สรพ. ได้พัฒนากระบวนการรับรองคุณภาพที่หลากหลายเพื่อสร้างและส่งต่อองค์ความรู้ โดยมีข้อกำหนดตามมาตรฐานเป็นความรู้สำคัญเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของสถานพยาบาลที่รับการเยี่ยมสำรวจให้มุ่งเน้นความปลอดภัย และส่งผลให้สถานพยาบาลในประเทศไทยมีผลลัพธ์การดำเนินงานที่ดีขึ้น ปรับปรุงประสบการณ์ของผู้ป่วย ดำเนินงานด้วยต้นทุนที่คุ้มค่า คนทำงานมีประสบการณ์ที่ดี และยกระดับความเท่าเทียมด้าน สมกับวิสัยทัศน์ของสรพ. “สถานพยาบาลมีระบบคุณภาพระดับสากล ประชาชนปลอดภัยด้วยมาตรฐาน HA”
กระบวนการ Hospital Accreditation ในประเทศไทย เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปีด้วยหลักคิด Accreditation as the Education Process และในปัจจุบันได้ในเวทีสากลเริ่มมีการทบทวนผลที่ได้จากกระบวนการ Hospital Accreditation เพื่อนำไปสู่การเป็น Modernize Accreditation 2030
ทิศทางการขับเคลื่อน Hospital Accreditation ในประเทศไทย คณะกรรมการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) (สรพ.) ในฐานะกำลังหลักของการขับเคลื่อนกระบวนการ Hospital Accreditation ของประเทศไทย ได้มีการทบทวนและกำหนดทิศทางการพัฒนาระบบและกระบวนการรับรองในประเด็นต่างๆ
- การยกระดับคุณค่าของกระบวนการพัฒนาและรับรองคุณภาพต่อสถานพยาบาลและสังคม กระบวนการ Hospital Accreditation ให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ (Outcomes) มากขึ้น โดยเฉพาะผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยมากขึ้นทั้งในด้านความปลอดภัย (Safety Outcomes) สุขภาพ (Health Outcomes) และประสบการณ์ที่ดีจากการเข้ารับบริการของผู้ป่วย (Patient Experience) รวมถึงการส่งเสริมการยกระดับคุณภาพด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด จากการพัฒนารูปแบบการเยี่ยมสำรวจโดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ประการสำคัญกระบวนการ Hospital Accreditation จะต้องเป็นเครื่องมือสนับสนุนนโยบายที่สำคัญของประเทศ เช่น เช่น การพัฒนาบริการสุขภาพปฐมภูมิ, นโยบาย Medical Hub การกำกับดูแลคุณภาพของหน่วยงานหลักประกันสุขภาพ
- การพัฒนากระบวนการเยี่ยมสำรวจสถานพยาบาล และการรับรองคุณภาพ สรพ. มีความพยายามในการพัฒนารูปแบบการประเมินตนเองของสถานพยาบาล การเยี่ยมสำรวจ เพื่อลดภาระการใช้ทรัพยากรทั้งของสถานพยาบาลและสรพ. โดยยังคงคุณภาพของการเยี่ยมสำรวจไว้ และใช้โอกาสพัฒนาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศให้ได้มากที่สุด นอกจากนั้นยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้เยี่ยมสำรวจอย่างเป็นระบบ ทั้งในด้านคุณภาพ/จำนวน/ความก้าวหน้าในวิชาชีพ และการพัฒนาระบบงานสำคัญภายในของสรพ. เพื่อสนับสนุนการรับรองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- การธำรงรักษาจุดแข็งและความสำเร็จของ HA ในฐานะ Learning Platform ที่สำคัญของระบบบริการสุขภาพประชาชน ยังคงมุ่งเน้นให้ HA ที่เป็น Learning Platform ที่สำคัญผ่านกลไกการใช้เครื่องมือและกิจกรรมต่างๆ ของสรพ. โดยผลักดันการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการส่งเสริม/สร้างศักยภาพด้านการวิจัยในระบบการพัฒนาและรับรองคุณภาพ เพื่อสร้างและประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในการพัฒนาคุณภาพของสถานพยาบาล ความปลอดภัยของผู้ป่วย การพัฒนาทรัพยากรบุคคล และการรับรองคุณภาพ
