การเสวนาในเรื่องนี้ได้กล่าวถึงแนวคิดในการดูแลสุขภาพที่ครอบคลุมทั้งสุขภาพร่างกาย และจิตใจ แนวคิด Psychological Safety หรือ “ความปลอดภัยทางจิตใจ” และ Lifestyle Medicine หรือ “เวชศาสตร์วิถีชีวิต” มีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ความปลอดภัยทางจิตใจสามารถส่งเสริมการดูแลสุขภาพกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Psychological Safety คือ สภาพแวดล้อมที่บุคคลสามารถแสดงความคิดเห็น แสดงออกถึงตัวตน และทำผิดพลาดโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตำหนิหรือลงโทษ แนวคิดนี้มีความสำคัญในองค์กร และสถานที่ทำงาน รวมถึงในแวดวงสาธารณสุข ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพการทำงานและการดูแลผู้ป่วย มีประโยชน์ของ คือ
- ลดความเครียด และภาวะหมดไฟ เมื่อบุคลากรสามารถพูดคุยถึงปัญหา และข้อกังวลได้โดยอิสระ ความเครียดจะลดลง
- เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเป็นทีม เมื่อทุกคนรู้สึกปลอดภัย พวกเขาจะกล้าร่วมมือ และสนับสนุนกันมากขึ้น
- ส่งเสริมการเรียนรู้และนวัตกรรม ทีมที่มี Psychological Safety จะกล้าลองแนวทางใหม่ๆ และพัฒนาการทำงานให้ดีขึ้น
เวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine)
เป็นแนวทางทางการแพทย์ยุคใหม่ที่ประยุกต์มาจากสาธารณสุขและเวชศาสตร์ป้องกัน (Public Health and Preventive Medicine) ซึ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมส่วนบุคคล เน้นสร้างแรงจูงใจ อาศัยความร่วมมือของผู้ถูกดูแล เพื่อส่งเสริมป้องกันโรคและจัดการโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ โดยมีเสาหลักสำคัญ 6 ประการ ได้แก่:
- โภชนาการที่ดี อาหารที่มีประโยชน์ช่วยลดการอักเสบ และเสริมสร้างพลังงาน
- กิจกรรมทางกาย การออกกำลังกายช่วยเสริมสร้างสุขภาพกาย และจิตใจ
- การหลีกเลี่ยงสารอันตราย หลีกเลี่ยงบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติดที่ทำลายสุขภาพ
- การจัดการความเครียด เทคนิคการผ่อนคลายช่วยให้จิตใจสงบ และลดความเสี่ยงต่อโรค
- สุขอนามัยในการนอนหลับ การนอนที่มีคุณภาพช่วยฟื้นฟูร่างกายและสมอง
- ความสัมพันธ์ทางสังคม การมีเครือข่ายสนับสนุนที่ดีช่วยให้มีความสุขและลดความเครียด
การสร้างสุขภาพใจ สู่การดูแลสุขภาพกาย คือการสร้างความปลอดภัยทางจิตใจในที่ทำงานหรือครอบครัวส่งผลต่อพฤติกรรมด้านสุขภาพและการเลือกใช้ชีวิต โดยส่งเสริมการดูแลสุขภาพของตนเองได้ดียิ่งขึ้น เช่น
- การจัดการความเครียด และสุขอนามัยในการนอนหลับ Psychological Safety ช่วยให้บุคคลจัดการความเครียดได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อคุณภาพการนอน
- การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย สภาพแวดล้อมที่สนับสนุนจะทำให้พนักงานหรือบุคคลทั่วไปมีแรงจูงใจในการออกกำลังกาย
- สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยทางจิตใจ ผู้นำองค์กรควรเปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็น และส่งเสริมการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์
- สร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ไม่ลงโทษความผิดพลาด แต่ใช้เป็นโอกาสในการเรียนรู้
- สนับสนุนพฤติกรรมสุขภาพในองค์กร จัดโครงการส่งเสริมสุขภาพ เช่น การออกกำลังกายเป็นกลุ่ม หรือกิจกรรมจัดการความเครียด
- สนับสนุนการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพในที่ทำงาน
- ฝึกฝนการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ฝึกสติ และเทคนิคการผ่อนคลายเพื่อลดความเครียด
Psychological Safety และ Lifestyle Medicine เป็นแนวคิดที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพใจ และกายไปพร้อมกัน โดยการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยทางจิตใจ บุคคลจะสามารถดูแลสุขภาพกายของตนเองได้ดีขึ้น ผ่านแนวทางเวชศาสตร์วิถีชีวิต การผสมผสานแนวคิดทั้งสองนี้สามารถช่วยให้สังคมมีสุขภาพที่ดีขึ้นในระยะยาว และลดภาระของระบบสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ท่านวิทยากร นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ และแพทย์หญิงกอบกาญจน์ได้แนะนำช่องทางเรียนรู้ จิตวิทยาสติ เพื่อสร้าง Psychological Safety และ Lifestyle Medicine ได้ทางช่องทางดังนี้ เช่น
แหล่งสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม
YouTube: จิตวิทยาสติ (Mindfulness Psychology)
Facebook: เพจสร้างสุขด้วยสติในองค์กร
Website: https://mindpsy.org
Maxcy-Rosenau-Last Public Health and Preventive Medicine: Sixteenth Edition 16th Edition
ไตรสิทธิ์ ภูวเตชะหิรัณย์
ฐากูร ฐิติเศรษฐ์
ผู้ถอดความ