สถานพยาบาลปฐมภูมิใกล้บ้านใกล้ใจในมุมมองที่หลากหลาย

0
2418

     ปัจจุบันการให้บริการปฐมภูมิมีบทบาทสำคัญในระบบสาธารณสุขของประเทศไทย หากต้องการให้บริการปฐมภูมิเติบโตและพัฒนาต่อไปอย่างยั่งยืน เราจำเป็นต้องมองภาพรวมของการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมในทุกสาขาวิชาชีพ รวมทั้งเครือข่ายด้านประชาชนในทุกภาคส่วน ทั้งยังต้องเชื่อมโยงไปถึงบ้านของผู้ป่วย ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในชุมชน และสถานที่ดูแลประชาชนกลุ่มต่างๆ 

     หากเรามองว่าบริการปฐมภูมิจะเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ของบริหารสุขภาพ (Ecology of health)  โดยให้ประชาชนเป็นจุดศูนย์กลาง จะทำให้เกิดการบริหารระบบสุขภาพแบบบูรณาการ ที่ไม่เพียงแค่การดูแลเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึง การส่งเสริม ฟื้นฟูและป้องกันสุขภาพของตนเอง จึงจะถือว่าเป็นองค์รวมเบ็ดเสร็จผสมผสาน นอกจากนี้การให้บริการปฐมภูมิจำเป็นต้องมีความเข้าใจ ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และใช้ข้อมูลเป็นตัวนำในการกำหนดแนวทางการให้บริการ ทั้งในรูปแบบออฟไลน์ และออนไลน์ ให้สอดคล้องไปกับเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามา ตามแนวคิด

“รู้จัก รู้ใจ เข้าถึง พึ่งได้”

     แต่ประเด็นท้าทายของการให้บริการปฐมภูมิปัจจุบัน คือ การเชื่อมโยง และส่งเสริมความต่อเนื่องของบริการ ยกตัวอย่างเช่น การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปสู่ อบจ. ซึ่งมีทั้งมุมมองในแง่ “โอกาส” และ “วิกฤต” หากเรามองเป็นวิกฤต เราคงมองว่าเต็มไปด้วยอุปสรรค ปัญหาที่เข้ามามากมายเต็มไปหมด แต่หากเรามองว่าเป็นโอกาส จะช่วยให้เราสามารถเข้าถึง และจัดการดูแลประชาชนได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การคัดลอกงานจากสังกัดเดิม แต่เป็นการปรับเปลี่ยน (transform) และยกระดับการบูรณาการ (integrate) ของการให้บริการปฐมภูมิให้สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มจุดการเข้าถึงบริการ (access point) การค้นพบแนวทางการใช้วิธีการใหม่ ๆ  รวมถึงการจัดการบริการต่าง ๆ  จนนำไปสู่ “ความเป็นไปได้ใหม่ๆ” อันเป็นการนำจุดแข็งของท้องถิ่นมาร่วมเสริมกับระบบสาธารณสุข 

     “การดูแลสุขภาพปฐมภูมิ (Primary care) = การให้การดูแลสุขภาพที่ประชาชนจะนึกถึง และประสงค์จะไปใช้บริการเป็นจุดแรกหรือเป็นประจำ เมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ มีความเสี่ยงทางสุขภาพ มีความเจ็บป่วย หรือเมื่อต้องได้รับบริการ หรือ คิดตามผลของการดูแลรักษาพยาบาลตลอดจนฟื้นฟูสุขภาพอย่าง ต่อเนื่อง รวมถึงการให้บริการสุขภาพเชิงรุกที่คณะ และเครือข่ายผู้ให้การบริบาลปฐมภูมิเป็นผู้ดำเนินการ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการ ดูแลสุขภาพที่ได้รับจากบริการดังกล่าว”

      จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ และคณะ 2563

 

ปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมให้การให้บริการปฐมภูมิประสบความสำเร็จ ได้แก่

1. คุณภาพที่สำคัญของการให้บริการปฐมภูมิ

  • Soft sides : สัมพันธภาพ ความพอดี ความสอดคล้องของบริการ การตอบสนองต่อบริบทพื้นที่ การจัดการได้ทันเวลา (Relationship, Empathy)
  • Evidence based practices: เลือกใช้ intervention ที่เหมาะสม การ early detection
  • มีผลลัพธ์เบื้องต้น คือ การเข้าถึงบริการโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ความยอมรับ และความไว้ใจต่อบริการ (Trust)
  • ระบบการจัดบริการ : การจัดการไหลเวียนบริการ การเชื่อมโยงบริการให้เป็นองค์รวม

2. นโยบายและความเข้าใจของผู้บริหารต่อบริการสุขภาพปฐมภูมิ การจัดกำลังที่เพียงพอกับภาระงาน

  • ทีมงาน มีพื้นความรู้ ความสามารถในด้านเวชศาสตร์ครอบครัว และเท่าทันความรู้ใหม่
  • การจัดการระบบบริหาร ที่ให้ทีมงาน มีอำนาจการตัดสินใจในการปรับปรุงงานได้เอง มีทรัพยากรในการจัดการได้เองระดับหนึ่ง
  • การจัดบริการที่เชื่อมต่อ สนับสนุน ร่วมกับโรงพยาบาล บริการทุติยภูมิ/บริการเฉพาะ
  • ระบบติดตามงาน ที่ตรงกับลักษณะจำเพาะ ลักษณะเด่นของปฐมภูมิการจัดระบบสนับสนุนเชิงมหภาค : การจัดสรรงบประมาณ ทรัพยากร เพื่อปฐมภูมิที่ชัดเจน

3. ระบบการให้บริการปฐมภูมิควรมีอิสระในการดูแล และบริหารตนเอง (autonomy) ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการ การติดตาม และประเมินผลการให้บริการของตนเอง โดยยึดประชาชนเป็นหลัก

     ในโอกาสนี้ที่งานประชุม HA Forum มาพร้อมกับแนวคิด “Growth Mindset for Better Healthcare System” สำหรับการให้บริการปฐมภูมินั้น เราต้องมี mindset ที่มองชุมชนเป็นสำคัญ และจัดรูปแบบการให้บริการที่เหมาะสมจากความเข้าใจคนและบริการ มีความพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน เปิดกว้างเรื่องเครือข่าย และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามา เพื่อให้ระบบบริการปฐมภูมิเติบโต และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืนต่อไป

บรรณสรณ์ เตชะจำเริญสุข ผู้ถอดความ

 

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here