ชื่อเรื่อง PTC กับบทบาทการจัดการด้านยา ผู้เขียน ภญ.จันทร์จารึก รัตนเดชสกุล ตำแหน่ง เภสัชกร โรงพยาบาลบ้านธิ และผู้เยี่ยมสำรวจ สรพ. ผู้เขียน ภก.ภาสกร รัตนเดชสกุล ตำแหน่ง เภสัชกร โรงพยาบาลพนมไพร และผู้เยี่ยมสำรวจ สรพ.
วัตถุประสงค์การเรียนรู้ 1.เพื่อให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดในการจัดการด้านยาจากคณะกรรมการเภสัชกรรม และการบำบัด 2.เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ภาพรวมของบทบาท และหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการเภสัชกรรม และการบำบัด
คำสำคัญ PTC, คณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด, บทบาทการจัดการด้านยา
การจัดการระบบด้านยา เป็นการจัดการกระบวนการในระบบบริการที่มีความซับซ้อน เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับวิชาชีพที่หลากหลาย เช่น แพทย์, พยาบาล และเภสัชกร เป็นต้น การดำเนินงานในแต่ละกระบวนจะมีความเชื่อมโยงต่อเนื่องซึ่งกัน และกัน ดังนั้นในภาพรวมของการจัดการระบบในโรงพยาบาลจึงต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่มาจากสหวิชาชีพ คือ คณะกรรมการเภสัชกรรม และการบำบัด (Pharmaceutical and therapeutic Committee: PTC) ทำหน้าที่ดำเนินการจัดการใน 2 บทบาทหลัก คือ การจัดการระบบตำรับยา และการจัดการด้านความปลอดภัยจากการใช้ยา มีการกำหนดนโยบาย และกลวิธีการดำเนินการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในระบบยา ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดกระบวนการในการสร้างความเข้าใจ และการเชื่อมโยงกันในการดำเนินงานได้อย่างเหมาะสมในองค์กร จนสามารถที่จะบรรลุได้ตามเป้าประสงค์สำคัญของระบบยาในการสร้างความปลอดภัยของผู้ป่วยจากการใช้ยา
ระบบการจัดการด้านยา เป็นระบบหนึ่งที่มีความสำคัญมากในการพัฒนาคุณภาพในสถานพยาบาลเพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความปลอดภัยจากการใช้ยาเป็นเป้าหมายสำคัญ ซึ่งในกระบวนการจัดการในระบบของการให้บริการจะมีความเกี่ยวข้องกับวิชาชีพที่หลากหลาย เช่น แพทย์, พยาบาล และเภสัชกร เป็นต้น กระบวนการดำเนินงานต่างๆ จะมีความเชื่อมโยงต่อเนื่องซึ่งกัน และกัน เพราะหากเกิดความคลาดเคลื่อนในกระบวนการใดกระบวนการหนึ่งก็อาจจะส่งผลให้กระบวนการต่อไปเกิดความเสี่ยง หรือความคลาดเคลื่อนขึ้นได้ การวางระบบเพื่อให้เกิดการดักจับ คัดกรอง และตรวจสอบให้เกิดการจัดการที่มีความถูกต้อง และเหมาะสมกับกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาทั้งหมด ตั้งแต่การคัดเลือกยา การจัดทำบัญชียา การสำรองยา การสั่งใช้ยา การคัดกรองคำสั่ง การกระจายยา การบริหารยา และติดตามผลหลังจากการบริหารยา ตลอดจนหากมีการทบทวนแนวทางการใช้ยา การประเมินการใช้ยา จะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้การพัฒนาระบบการจัดการด้านยามีประสิทธิภาพ
การพัฒนาระบบจัดการด้านยาให้มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีการกำหนดนโยบาย และเป้าหมายของการจัดการที่ชัดเจนมีความสอดคล้องกับนโยบาย และเป้าประสงค์ของระดับองค์กร ซึ่งการกำหนดนโยบายจำเป็นต้องอาศัยการดำเนินงานเป็นทีม ในการจัดการด้านยาที่ผ่านมาจะเน้นให้ความสำคัญกับระดับทีม คือคณะกรรมการเภสัชกรรม และการบำบัดเป็นสำคัญ ในต่างประเทศชื่อเรียกของคณะกรรมการชุดนี้จะพบในลักษณะที่แตกต่างกันทั้ง Pharmacy and Therapeutics Committee หรือ Pharmaceutical & therapeutic committee (คำย่อ PTC หรือบางครั้งย่อว่า P&T committee) หรือเรียกว่า Drug and Therapeutics Committee (DTC) ซึ่งพบว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการทั้งหมดจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ทีมเกิดการดำเนินงานในระบบการจัดการด้านยา ซึ่งโรงพยาบาลภายใต้สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีการกำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเภสัชกรรม และการบำบัด (Pharmacy and Therapeutics Committee: PTC) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการเวชภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพ โดยมีบทบาทที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการด้านยาโดยตรง
เพื่อให้การกำกับดูแลระบบการจัดการด้านยามีความปลอดภัย มีการใช้ยาอย่างสมเหตุผล มีประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพ คณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด (PTC) ควรมีการดำเนินการจัดการใน 2 บทบาทหลัก คือ การจัดการระบบตำรับยา และการจัดการด้านความปลอดภัยจากการใช้ยา มีการประกาศเป้าประสงค์ความปลอดภัยด้านยา กำหนดนโยบาย และกลวิธีการดำเนินการให้มีความชัดเจนในผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในระบบยา ซึ่งหลังจากที่ได้ชี้นำนโยบายแล้วคณะกรรมการควรมีการกำหนดรอบเวลาในการติดตามแต่ละประเด็น เพื่อนำไปสู่การปรับปรุง และการสร้างความเข้าใจ การเชื่อมโยงกันในการดำเนินงานได้อย่างเหมาะสม จะสามารถทำให้บรรลุได้ตามเป้าประสงค์เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยจากการใช้ยา
ดาวน์โหลดที่นี่…ฟรี PTC กับบทบาทการจัดการด้านยา
Photo by Laurynas Mereckas on Unsplash