การสำรวจ Quality Care Poll 2023 เป็นผลการสำรวจจากผู้เข้าร่วมประชุม HA National Forum ครั้งที่ 23: “Synergy for Safety and Well-being” และจากทางบ้าน มีผู้ตอบจำนวน 220 คน ส่วนใหญ่มาจาก โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข คิดเป็น 62.27%
คำถามในแบบสำรวจเป็นการประเมินตนเอง ใน 3 ด้าน คือ ลักษณะการผนึกกำลังในองค์กร ปัจจัยอุปสรรคในการผนึกกำลัง และระดับสุขภาวะด้านต่าง ๆ ของตนเอง ผู้ร่วมตอบแบบสอบถามจะให้คะแนนจาก น้อยที่สุด = 1 คะแนน จนถึงมากที่สุด = 5 คะแนน
การผนึกกำลังในองค์กร
ด้านแรกเป็นการให้ผู้ตอบแบบสอบถามให้ความเห็นเกี่ยวกับองค์กร โดยให้ระดับความเห็นใน 3 คำถามที่เกี่ยวข้องกับการผนึกกำลัง/การร่วมมือกันในองค์กรแต่ละข้อดังนี้
- องค์กรมีกระบวนการที่ส่งเสริมให้เกิดการผนึกกำลัง
- การทำงานประจำวันของท่าน มีการผนึกกำลังกับผู้อื่น
- การผนึกกำลังมีสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายขององค์กร
ผลการสำรวจ พบว่า ทั้ง 3 คำถามได้รับการประเมินในระดับ “มาก” และ “มากที่สุด” เกินกว่า 70% ของผู้ตอบ โดยที่คำถาม “การผนึกกำลังมีความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายขององค์กร” มีผู้ตอบระดับ “มากที่สุด” 62.62% ตามมาด้วย “การทำงานประจำวันของท่านมีการผนึกกำลังกับผู้อื่น” และ “องค์กรมีกระบวนการส่งเสริมให้เกิดการผนึกกำลัง” ร้อยละ 30.41 และ 27.19 ตามลำดับ
ปัจจัยอุปสรรคต่อการผนึกกำลัง
ผลการสำรวจ ด้านปัจจัยอุปสรรคต่อการผนึกกำลังขององค์กร ในภาพรวม พบว่า อุปสรรค 3 อันดับแรก คือ เวลา และทรัพยากรที่จำกัด รองลงมาคือ การขาดการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และ การขาดความเชื่อมั่นต่อกันและกัน โดยเมื่อวิเคราะห์จำแนกตามสังกัดขององค์กร ก็พบว่ามีแนวโน้มคล้ายคลึงกัน
นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถาม ยังได้ระบุถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการผนึกกำลังร่วมกันของคนในองค์กร ซึ่งประเด็นสำคัญที่น่าสนใจคือ ด้านนโยบาย และกฎระเบียบต่าง ๆ ในการทำงาน เนื่องจากการทำงานในองค์กรส่วนใหญ่เป็นระบบที่ต้องอาศัยขั้นตอน และระเบียบมากมาย ทำให้เป็นอุปสรรค์ในการทำงานร่วมกัน ทำให้การทำงานไปได้อย่างเชื่องช้า อีกทั้งชุดความคิด (mindset) และทัศนคติของผู้ทำงานก็มีส่วนสำคัญในการกำหนดความสำเร็จในการผนึกกำลังร่วมกัน โดยควรต้องมี growth mindset พร้อมที่จะพัฒนาและเติบโต และทัศนคติเชิงบวกในการทำงานร่วมกัน
ระดับสุขภาวะ
ผลสำรวจด้านสุขภาวะของผู้ตอบแบบสอบถาม 8 ด้าน ประกอบด้วย อารมณ์ อาชีพ ปัญญา สิ่งแวดล้อม การเงิน สังคม ร่างกาย และความสัมพันธ์ พบว่า สุขภาวะด้านอาชีพ เป็นด้านที่มีค่าเฉลี่ยคะแนนสูงสุด (4.28) ตามมาด้วยด้านสิ่งแวดล้อม (4.15) และด้านความสัมพันธ์ (4.13) ตามลำดับ ส่วนด้านที่มีคะแนนต่ำที่สุดคือ ด้านการเงิน (3.68) ด้านร่างกาย (3.88) และด้านอารมณ์ (3.99) ตามลำดับ
จากผลการสำรวจพบว่า อุปสรรคใหญ่ต่อการผนึกกำลังร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดความปลอดภัย และสุขภาวะที่ดีของผู้ป่วยคือ เวลา และทรัพยากรที่จำกัด และการสื่อสารที่ขาดประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นจุดที่ควรพัฒนาร่วมกันในทุกองค์กร อีกทั้งระดับสุขภาวะของบุคลากรในองค์กร ซึ่งเป็นกลุ่มคนสำคัญในการขับเคลื่อนการผนึกกำลังให้สำเร็จ ยังต้องการการส่งเสริมด้านการเงิน และด้านร่างกาย และเป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ด้านการเงินจะเป็นความท้าทายใหญ่ของบุคลากรในระบบสุขภาพ แต่กลับพบว่า ด้านอาชีพ กลับเป็นด้านที่ได้รับคะแนนสูงสุด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเรามีความภาคภูมิใจ และรับรู้ถึงประโยชน์ที่แท้จริงของหน้าที่ของตน อันจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อสุขภาพของผู้ป่วย และส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยในกระบวนการรักษา ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรส่งเสริมต่อไป
ศุภชัย อินสุข
เรียบเรียง