- การใช้มาตรฐาน HA เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสถานพยาบาล โดยให้ความสำคัญกับการนำมาตรฐาน HA ตอนที่ I (การนำ) สู่การปฏิบัติในระดับหน่วยงาน มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาคุณภาพอย่างเป็นระบบ และสร้างการเรียนรู้ระดับองค์กรภายใต้บริบทของสถานพยาบาลที่หลากหลาย โดยโจทย์สำคัญของสรพ. คือ การหาความรู้ที่
จะให้ผู้นำสามารถนำไปใช้ให้เกิดเป็นรูปธรรม
ภาพอนาคตของการยกระดับกระบวนการการรับรองคุณภาพสถานพยาบาลสู่ Modernize Healthcare Accreditation 2030 จากกระบวนการรับรองคุณภาพที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ นำสู่การชี้นำให้สถานพยาบาลที่เข้าสู่กระบวนการรับรองคุณภาพ จากเดิมที่จะคุ้นเคยกับการดูแลผู้ป่วยเป็นช่วงหรือรายครั้ง (Episode) ทำให้หาผลลัพธ์ (Outcome) ได้ยาก จึงควรมีการปรับเปลี่ยนเป็นมุมมองระยะยาว ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างความต้องการของผู้ป่วยและสิ่งที่โรงพยาบาลดำเนินการอยู่ ผ่านการวางแผน/ออกแบบที่ดี การขยายผลให้เกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า (ผู้ป่วยทุกกลุ่มโรค) และการสร้างความร่วมมือของสหสาขาวิชาชีพให้เข้มแข็ง ผ่านหลักการของกระบวนการรับรองคุณภาพ
- ใช้เครื่องมือคุณภาพสำหรับการดูแลสุขภาพและสังคม (Health & Social Care) ร่วมกับกลยุทธ์
- ทำให้มั่นใจในโครงสร้าง/กระบวนการทำงานสำหรับการบริหาร/ปรับปรุงคุณภาพและความปลอดภัย
- ขับเคลื่อนที่ทรงพลังในการปรับปรุงประสิทธิภาพและการสร้างความเข้มแข็งของวัฒนธรรมองค์กร
- เป็นกลไกขับเคลื่อนการประกันคุณภาพ (Quality Assurance: QA) และการปรับปรุงคุณภาพ (Quality Improvement: QI)
- มีผลต่อการมีประสบการณ์ที่ดีของผู้รับบริการ จากการใช้แนวคิดผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง (Person-Centered Care)
- เป็นพาหนะในการกระจายการเรียนรู้ ความรู้ และการนำความรู้สู่การปฏิบัติ
กระบวนการ Healthcare Accreditation จะมีส่งผลอย่างมาก (Impact) หากผู้เกี่ยวข้องเข้าใจในมาตรฐานและการรับรองอย่างดี ทีมบริการสุขภาพมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ/ส่วนหนึ่งของการพัฒนา ยอมรับในผลการวิเคราะห์ช่องว่าง (Gap) ระหว่างมาตรฐานและความเป็นจริงผ่านการประเมินตนเอง (Self-Assessment) และนำสู่การจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพและดำเนินการตามแผนเพื่อสร้างคุณค่าแก่ผู้รับบริการ กระบวนการรับรองคุณภาพนั้นมีความท้าทายอยู่หลายประเด็น คือ 1. ในด้านสถานพยาบาลที่รับการเยี่ยมสำรวจ ข้อเสนอแนะตามมาตรฐานอาจขัดแย้งกับบริบทขององค์กร หลายครั้งข้อเสนอแนะของผู้เยี่ยมสำรวจไม่สอดคล้องกับทิศทางที่ผู้บริหารวางเป้าหมายไว้ 2. ด้านระบบ สถานพยาบาลต้องการมาตรฐานที่มีความยืดหยุ่น สามารถประยุกต์ใช้ได้ง่ายกับหลากหลายบริบท และขยับแนวคิดจากการมุ่งเน้นประเมินที่ตัวสถานพยาบาล เป็นการติดตาม Health Pathway ของผู้รับบริการและประเมินองค์รวมของระบบเพื่อทำให้เห็นช่องว่างของการให้ดูแลรักษาได้ชัดเจนมากขึ้นตลอดกระบวนการให้บริการ
