Telemedicine: ข้อคิดสถานพยาบาลในการปรับตัว

0
3773

ทำความรู้จักกับ Telemedicine

     Telemedicine มีการทำในต่างประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว และมีการทำมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงการระบาดของ COVID-19 องค์การอนามัยโลกได้กำหนดแนวทางของการทำ telemedicine และเผยแพร่ในรูปแบบหนังสือ เช่น Consolidated telemedicine implementation guide รวมถึงเล่มอื่นๆที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ทั้งในเรื่อง telehealth และ telemedicine

     Telehealth หมายถึงการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ICT) ในการส่งมอบบริการด้านสุขภาพ โดยไม่จำเป็นต้องจำกัดด้วยระยะทาง ตัวอย่างของ telehealth ได้แก่ การให้ความรู้ด้านสุขภาพผ่านเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น การติดตามผลการรักษา การจัดการโรคเรื้อรัง ผ่านวีดีโอคอล รวมถึงการทำ telemedicine เช่น การปรึกษาแพทย์ทางไกล การวินิจฉัยโรค การสั่งใช้ยา จะเห็นได้ว่า telemedicine เป็นส่วนหนึ่งของ telehealth ที่มุ่งเน้นไปที่การรักษา

     Telemedicine หรือ โทรเวชกรรม องค์การอนามัยโลกได้ให้นิยามไว้ว่า คือการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนโดยบุคลากรทางการแพทย์ ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยเน้นที่ระยะทาง (สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เดินทางลำบาก) ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เช่น วีดีโอคอล, โทรศัพท์ หรือ ข้อความ การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อวัตถุประสงค์ในการวินิจฉัย รักษาและป้องกันโรค รวมถึงส่งเสริมสุขภาพของประชาชน ทั้งในระดับบุคคลและชุมชน

     รูปแบบของ telemedicine มีการแบ่งได้หลายรูปแบบ ได้แก่ แบ่งตามกระบวนการทำงาน คือ 1) การจัดเก็บและส่งข้อมูลทางไกล (store and forward) 2) บริการแบบโต้ตอบ (interactive services) และ 3) การติดตามผู้ป่วยทางไกล (remote client/patient monitoring) หรือ telemonitoring  ยังมีการแบ่งรูปแบบของtelemedicine ตามบุคคลที่มีปฏิสัมพันธ์กัน ได้แก่ client-to-provider telemedicine และ provider-to-provider telemedicine องค์การอนามัยโลกแนะนำแนวทางการทำ telemedicine สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาในการเข้าถึงข้อมูลหรือปัญหาในการสื่อสาร เช่น กลุ่มผู้ป่วยหูหนวก, ตาบอด กลุ่ม learning disorder ด้วย

     การให้บริการการแพทย์ทางไกล บรรจุอยู่ในมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ ฉบับที่ 5 ตอนที่ III กระบวนการดูแลผู้ป่วย ฌ. การแพทย์ทางไกล และมีการแสดงรายละเอียดกิจกรรมเพื่อการปฏิบัติในหนังสือคู่มือนำมาตรฐานสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 3 (SPA Part III) สำหรับมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ ฉบับที่ 5

     โดยสรุป ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก การทำ telemedicine ที่ผู้ป่วยติดต่อกับแพทย์เป็นบริการเสริมในการดูแลสุขภาพ ไม่ควรนำมาใช้แทนที่การทำเวชกรรม ควรทำในสถานที่ที่มีระบบการติดตาม และคำนึงถึงความปลอดภัยของข้อมูลผู้ป่วย ที่สำคัญต้องขอความยินยอมกับผู้ป่วยด้วย

