สิ่งที่ควรรู้ คู่กับกระบวนการฉีดวัคซีน COVID-19 เพื่อป้องกันการเกิดอาการ ISRR

0
2027
การฉีดวัคซีน COVID-19
การฉีดวัคซีน COVID-19

     สิ่งที่ควรรู้คู่กับกระบวนการฉีดวัคซีน COVID-19 เพื่อป้องกันการเกิดอาการ Immunization Stress-Related Responses ได้อย่างไร ?       

               วันนี้เคล็ดลับคุณภาพชวนมาเรียนรู้เรื่อง ISRR กัน ครับ ในกระบวนการให้วัคซีน COVID-19 ซึ่งต้องมีการฉีดแก่ประชาชนไทยจำนวนร้อยล้านโด๊ส สิ่งหนึ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ คือ ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีน (Adverse Events Following Immunization – AEFI) AEFI อาจเกิดจากวัคซีนโดยตรงหรือจากสาเหตุอื่นที่ไม่เกี่ยวกับวัคซีนก็ได้

Immunization Stress-Related Responses
Immunization Stress-Related Responses

          ในหนังสือชื่อ Immunization Stress-Related Responses ซึ่งจัดทำในปี 2019 โดยองค์การอนามัยโลก ได้ให้คำนิยามของ Immunization Stress-Related Responses (ISRR) ว่า คือ อาการและอาการแสดงที่เกิดขึ้นในช่วงการได้รับวัคซีน โดยมีความเชื่อมโยงกับความความวิตกกังวลของผู้รับการฉีดวัคซีน และไม่เกี่ยวกับตัววัคซีนเอง,   การบริหารจัดการวัคซีน และโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ ที่บังเอิญเกิดขึ้นในช่วงหลังฉีดวัคซีน

 ISRR อาจแสดงออกในหลายรูปแบบ คือ

– โดยทั่วไปความกลัวจะกระตุ้นระบบประสาท sympathetic ให้ร่างกายพร้อมต่อสู้หรือหนี ทำให้เกิดอาการใจสั่น หายใจเร็วหรือหายใจติดขัด

– ในบางครั้งร่างกายพยายามปรับการทำงานของระบบประสาท sympathetic แต่ทำเกินพอดี ทำให้ระบบประสาท parasympathetic ทำงานมากเกินไป ส่งผลให้เกิด vasovagal reaction ซึ่งนำมาสู่การที่หัวใจเต้นช้า เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ และเป็นลม

– บางครั้งอารมณ์หวาดกลัวที่รุนแรงทำให้ระบบประสาทส่วนกลางทำงานแปรปรวน ทำให้เกิดอาการคล้ายการชัก ชา ไม่มีแรง อาการคล้ายอัมพาต กล้ามเนื้อเคลื่อนไหวผิดปกติ

การวินิจฉัยแยก ISRR ออกจากการแพ้ยารุนแรง หรือภาวะฉุกเฉินอื่นที่ต้องได้รับการรักษาเร่งด่วน สามารถทำได้โดยผู้มีประสบการณ์ แต่ในสภาพความเป็นจริง การวินิจฉัยมักทำได้ยากเพราะการมีเวลาที่จำกัดมาก ดังนั้น การรู้จักและเข้าใจจนนำไปสู่การวางมาตรการป้องกันการเกิด ISSR น่าจะเป็นแนวปฏิบัติที่สำคัญสำหรับทุกที่ที่จะมีการให้วัคซีน COVID-19

มาตรการเพื่อป้องกันการเกิด ISRR สรุปได้ดังนี้

– การเตรียมสถานที่ฉีดวัคซีน สภาพแวดล้อมไม่ควรร้อนอบอ้าว คิวรอไม่นานมาก มีการให้ข่าวสารเชิงบวกในระหว่างรอฉีด จุดฉีดวัคซีนมีความเป็นส่วนตัวในระดับหนึ่งเพื่อป้องกันการเห็นเข็มฉีดยา หรือสภาพความปวดที่เกิดกับผู้ที่ฉีดก่อนหน้า

– บุคลากร ต้องเข้าใจกระบวนการฉีด รู้เรื่องวัคซีนที่จะฉีด สามารถอธิบายให้ผู้มารับการฉีดเข้าใจด้วยภาษาที่ง่ายๆ และสามารถสังเกตกลุ่มที่น่าจะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิด ISSR ได้

ภาพโดย torstensimon จาก Pixabay 

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here