ในยุคปัจจุบัน การนำเทคโนโลยีทางการพยาบาลมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มความปลอดภัย และสุขภาวะ นับเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้อง ตรงตามเป้าหมายของโรงพยาบาล พร้อมทั้งสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหารได้อย่างถูกต้อง มีตัวอย่างรูปธรรมของการดำเนินงานจาก 2 โรงพยาบาล คือ
- ห้องผ่าตัดศัลยกรรมประสาท คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล: พยาบาลห้องผ่าตัด นอกจากต้องให้การพยาบาลทั้งก่อน ระหว่าง และหลังผ่าตัดแล้ว ยังต้องทำหน้าที่ในการจัดเตรียมอุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ เฝ้าระวังความผิดพลาดขณะใช้งาน รวมถึงบำรุงรักษาเครื่องมือแพทย์ ซึ่งเป็นภาระงานที่สูง ทีมจึงเก็บข้อมูลภาระงาน ความต้องการของบุคลากร และนำมาพัฒนาเป็นหลักสูตร นักเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ และห้องผ่าตัด เพื่อมาช่วยแบ่งเบาภาระงานพยาบาลในการบริหารจัดการเครื่องมือแพทย์ ทำให้พยาบาลมีเวลาในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งกุญแจของความสำเร็จนี้คือ ทุกคนต้องเข้าใจบทบาทหน้าที่ มาตรฐานของแต่ละวิชาชีพ แต่ละตำแหน่งงาน จะทำให้มีการทำงานที่สอดคล้องและไม่ทับซ้อนกัน รวมทั้งต้องเพิ่มพูนความเชี่ยวชาญของนักเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์อยู่เสมอ ซึ่งจะส่งผลให้การผ่าตัดมีความปลอดภัย และบุคลากรไม่เกิดความเครียดจากภาระงานที่มากเกินไป
- รพ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี: ที่ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยจัดตารางเวรปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้ระยะเวลาที่ใช้ในการจัดตารางเวรลดลง มีหลักฐานการแลกเวร สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ ส่งต่อข้อมูลให้กับการเงินเพื่อคำนวณ และจ่ายค่าตอบแทนได้ตรงเวลา ลดระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจสอบข้อมูล และผู้บริหารสามารถนำข้อมูลมาพัฒนาการกระจายอัตรากำลังได้อย่างเหมาะสม มีกุญแจของความสำเร็จคือ ผู้บริหารต้องรับฟัง เข้าใจปัญหาของผู้ปฏิบัติงาน และมองหาวิธีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาออกแบบและพัฒนา เพื่อแก้ไขปัญหา
จากตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น การเลือกนำเทคโนโลยีมาช่วยปฏิบัติงานต้องมีความเหมาะสม สอดคล้องกับบริบท และช่วยเพิ่มความเเม่นยำในการตัดสินใจ เรายังคงต้องดำรงไว้ซึ่งมาตรฐาน และบทบาทของวิชาชีพ ไม่ว่าจะมีใครหรืออะไรที่เข้ามาช่วยในการปฏิบัติงาน แต่บทบาทในการพยาบาลยังคงต้องเป็นของพยาบาล
ไตรสิทธิ์ ภูวเตชะหิรัณย์
ผู้เรียบเรียง