Highlight ENV & Back Office
“ปัจจุบันบริการทางการแพทย์ High Technology มากขึ้นแต่พบว่าการดูแลเครื่องมือกลับขาดประสิทธิภาพ ขาดการดูแล หรือมีการดูแลแต่ไม่ครบถ้วน และส่วนใหญ่มักพบในเครื่องมือที่มีความเสี่ยงสูง” โกเมธ นาควรรณกิจ
ปัญหาที่พบจากการเยี่ยมสำรวจเพื่อขอรับรองคุณภาพตามมาตรฐาน HA ในปี 2561 พบว่าหลายโรงพยาบาล ไม่ผ่านเกณฑ์ในการรับรองตามมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ ฉบับที่ 4 โดยเฉพาะในระบบดังต่อไปนี้ การจัดการระบบแก๊สทางการแพทย์ (ระบบสำรอง)/การจัดระบบเครื่องมือแพทย์/ระบบการป้องกันและระงับอัคคีภัย/ ระบบบำบัดน้ำเสีย/ระบบไฟฟ้าสำรอง/ระบบประปา (ระบบน้ำสำรอง)/ระบบลิฟต์ และอาคาร สถานที่ไม่มีความปลอดภัย ระบบระบายอากาศไม่ดี โดยพบว่าบางโรงพยาบาลเกิดปัญหาในทุกระบบ ทำให้มีความเสี่ยงสูงมาก ผลกระทบที่เกิดขึ้นพบได้ตั้งแต่มีความรุนแรงน้อย ถึงมาก ซึ่งมีผลต่อการได้รับการรับรอง ในขณะเดียวกันก็มีอีกหลายโรงพยาบาลซึ่งสามารถเป็นแบบอย่างที่ดี
การพัฒนาต้องได้รับความร่วมมือจาก 1. การสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง พบว่าโรงพยาบาลที่ประสบความสำเร็จและสามารถแก้ไขปัญหาได้เกิดจาก ผู้นำชี้นำกระตุ้น ติดตาม และสนับสนุน ให้ทีมงานที่รับผิดชอบสามารถดำเนินการจัดการได้อย่างราบรื่นและสอดคล้องกับปัญหาขององค์กร 2. การสนับสนุนจากหัวหน้าฝ่าย/กลุ่มงาน มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในการดำเนินการเรื่องสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย รวมทั้งระบบงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับงานสนับสนุนบริการ หากหัวหน้าไม่เข้าร่วม ไม่สนับสนุนให้คนมาร่วมทำงาน ทุกอย่างมีปัญหาค่อนข้างมาก หัวหน้างานชี้นำ สนับสนุนการปฏิบัติงานและกระตุ้น กำกับติดตามในหน่วยงานของตน 3. ความร่วมมือจากผู้ปฏิบัติงานที่หน้างาน (Frontline Staff) คนอยู่หน้างานทุกคนมีความสำคัญในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และงาน back office 4. ทีมพี่เลี้ยงคุณภาพ (Quality Improvement Specialist) เช่น Quality coach, QMR หรือ Facilitator ต้องเข้าใจกระบวนการคุณภาพ และต้องรู้มาตรฐาน ระเบียบและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจมีความเฉพาะเจาะจง เพื่อช่วยแนะนำผู้ปฏิบัติที่อยู่หน้างานซึ่งอาจมีความคุ้นชินกับงานประจำจนอาจมองข้ามไป
บทบาทและหน้าที่ของผู้นำ/ทีมที่เกี่ยวข้อง 1. กำหนดนโยบายและเป้าหมายสำคัญการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ให้มีความชัดเจนว่าเป็นนโยบายใด เป้าหมายคืออะไรเพื่อให้แปลงลงไปสู่การปฏิบัติ ทั้งระยะสั้น ระยะยาว 2. ศึกษามาตรฐาน กฎหมาย กฎกระทรวง ประกาศ ข้อบังคับ ระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เหล่านี้เป็นเครื่องมือ นำไปขยายความว่าต้องทำอย่างไร เพียงใด (จาก Gap analysis) ใช้คู่กับการกำหนดทิศทางนโยบาย 3. สนับสนุนให้มีการออกแบบและการจัดแบ่งพื้นที่ใช้สอยให้เอื้อต่อความปลอดภัย เหมาะสมตามประเภทของผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบริบทของผู้ป่วย ระบบการเคลื่อนย้าย เช่น งานกายภาพบำบัด ควรจัดสรรพื้นที่ให้บริการที่มีทางลาด เป็นต้น 4. สนับสนุนให้มีแผนการบริหารจัดการพื้นที่ อาคาร และสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล ควรมี Master plan ที่วางไว้สำหรับการมองไปข้างหน้า 5-10 ปี และวางแผนการบริหารไว้ 5. สนับสนุนให้มีการรวบรวมและวิเคราะห์อุบัติการณ์/ความเสี่ยง/โอกาสพัฒนา/ตัวชี้วัดต่างๆ ที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่โรงพยาบาล มีเพียงการเก็บข้อมูล แต่ไม่ได้นำมาวิเคราะห์ การแก้ปัญหาจึงเกิดขึ้นที่หน้างาน ไม่ได้ปรับแก้เชิงระบบ จึงมีโอกาสเกิดซ้ำ
ประเด็นสำคัญของ Highlight ENV & Back Office ที่ทีมวิทยากรได้นำมาบอกเล่า ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ และพัฒนา เพื่อให้ผ่านการรับรองตามมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ ฉบับที่ 4 โดยการกำกับติดตามให้มีการปฏิบัติหรือดำเนินการจัดการด้านอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐาน กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และนำผลการตรวจสอบด้านโครงสร้างอาคารสถานที่มาปรับปรุงแก้ไข ตลอดจนดำเนินการวางแผนการตรวจสอบ แผนการบำรุงรักษาด้านต่างๆ แผนการรักษาความปลอดภัย มีการติดตามผลจากการดำเนินงานตามแผนต่างๆ และมีการใช้ข้อมูลจากรายงานอุบัติการณ์ นำมาวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุและกำหนดแนวทางแก้ไขป้องกันทั้งระบบ
ดาวน์โหลดที่นี่…ฟรี Highlight ENV & Back Office
ถอดบทเรียน ศรัญญา อินต๊ะเชื้อ
ตำแหน่ง หัวหน้ากลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง
Photo by ROOM on Unsplash