3. กระบวนการรับรองคุณภาพจะต้องนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาสนับสนุนกระบวนการรับรอง รวมถึงมาตรฐาน/วิธีการใหม่ๆ การบูรณาการผลลัพธ์เข้ามาอยู่ในกระบวนการและการใช้ความเห็นของผู้ป่วย (Patient Judgements) ร่วมในกระบวนการรับรอง
การยกระดับกระบวนการ Healthcare Accreditation ผ่านกระบวนการ Knowledge Translation กระบวนการเรียนรู้เป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการรับรองคุณภาพ โดยมีแนวคิดการแปลง
และถ่ายทอดองค์ความรู้สู่การปฏิบัติ (Knowledge Translation) ประกอบด้วยการสร้างองค์ความรู้ (Knowledge Creation) คือ การค้นหาองค์ความรู้สำคัญที่เกี่ยวข้องและทำให้เป็นแนวคิดหรือเครื่องมือที่ง่ายต่อการปฏิบัติ เปรียบได้กับการพัฒนามาตรฐาน HA และการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ (Knowledge Application) คือกระบวนการประเมิน Gap ขององค์ความรู้ การวางแผนดำเนินการ การประเมินความพร้อม การดำเนินการตามแผน การติดตามการใช้องค์ความรู้ การประเมินประสิทธิภาพของระบบ และการขยายผล โดยสามารถเทียบกับกระบวนการรับรองคุณภาพได้ เมื่อพิจารณามาตรฐาน HA จะพบว่ามาตรฐานได้อธิบายไว้เป็นภาพกว้างๆ ไม่เฉพาะเจาะจง จึงเป็นบทบาทของสถานพยาบาลในการศึกษาเพิ่มเติมในแต่ละประเด็น เช่น การสร้างความผูกพันของบุคลากร ในมาตรฐานมีการกล่าวถึงและสถานพยาบาลจะต้องค้นหาองค์ความรู้ในการสร้างความผูกพันซึ่งอาจมีวิธี/เครื่องใหม่ๆ ตลอดเวลา แต่ยังสอดคล้องการต้องมีการสร้างความผูกพันตามมาตรฐาน
Modernize Healthcare Accreditation ด้วย Development Evaluation Develop Evaluation หมายถึงการประเมินเพื่อค้นหาและสร้างสรรค์วิธีการ/กระบวนการใหม่ๆ อย่างไร สอดคล้องกับแนวคิด Double-loop Learning โดยองค์กรสามารถใช้การประเมินตนเองเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างการเรียนรู้ และการพัฒนา/ปรับปรุงที่ทันการณ์ โดยผสานการประเมินให้เป็นส่วนหนึ่งของงานพร้อมกับการลงมือทำร่วมกับเครื่องมือการประเมินทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพที่หลากหลาย กระบวนการ Development Evaluation มีเครื่องมือที่หลากหลาย โดยเครื่องมือที่แนะนำคือ Revised & Emergent Modeling คือเครื่องมือที่ใช้ทบทวนกระบวนการ โดยนำสู่การใช้ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง (Theory of Change) และ Simulation & Rapid Reconnaissance คือการทดลองและประเมินกระบวนการจากการสร้างกลุ่มตัวอย่าง เป็นแนวคิดเดียวกับการทำ Sandbox