ตัวอย่างกรณีศึกษา ของโรงพยาบาลที่ใช้ telemedicine

       โรงพยาบาลวชิรพยาบาล มีให้บริการการรักษาพยาบาล ระบบโทรเวชกรรม (telemedicine) โดยผ่านแอพพลิเคชั่น Vajira@Home เปิดให้บริการครบวงจร 13 ระบบ โดยการทำงานของแอพพลิเคชั่นจะมีการปรึกษาแพทย์ออนไลน์ (Tele-consultation) บริการเภสัชกรรมทางไกล (Tele-pharmacy) ระบบแจ้งเตือนการนัดหมาย แจ้งเตือนการเข้าห้องตรวจ แสดงสถานะรายการ บันทึกประวัติสุขภาพ (Health records) สมุดบันทึกสุขภาพของผู้ป่วย (Patient Health Profile) เป็นต้น

       จุดเริ่มต้นการให้บริการ telemedicine ของโรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ จ.อุบลราชธานี ยังไม่รู้ว่าควรเริ่มในผู้ป่วยกลุ่มไหนก่อน จึงเริ่มจากความสนใจของแพทย์ที่ต้องการติดตามผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลไม่ได้ การมี telemedicine ทำให้ติดตามผู้ป่วยเพิ่มได้เป็นอาทิตย์ละครั้ง หลังจากนั้นพบว่ามีผู้ป่วยที่ให้ญาติมารับยาแทน เป็นระยะเวลานาน โดยที่แพทย์ไม่ได้ตรวจผู้ป่วยเลย จึงเป็นอีก 1 กลุ่มเป้าหมายที่ทางโรงพยาบาลตัดสินใจว่าเหมาะสมกับการให้บริการ telemedicine คือผู้ป่วยที่ไม่สามารถมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลได้ 

       ข้อคิดที่ได้จากการทำ telemedicine ของโรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ พบว่าใช้ได้กับคนไข้กลุ่มน้อย ไม่ลดภาระงาน เพิ่มภาระการนัดหมาย ภาระงานห้องยา ไม่ลดความแออัด ยังคงมีผู้ป่วยมารับบริการที่โรงพยาบาลหนาแน่น มีอุปสรรคด้านการสื่อสาร ผู้ป่วยไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มีสมาร์ทโฟน ญาติไม่อยู่บ้าน แต่… สิ่งที่ได้กลับคืนมา คือ ประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ป่วย ผู้ป่วยบางรายต้องเสียค่าจ้างรถรับส่งในการมาโรงพยาบาลสูงถึงครั้งละ 700 บาท  ได้เห็นความเป็นอยู่ของผู้ป่วยที่บ้าน ผู้ป่วยดูมีความสุขจากการได้รับการตรวจที่บ้านมากกว่าการต้องมารอที่โรงพยาบาล

เมื่อถามถึงความคุ้มค่า ต้องหาจุดสมดุลของสิ่งที่ลงทุน เวลา แรง ค่าใช้จ่าย กับคุณค่าของ telemedicine ว่าอยู่ที่ผู้ป่วยกลุ่มใด

ข้อมูลงานวิจัยจาก HITAP

       ในมุมมองของนักวิจัย telemedicine เปรียบกับการเข้ามาเปลี่ยนทิศทางของกระแสน้ำในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ซึ่ง telemedicine มีทั้งข้อดีและข้อเสีย มีประเด็นเรื่องความไม่ปลอดภัยของข้อมูลที่ต้องคำนึงถึง การทำ telemedicine เพิ่มขึ้นหลังจากที่มีนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่ประกาศให้โรงพยาบาลทุกแห่งใช้การแพทย์ทางไกล

