Healthcare Megatrends: Transforming Healthcare Today to Tomorrow

0
2219

     ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวหน้า และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ที่มีการพัฒนาแบบทวีคูณ (exponential) หากมองในส่วนของระบบสุขภาพ เทคโนโลยีเหล่านี้จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการรักษาพยาบาล เช่น การผ่าตัด การวินิจฉัย และการรักษา รวมถึงช่วยให้เราสามารถดูแลสุขภาพของผู้ป่วยได้ที่บ้านโดยไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล ส่งผลให้ในอนาคตผู้ป่วยจะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลน้อยลง

     หากจะมองว่าเทคโนโลยีที่กำลังมาแรงที่สุด ณ เวลานี้ ก็คงหนีไม่พ้น Generative AI ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในตอนนี้ เช่น ChatGPT, Bing Copilot, Claude-3 Gemini เป็นต้น Generative AI จะไม่ได้เป็นเพียงแค่กระแสชั่วคราว แต่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในระบบบริการสุขภาพ เราจะเห็นได้ว่า Generative AI มีความก้าวหน้าและพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีประเด็นที่เราควรทราบ และตระหนัก ดังนี้

ประเด็นที่ 1: Generative AI คือ AI ที่สร้างความรู้ได้ มันช่วยให้เกิด automation บางอย่าง และทำงานซ้ำๆ ได้โดยไม่เหนื่อย แทนที่มนุษย์ได้ สิ่งเหล่านี้กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ไม่ใช่อีก 1 ปีหรือ 10 ปี การเลือก AI ที่เหมาะสมจะช่วยให้องค์กรได้เปรียบอย่างมาก

ประเด็นที่ 2: Generative AI จะมีความฉลาดล้ำกว่ามนุษย์อย่างปฏิเสธไม่ได้ และจะเปลี่ยนนิยามของการทำงานไปอย่างสิ้นเชิง

ประเด็นที่ 3: หากเราต้องอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วย Generative AI เราต้องเรียนรู้ที่จะใช้มันให้เป็น โดยเริ่มจากการให้ความไว้วางใจและยอมให้ AI เป็นเครื่องมือช่วยในการทำงาน ไม่จำเป็นต้องเริ่มจากศูนย์ แต่ค่อยๆ ปล่อยให้ Generative AI แทรกซึมเข้ามาในองค์กรอย่างค่อยเป็นค่อยไป

 

ประเด็นที่ 4: Generative AI จะช่วยเชื่อมโยงและวิเคราะห์ข้อมูลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น แต่ก็อาจจะมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของข้อมูลตามมาด้วย

 

ประเด็นที่ 5: Generative AI จะเป็นตัวเร่งให้องค์กรต้องเปลี่ยนแปลง (Transform) มากขึ้น

 

ประเด็นที่ 6: Generative AI จะก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ และบริการใหม่ๆ เราไม่ควรพยายามแข่งขันหรือเปลี่ยนตัวเองให้เท่าเทียม AI เพราะไม่มีประโยชน์ ให้มองว่างานใดที่ AI ทำได้ ก็ปล่อยให้ AI จัดการไป การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจจะช่วยให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ให้มอง AI เป็นเพื่อนร่วมงาน และเฝ้าติดตามผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เกิดจาก AI

     เราสามารถมองสถานการณ์นี้ได้เป็น 2 มุมมอง ทั้ง “วิกฤต” และ “โอกาส” ยกตัวอย่างเช่น องค์กรที่ไม่ยอมรับ และปรับตัวต่อ AI หากไม่สามารถปรับตัวทันกับการเปลี่ยนแปลง คุณภาพการให้บริการอาจจะถดถอยลง ไม่ใช่เพราะทำไม่ดี แต่เพราะก้าวตามคนอื่นและความคาดหวังของผู้คนไม่ทัน อาจไม่สามารถแข่งขันกับองค์กรที่นำ AI มาใช้ได้ ซึ่งจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ แต่หากปรับตัวตามให้ทัน ก็จะกลายเป็นโอกาสที่ดีแทน

     AI จะเข้ามามีผลกระทบต่อทรัพยากรบุคคลอย่างแน่นอน คำถามคือทิศทางการบริหารทรัพยากรบุคคลและบุคลากรในองค์กรควรปรับตัวอย่างไร เราต้องพิจารณาว่างานประเภทใดที่สามารถนำ AI มาใช้ทดแทนได้ เช่น งานอัตโนมัติหรืองานที่ต้องทำซ้ำๆ การบริหารทรัพยากรบุคคลต้องเปลี่ยนมุมมอง ทั้งในแง่ของการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ตลอดชีพ เพราะทักษะที่ต้องการจะเปลี่ยนไป พนักงานต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ โดยเฉพาะทักษะความเป็นผู้นำ ที่จะช่วยให้ทีมสามารถทำงานประสานกันได้ดี ต้องมีการทบทวนอัตรากำลังใหม่เมื่อมี AI เข้ามา และการบริหารทรัพยากรบุคคลต้องไม่เพียงแค่การสรรหาคนเข้ามาทำงานหรือทำให้คนอยู่ในองค์กร แต่ต้องตั้งเป้าหมายใหม่ว่าจะบริหารคนอย่างไรให้ตอบสนองเป้าหมายองค์กรได้ดีที่สุด

     อย่างไรก็ตาม AI จะไม่มาแทนที่มนุษย์ทั้งหมด แต่จะเข้ามาช่วยแบ่งเบางานและทำให้มนุษย์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น AI จะทำงานที่ต้องทำซ้ำๆ วิเคราะห์ข้อมูล และช่วยตัดสินใจได้รวดเร็ว สิ่งที่เราต้องทำคือ เลือก AI ให้เหมาะกับงาน, พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบให้พร้อมรับ AI, ติดตามเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้ทั้งองค์กรและตัวเราเองพร้อมรับมือกับ AI ให้ได้

เอกสารอ้างอิงเพิ่มเติม

1. PwC. (2024, February). AI predictions: How generative AI will transform your business. สืบค้นจาก https://www.pwc.com/us/en/tech-effect/ai-analytics/ai-predictions.html#prediction1

ภก. บรรณสรณ์ เตชะจำเริญสุข ผู้ถอดความ

ครีเอทีฟคอมมอนส์
งานนี้ใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ แบบแสดงที่มาไม่ใช้เพื่อการค้า ไม่คัดแปลง

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here