Accreditation 2030: Customized Accreditation ภาพบทบาทของกระบวนการรับรองปี ค.ศ. 2030 นั้นมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เป็นร่มใหญ่การจัดระเบียบงานคุณภาพระดับองค์กร ใช้เพื่อส่งเสริมการบูรณาการองค์กรที่เป็นอิสระจากกัน เช่น การรับรองมาตรฐานรับบเครือข่ายบริการสุขภาพ หรือการใช้เพื่อกระตุ้นการขยายผลการปรับปรุงขนาดใหญ่บางเรื่อง เช่น การรับรองมาตรฐานเฉพาะโรค/เฉพาะระบบ (Program and Disease Specific Certification: PDSC) รวมถึงการใช้การรับรองเป็นระบบการกำกับดูแลโดยเน้นที่ผลการดำเนินการ เป็นจุดคานงัดที่มีอิทธิผลต่อผลลัพธ์นำสู่การกำหนดมาตรฐานเพื่อประเมินผลการดำเนินการ โดยมีผสมผสานการใช้ Accreditation 1.0 และ Accreditation 2.0 ร่วมกันตามความเหมาะสม
ในด้าน User Perspective กระบวนการรับรองจะมีแนวทางหลักคือ การรับรองระบบบริการทั้งระบบตามเส้นทางเดินของผู้ป่วย (Patient Journey) ตั้งแต่การดูแลระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ และการดูแลแบบประคับประคองตลอดเส้นทาง เน้นย้ำสุขภาวะ (Health) สุขภาพของสังคมและประชากร (Social & Population Health) ในภาพรวม รวมถึงการให้ความสำคัญของการสร้างเสริม/ธำรงสุขภาพเทียบเท่ากับการซ่อมแซมโรค โดยการรับรองรายองค์กรยังคงมีอยู่ซึ่งจะต้องใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการสะสมความสำเร็จเพื่อการได้รับการรับรอง โดยสรพ. จะต้องมีการติดตามข้อมูลจากทุกองค์กรเพื่อให้ในการวางแผนการดำเนินการหรือปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
ในกระบวนการเยี่ยมสำรวจเพื่อรับรองคุณภาพ มีช่องทางในการได้รับข้อมูลที่หลากหลาย อาจมาจากการกำหนดให้มีการเยี่ยมสำรวจแบบไม่แจ้งล่วงหน้านานเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงและสามารถรับรู้บริบท/ธรรมชาติขององค์กรได้ชัดเจน โดยผู้เยี่ยมใช้การตั้งคำถามจุดประกาย/เลือกใช้มาตรฐานในการเข้าเยี่ยม/และการตามรอยจากผลลัพธ์โดยยึดบริบทของสถานพยาบาลเป็นหลัก รวมถึงการทบทวนข้อมูลจากเอกสารของสถานพยาบาล การตอบสนองต่อ Daily Variation & External Disruptive Events การรวบรวมข้อมูลผลลัพธ์ที่แสดงประสิทธิภาพของระบบงานในสถานพยาบาล การสำรวจประสบการณ์ของผู้ป่วย การดำเนินงานที่ส่งผลต่อสุขภาพของประชากร การประสานดำเนินงานและข้อมูลระหว่างสถานพยาบาล และการนำระบบอัตโนมัติต่างๆ มาใช้
จากแนวคิด Knowledge Translation จะเห็นได้ว่า ทุกองค์ประกอบของกระบวนการรับรองคุณภาพ (Accreditation) เป็นส่งผ่านองค์วามรู้ให้แก่สถานพยาบาล และทำให้สถานพยาบาลได้มีองค์ความรู้ที่เป็นปัจจุบัน โดยสรพ. ได้พัฒนากระบวนการรับรองคุณภาพที่หลากหลายเพื่อสร้างและส่งต่อองค์ความรู้ โดยมีข้อกำหนดตามมาตรฐานเป็นความรู้สำคัญเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของสถานพยาบาลที่รับการเยี่ยมสำรวจให้มุ่งเน้นความปลอดภัย และส่งผลให้สถานพยาบาลในประเทศไทยมีผลลัพธ์การดำเนินงานที่ดีขึ้น (Better Outcomes) ปรับปรุงประสบการณ์ของผู้ป่วย (Improve Patient Experience) ดำเนินงานด้วยต้นทุนที่คุ้มค่า (Lower Cost)
คนทำงานมีประสบการณ์ที่ดี (Improve Personnel Experience) และยกระดับความเท่าเทียมด้านสุขภาพ (Advancing Health Equity) สมกับวิสัยทัศน์ของสรพ. “สถานพยาบาลมีระบบคุณภาพระดับสากล ประชาชนปลอดภัยด้วยมาตรฐาน HA”
ผู้ถอดบทเรียน สุทธิพงศ์ คงชุม นักวิชาการคอมพิวเตอร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