       HITAP ทำโครงการวิจัยภายใต้ความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลกและรัฐบาลไทย (WHO-CCS) ทำการศึกษารายกรณีของโรงพยาบาลในประเทศไทย 10 แห่ง และทำการวิเคราะห์ข้อมูลการรับบริการการแพทย์ทางไกล โดยใช้ข้อมูลของโรงพยาบาล 4 แห่ง จาก สปสช ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มคนที่ใช้บริการ telemedicine มีอายุเฉลี่ย 47-60 ปี เป็นเพศหญิง ส่วนใหญ่พักอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร และสุราษฎร์ธานี ช่วงเวลาที่มีการใช้ telemedicine สูงสุดคือ ช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19 ทั้ง alpha wave delta wave และ omicron wave  ผู้ป่วยส่วนใหญ่ใช้ telemedicine จำนวน 1 ครั้ง พบการใช้งานสูงสุดในโรงพยาบาลเฉพาะทาง พบการใช้บริการมากกว่า  5 ครั้ง

Telemedicine กับ กฎหมาย

ตามมาตรฐานโรงพยาบาล และบริการสุขภาพ ฉบับที่ 5 ตอนที่ 3-4 กระบวนการดูแลผู้ป่วย ณ การแพทย์ทางไกล องค์กรต้องวางระบบ แนวทางปฏิบัติ กำหนดกลุ่มผู้ป่วย/โรค ได้รับการประเมิน คัดกรอง ความเหมาะสมเพื่อเข้ารับบริการ วินิจฉัย วางแผน หรือดูแลการรักษาตามแนวทางปฏิบัติ สามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพที่จำเป็นของผู้ป่วยในระบบโดยได้รับความยินยอมจากผู้ป่วย ทั้งนี้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนด การดูแลผ่านการแพทย์ทางไกลอาจทำให้เกิดหรือมีเหตุอันทำให้เชื่อได้ว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์กับผู้ป่วย ดังนั้นการแพทย์ทางไกลจึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับโทรเวชกรรม แต่มีกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 

  1. พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2527 หลักเกณฑ์ และการปฏิบัติการประกอบวิชาชีพเวชกรรมซึ่งแพทย์ที่ให้บริการผ่านโทรเวชกรรมต้องถือปฏิบัติ
  2. ประกาศแพทยสภา เรื่อง แนวทางปฏิบัติการแพทย์ทางไกล หรือโทรเวช (Telemedicine) และคลินิกออนไลน์ พ.ศ. 2563 กำหนดแนวปฏิบัติ เช่น แพทย์ต้องวินิจฉัยอย่างละเอียด และเก็บรักษาข้อมูลผู้ป่วยเป็นความลับ และมีความปลอดภัย 

     สำหรับแนวทางปฏิบัติการแพทย์ทางไกลหรือโทรเวช และคลินิกออนไลน์ สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมมีประเด็นสำคัญที่ต้องคำนึงถึง 4 องค์ประกอบ ได้แก่ 

     – ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมทั้งภาคเอกชน และภาครัฐ

     – ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือบุคคลอื่นใด 

     – ต้องดำเนินการผ่านสถานพยาบาลเท่านั้น

     – ความรับผิดชอบของผู้ส่งผ่านเนื้อหา 

  1. พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) การเก็บรักษา และใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วย รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป และข้อมูลส่วนบุคคลที่อ่อนไหว 
  2. พระราชบัญญัติวิยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2562 ระบุว่าการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เช่น Digital-ID, e-Document และลายมือชื่อ digital ถือเป็นกหลักฐานทางกฎหมายมีผลเท่ากับข้อมูลในรูปแบบกระดาษ

     การให้บริการทางสุขภาพที่มีคุณภาพตามมาตรฐานคุณภาพโรงพยาบาล จำเป็นต้องคำนึงถึงอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการให้ความคุ้มครองทั้งผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์ในส่วนของมาตรฐานความปลอดภัยสารสนเทศ ด้วยการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการให้บริการการแพทย์ทางไกล

ภญ.ดารณี เชี่ยวชาญธนกิจ และ ภญ.วรรณา ตั้งภักดีรัตน์ ผู้ถอดความ

ครีเอทีฟคอมมอนส์
งานนี้ใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ แบบแสดงที่มาไม่ใช้เพื่อการค้า ไม่คัดแปลง

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here