จิตวิญญาณของการใส่ใจดูเเล

0
2389

อาจารย์เริ่มกล่าวนำเรื่องด้วยการตั้งคำถามเกี่ยวมนุษย์ว่า

‘จุดเริ่มต้นของอารยธรรมมนุษย์เริ่มเมื่อไหร่ ?’

Margaret Mead ชี้ให้เห็นถึงหลักฐานทางโบราณคดีกระดูกต้นขาโบราณที่ขุดค้นว่ามีรอยหักและสมานได้ บ่งบอกถึงมนุษย์คนนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของมนุษย์อีกคน และนั่นคือจุดเริ่มต้นของสัญญาณอารยธรรมของมนุษย์ นั่นหมายถึง โดยแท้แล้วมนุษย์เรามีจิตวิญญาณของการดูแลใส่ใจกันและกัน

งานสาธารณสุขเราเป็นงานที่ได้มีโอกาสใช้จิตวิญญาณนั้น คือการที่เราได้เห็นคนไข้มาตั้งแต่ เกิด แก่ เจ็บ จนตาย โดยเราได้มีโอกาสดูแลใส่ใจเพื่อนมนุษย์ในแต่ละช่วง

  • เกิด (การเริ่มต้นของชีวิต) – ช่วงเวลาของความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ความฝัน ความหวัง และการเริ่มต้นของชีวิตใหม่ การทำคลอดมิใช่เพียงแค่การทำคลอดเด็กทารกคนหนึ่ง แต่เป็นการทำคลอดความฝันของแม่คนหนึ่งอีกด้วย ไม่เพียงแค่นั้นสถานที่เช่นห้องคลอด ควรเป็นสถานที่เทิดทูนจิตวิญญาณของผู้หญิงคนหนึ่งให้มีจิตวิญญาณของความเป็นแม่
  • แก่ (ช่วงวัยชรา) – เป็นช่วงที่สะท้อนภูมิปัญญา และการแสวงหาคุณค่าทางจิตวิญญาณ เพราะภูมิหลังของคนไข้แต่ละคนมีเรื่องราว สิ่งที่ยังมีห่วง สิ่งที่ยังอยากทำ แตกต่างกัน ดังนั้นคลินิกผู้สูงวัยควรมี life review มีการซักถามถึงช่วงที่ผ่านมาว่ายังมีอะไรค้างคาใจไหมหรือไม่ เพื่อนำไปสู่ช่วงสุดท้าย คือ การตายจากไปอย่างมีความสุข
  • เจ็บ (ความเจ็บป่วย) – การที่บุคคลากรทางการแพทย์ ยืนอยู่ตรงกลางของกระบวนการรักษา เราอาจจะเคยชินกับการมองแต่เรื่องโรค(diseases) แต่ลืมมองในแง่ของความเจ็บป่วย (illness/suffering) เราจึงควรมีการฟังให้มากขึ้นจากเดิม จึงอาจเป็นทักษะที่เราควรพัฒนาให้มากขึ้นในการมีจิตวิญญาณนี้
  • ตาย (วาระสุดท้ายของชีวิต) – อาจารย์ได้ให้นิยามของการตายที่ดี คือการตายอย่างสันติกับความอ่อนโยนต่อชีวิต หากเราวางแผนพูดคุยถึงเรื่องวาระสุดท้ายกันมาตลอดทาง ผู้ป่วยก็จะเกิดความเข้าใจถึงโรคและอาการ ในต่างประเทศพบว่าสามารถลดอัตราการมารพ.โดยไม่จำเป็นได้อย่างมาก นอกจากนั้นก็จะนำไปสู่ความหมดห่วงและจากไปอย่างมีความสุข

ท้ายที่สุดอาจารย์ได้กล่าวถึงสุนทรียศาสตร์ในการทำงาน (Aesthetics) ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่าคืออะไร? ทุกคนคงรู้จักวิสัญญีวิทยา (Anaesthetics) วิชาว่าด้วยการระงับความรู้สึก ถ้าเราทำงานแบบนั้นก็เหมือนเราโดนดมยา ทำงานไร้ความรู้สึก มองเป็นงานซ้ำซากทำไปวันวัน เพราะฉะนั้นเราควรทำแบบสุนทรียศาสตร์ (Aesthetics) คือการทำงานด้วยความรู้สึกด้วยหัวใจด้วยจิตวิญญาณของการดูแลกัน

ศักดิธัช อิทธิพิสิฐ

ผู้เรียบเรียง

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here