตศาสตร์ นักธุรกิจ และแพทย์

Session 1 : Foresight and Futures of Health and Wellness in Thailand 2023
โดย วิพัตรา โตเต็มโชคชัยการ (ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาฟิวเจอรเ์ทลส์ แล็บ)

     ในสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างประชากรที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น มลพิษทางสิ่งแวดล้อม ความสามารถในการเข้าถึงระบบริการสุขภาพ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามามีบทบาท เช่น Medical AI, Genetic Testings เป็นต้น โดยทีมวิจัยได้นำสัญญาณการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ มาวิเคราะห์ร่วมกับ Megatrend ของโลก และปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ  เกิดเป็นภาพอนาคตที่ฉายออกมาเป็น 5 ฉากทัศน์สำคัญ ซึ่งอาจเปรียบกับแสงของท้องฟ้าในช่วงเวลาต่างๆ ได้ดังนี้

  1. The Dusk of Healthcare สิ้นแสงสาธารณสุข เป็นฉากทัศน์ที่แสดงถึงความถดถอยของระบบสุขภาพที่ขาดเสถียรภาพและเปราะบาง เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการดูแลสุขภาพอย่างรุนแรง 
  2. Public Health Meridian ระบบสุขภาพทั่วหล้า เป็นฉากทัศน์ที่แสดงถึงการกำหนดนโยบายส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคจากภาครัฐ มีการถอดบทเรียนในอดีตเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และริเริ่มเกิดความร่วมมือระดับพหุภาคี 
  3. MedTech Twillight ค่ำคืนการแพทย์ขั้นสูง  เป็นฉากทัศน์ที่แสดงถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูง และให้ความสำคัญกับการวิจัย และพัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่อง แต่การเข้าถึงระบบบริการการแพทย์ยังมีความกระจุกตัวอยู่ภายในเมืองใหญ่
  4. Dawn of Wellness รุ่งอรุณสุขภาวะ  เป็นฉากทัศน์ที่แสดงถึงการพัฒนาทางด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งเสริมสุขภาวะที่ดี มีการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมนำภูมิปัญญาการดูแลสุขภาพมาต่อยอดธุรกิจ
  5. Zenith of Self-care สุขภาพสุขสมบูรณ์ เป็นฉากทัศน์ที่ดีที่สุด แสดงถึงการกระจายศูนย์กลางของระบบสุขภาพโดยอาศัยเทคโนโลยี และนวัตกรรม มีความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพ 

ซึ่ง 6 ปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกำหนดภาพอนาคตข้างต้น ได้แก่

  1. Health actualization การตื่นรู้ด้านสุขภาพ
  2. Proactive public health system ระบบสาธารณสุขเชิงรุก
  3. Public health crises and response การตอบสนองต่อวิกฤตการณ์สาธารณสุข
  4. Healthy space and wellness design การออกแบบพื้นที่เพื่อสุขภาพ และสุขภาวะ
  5. Healthcare advancement ความก้าวหน้าด้านการดูแลสุขภาพ
  6. Personalized healthcare การดูแลสุขภาพแบบจำเพาะรายบุคคล

     โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน และประชาชน ที่ต้องพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงร่วมกันจึงจะสามารถสร้างฉากทัศน์ที่ดีได้ในอีก 10 ปีข้างหน้า

Session 2 : Health & Wellness Tourism
โดย วริวรรณ์ วิทยฐานกรณ์ (โรงแรมนีรารีทรีท)

     จากการศึกษาของ Global Wellness Institute ในปี 2019-2022 พบว่า ประเทศไทยมีขนาดเศรษฐกิจด้านสุขภาวะ (Wellness economy) 29,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จัดเป็นอันดับที่ 24 จาก 218 ประเทศทั่วโลก และอันดับที่ 9 จาก 45 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค  ในฐานะนักธุรกิจภาคเอกชน คุณวริวรรณ์มองเห็นโอกาสธุรกิจ Wellness จึงมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้าง “สถานให้บริการทางสุขภาพทางเลือก นอกเหนือจากคลินิคและโรงพยาบาล” จึงสร้างธุรกิจโรงแรมที่เน้นการสร้างสุขภาวะที่ดี (Wellness) ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ เช่น ธรรมชาติบำบัด ศิลปะบำบัด เป็นต้น เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้เข้าพักเรียนรู้และปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่มุ่งสู่การสร้างสุขภาวะที่ดี และคาดหวังว่าภาคเอกชนจะมีส่วนช่วยผลักดัน Wellness tourism ให้พัฒนามากขึ้น ก่อนจบด้วยคำแนะนำในการสร้างสุขภาพดีในองค์รวมรายบุคคล 3 ข้อ คือ

  1. มีสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ โดยประเมินจากการออกกำลังกาย การทานอาหารที่มีประโยชน์ การนอนหลับอย่างเพียงพอ การมีสติและสมาธิ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ และการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
  2. มีสัมพันธภาพที่ดี
  3. มีความสำเร็จในหน้าที่การงานระดับหนึ่ง

Session 3 แบ่งปันประสบการณ์เส้นทาง Wellness

พญ.กอบกาญจน์ ชุณหสวัสดิกลุ (รพ.วิมุต)

     เริ่มต้นจากนิยามของคำว่า Health and Wellness “Wellness หมายถึง การดูแลสุขภาพ และการดำเนินชีวิตอย่างมุ่งมั่นเพื่อนำไปสู่สุขภาพดีในองค์รวม” ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับหลายด้านในชีวิต เช่น Physical , Emotional, Spiritual, Social Financial, Environmental และอื่นๆ จะเห็นได้ว่า Wellness ให้นิยามของการดูแลสุขภาพที่ครอบคลุมกว้างกว่าคำนิยามของ Health ที่มุ่งเน้นภาวะสมบูรณ์ทางร่างกาย จิตใจ และสุขภาวะทางสังคม และ Well-being ที่มุ่งเน้นเพียงภาวะปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ1

     อาจารย์ได้แบ่งปันประสบการณ์ชีวิต และเส้นทางการทำงานด้าน Wellness มาตลอด 30 ปี โดยยึดหลัก “ลงมือทำให้เห็นผลจริง” พร้อมชวนคิดว่า “การรักษาแผนปัจจุบันคือทางเลือกเดียวในการรักษาของคนไข้หรือไม่” จากนั้นจึงพาเราไปสำรวจกับแพทย์ทางเลือกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติบำบัด ศิลปะบำบัด ดนตรีบำบัด ไทชิบำบัด และอื่น ๆ อีกมากมาย ในท้ายที่สุด อาจารย์ก็ไม่ลืมที่จะเชิญชวนให้บุคคลากรทางการแพทย์ที่ทุ่มเทเวลาให้กับการดูแลผู้ป่วยหันมาใส่ใจ Wellness ของตนเองเช่นกัน

ถอดความ และสรุป โดย นศพ. นภัสสร ไกรวิศิษฏ์กุล

  1. phelia Yeung, Katherine Johnston. The Global Wellness Economy: THAILAND

[Internet]. 2022 Sep [cited 2024 Mar 14]. Available from: https://globalwellnessinstitute.org/wp-content/uploads/2022/09/2022GWI_Country-RankingsThailand_FINAL.pdf

ครีเอทีฟคอมมอนส์
งานนี้ใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ แบบแสดงที่มาไม่ใช้เพื่อการค้า ไม่คัดแปลง

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here