งานที่อยู่ต่อหน้า เป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุด ใน Lifelong learning
Lifelong Learning หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต คือ การปลูกฝังทัศนคติของการไม่หยุดเรียนรู้ รวมถึงไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยเรียนรู้มาก่อน เพราะโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
Lifelong Learner หรือผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต คือ คำตอบที่จะเป็นทางออกในโลกยุคที่สถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตผันผวนง่ายแต่คาดเดายาก โดยหัวใจสำคัญอยู่ที่การปลูกฝังแนวคิดการเรียนรู้แบบ Learn – Unlearn – Relearn เปิดใจเรียนรู้โดยพร้อมที่จะละวางความรู้เดิมเพื่อสร้างการเรียนรู้ใหม่ตลอดเวลา
Learning Organization เป็นแนวคิดในการพัฒนาองค์การโดยเน้นการพัฒนาการเรียนรู้สภาวะของการเป็นผู้นำในองค์การ (Leadership) และการเรียนรู้ร่วมกัน ของคนในองค์การ (Team Learning) เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และทักษะร่วมกัน และพัฒนาองค์การอย่างต่อเนื่องทันต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขัน Learning Organization จึงเป็นเครื่องมือการจัดการที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบัน
ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (21st Century Skills) นพ.วิจารณ์ พานิช ได้กล่าวถึงทักษะเพื่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ดังนี้ การเรียนรู้เพื่อมีชีวิตในโลกยุคศตวรรษที่ 21 ปัจจุบันการเรียนรู้สาระวิชา (content หรือ subject matter) ควรเป็นการเรียนจากการค้นคว้าเองของศิษย์ โดยครูช่วยแนะนำ และช่วยออกแบบกิจกรรมที่ช่วยให้นักเรียนแต่ละคนสามารถประเมินความก้าวหน้าของการเรียนรู้ของตนเองได้ ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เข้าไปในทุกวิชาแกนหลัก ดังนี้
- ทักษะด้านการเรียนรู้และนวัตกรรม จะเป็นตัวกำหนดความพร้อมของนักเรียนเข้าสู่โลกการทำงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน ได้แก่
– ความริเริ่มสร้างสรรค์และนวัตกรรม
– การคิดอย่างมีวิจารณญาณและการแก้ปัญหา
– การสื่อสารและการร่วมมือ
- ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี เนื่องด้วยในปัจจุบันมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านทางสื่อและเทคโนโลยีมากมาย ผู้เรียนจึงต้องมีความสามารถในการแสดงทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและปฏิบัติงานได้หลากหลาย โดยอาศัยความรู้ในหลายด้าน ดังนี้
– ความรู้ด้านสารสนเทศ
– ความรู้เกี่ยวกับสื่อ
– ความรู้ด้านเทคโนโลยี
- ด้านชีวิตและอาชีพ ในการดำรงชีวิตและทำงานในยุคปัจจุบันให้ประสบความสำเร็จ นักเรียนจะต้องพัฒนาทักษะชีวิตที่สำคัญดังต่อไปนี้
– ความยืดหยุ่นและการปรับตัว
– การริเริ่มสร้างสรรค์และเป็นตัวของตัวเอง
– ทักษะสังคมและสังคมข้ามวัฒนธรรม
– การเป็นผู้สร้างหรือผู้ผลิต (Productivity) และความรับผิดชอบเชื่อถือได้ (Accountability)
– ภาวะผู้นำและความรับผิดชอบ (Responsibility)
การเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง คือ การเรียนรู้สู่การเป็นผู้ลงมือทำ หรือผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent) เป็นการ เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) ไปในตัว จะเห็นว่า ครูมีโอกาสสร้างคุณูปการต่อศิษย์ได้สูงมาก ผ่านการจัดการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง คือ ครูทำหน้าที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยการชวนนักเรียนตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ ที่มีความหมายในมุมมองของเด็ก ทำหน้าที่สังเกตการณ์และจุดประกายแรงบันดาลใจสู่การลงมือทำเพื่อการเรียนรู้ และสังเกตความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของศิษย์ แล้วใคร่ครวญสะท้อนคิดเพื่อหาวิธีทำหน้าที่ครูที่ดีมีผลกระทบสูงยิ่งขึ้นต่อผลลัพธ์การเรียนรู้
Transformative Learning คือ การเรียนรู้ที่สามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการเปลี่ยนแปลงตนเองได้ เปลี่ยนแปลง ความรู้ที่ตนเคยมีเป็นความรู้อีกชุดหนึ่ง เปลี่ยนไปถึงในระดับกระบวนทัศน์ เมื่อเรามีความรู้ในแบบ Transformative Learning สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการมีฉันทะ มีวิริยะ และมีสมรรถนะในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) เกิดทักษะความเป็นผู้นำ (Leadership Skill) การมีทักษะความเป็นผู้นำนั้นไม่ได้หมายความว่าเราต้องไปเป็นหัวหน้าใคร แต่หมายความว่าเราสามารถไปร่วมกับผู้อื่นเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง
กรอบแนวคิดแบบตายตัว (Fixed Mindset) เป็นทัศนคติของคนที่คิดว่าเราไม่สามารถพัฒนาตนเองได้แล้ว ทางเดินชีวิตได้สิ้นสุดลงไปแล้ว หรือไม่กล้าลงมือทำเพราะกลัวว่าจะล้มเหลว
กรอบแนวคิดแบบพัฒนาได้ (Growth Mindset) เป็นกรอบแนวคิดของคนที่คิดบวก คิดว่าตัวเองสามารถพัฒนาได้ตลอดเวลา ส่งผลให้เกิดความมั่นใจ และกล้าลงมือทำ
ถอดบทเรียนโดย อาทิตย์ตินันท์ อินทร์วรรณ ผู้ประสานงาน สำนักพัฒนาองค์กร สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน)
ภาพถ่ายโดย Wendy van Zyl จาก Pexels