“การแพทย์แม่นยำ” (precision medicine) การดูแลรักษาที่ลงลึกเฉพาะตัวถึงระดับ DNA โรงพยาบาลของไทยทำได้ถึงไหนแล้ว

0
2414

     การแพทย์แม่นยำสามารถเติมเต็มช่องว่างในการรักษาปัจจุบัน ที่มุ่งเน้นการรักษาแบบตั้งรับ คือรักษาหลังเกิดความเจ็บป่วยแล้ว โดยช่วยให้การรักษาโรคบางชนิดได้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ลดอาการข้างเคียงจากการใช้ยา ชะลอการดำเนินของโรคในผู้ป่วยระยะต้น ป้องกันการเกิดโรคสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง และทำนายความเสี่ยงการเกิดโรคในคนปกติ

     มนุษย์มี DNA 99.9% เหมือนกัน แต่ 0.1% ที่ไม่เหมือนกันนั้นส่งผลให้เราแตกต่างกันอย่างมหาศาล หากเราเข้าใจบริบทที่ทำให้เรามีความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างกัน จะสามารถนำมาปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต เพื่อป้องกัน ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในกลุ่มเสี่ยงสูง และกำหนดความถี่ในการตรวจติดตามโรคได้ ซึ่งนั่นคือสิ่งสำคัญของการแพทย์แม่นยํา

     แม้ปัจจุบันราคา และระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์แม่นยำนั้นลดลง แต่ไม่ได้ส่งผลให้เกิดเปลี่ยนแนวการให้บริการสุขภาพ อย่างไรก็ตามการแพทย์แม่นยำก็ยังเป็นส่วนหนึ่งในอาวุธสำคัญของบุคคลากรทางการแพทย์ในไทย ตั้งแต่ ตรวจหาโรคทางพันธุกรรมก่อนมีบุตร ตรวจหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ การป้องกันโรค ชะลอการพัฒนาของโรค ยามุ่งเป้าที่เฉพาะกับโรค ทำนายความเสี่ยงแพ้ยา ไปจนถึงชันสูตรการเสียชีวิตที่อาจมีสาเหตุจากโรคทางพันธุกรรม เพื่อลดความเสี่ยงการเสียชีวิตในญาติสายตรง แต่สิ่งเหล่านี้ยังจำกัดอยู่ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ และโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งแนวทางการพัฒนาในประเทศไทย คือขยายการเข้าถึงการตรวจให้ทั่วถึง ไม่จำเป็นต้องมีห้องตรวจปฏิบัติการทางการแพทย์แม่นยำในโรงพยาบาล แต่ต้องมีศูนย์ตรวจฯ ของทั้งภาครัฐ และเอกชนทั่วประเทศที่มีมาตรฐานเชื่อถือได้ และให้ผู้ปฏิบัติงานในระบบสุขภาพเข้าใจ และสามารถให้บริการการแพทย์แม่นยำได้เหมาะสม 

     การปรับใช้การแพทย์แม่นยำในภาครัฐมีเป้าหมายเพื่อค้นหาความเสี่ยงในการเกิดโรค มุ่งให้ประชาชนมีที่อายุยืนยาวและสุขภาพดี โดยมุ่งเป้าในผู้ป่วย และญาติสายตรง ตามข้อบ่งชี้ที่ สปสช. กำหนดจากข้อมูลที่ได้จากฝั่งวิชาการ โดยให้กำหนดแนวทางปฏิบัติให้มีความเสมอภาค คุ้มค่า สามารถประเมินผลได้ เสริมสร้างความเข้าใจการแพทย์แม่นยําให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน และการมีห้องปฏิบัติการที่มาตรฐานเพียงพอ โดยประสานร่วมมือระหว่าง โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน ห้องปฏิบัติการของภาครัฐและเอกชน  ให้เหมาะสมกับบริบทของผู้ป่วยแต่ละราย 

 

ไตรสิทธิ์ ภูวเตชะหิรัณย์

ผู้เรียบเรียง

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here