Transforming Healthcare with AI: A Lean Approach to Efficiency (พลิกโฉมระบบสุขภาพด้วย AI: แนวคิดแบบลีนสู่ประสิทธิภาพ)

0
145

ในยุคที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น วงการแพทย์ก็เป็นอีกหนึ่งสาขาที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างมีนัยสำคัญ AI ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานเท่านั้น แต่ยังเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยยกระดับการทำงาน ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น ทำให้บุคลากรสามารถใช้เวลาไปกับสิ่งที่มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยจริงๆ และสามารถไปพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพได้ดียิ่งขึ้น

“แนวคิด Lean (ลีน) คือกระบวนการปรับปรุงระบบ 

โดยการลดความสูญเปล่า (Waste)”

วิวัฒนาการ และการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ AI

AI ถือเป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สำคัญของโลก (Revolution) เมื่อเปรียบเทียบความสำคัญกับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ เช่น การค้นพบไฟ, การพัฒนาการพิมพ์ (Printing press) การเข้ามาของคอมพิวเตอร์ ตลอดจนการพัฒนาวัคซีนในทางการแพทย์ที่ช่วยให้มนุษย์สามารถมีอายุยืนยาวขึ้น ในปัจจุบันวิวัฒนาการของ Generative AI โดยเฉพาะ Generative Pre-trained Transformer (GPT) ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน และการเรียนรู้ของมนุษย์อย่างมาก รวมถึงการพัฒนาแบบก้าวกระโดดของ Graphics Processing Unit (GPU) ที่ทำให้สามารถประมวลผลข้อมูลได้เร็วกว่าเดิมเป็นอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ทำความเข้าใจความสัมพันธ์ และลำดับชั้นของแนวคิดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI)

ความสัมพันธ์ของแนวคิดเกี่ยวกับ AI มีคำอธิบาย ดังนี้

  1. Artificial Intelligence (AI) คือ สาขาวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับการสร้างเครื่องจักรกลอัจฉริยะ หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถในการแสดงออกถึงความฉลาดคล้ายมนุษย์
  2. Machine Learning (ML) คือ แขนงหนึ่งของ AI ที่เน้นการสร้างระบบที่สามารถเรียนรู้จากข้อมูลได้โดยไม่ต้องมีการเขียนโปรแกรมคำสั่งอย่างชัดเจน
  3. Deep Learning คือ ส่วนหนึ่งของ Machine Learning ที่ใช้โครงข่ายประสาทเทียม (Artificial Neural Networks) ที่มีหลายชั้น (deep) ในการเรียนรู้และประมวลผลข้อมูล
  4. Generative (GenAI) & Agentic AI คือ ประเภทหนึ่งของ Artificial Neural Networks ที่สามารถสร้างข้อมูลใหม่ที่มีความคล้ายคลึงกับข้อมูลที่ใช้ในการฝึกฝน หรือ AI ที่เป็น Agent ที่สามารถตอบสนองและโต้ตอบกับสภาพแวดล้อมได้ GenAI ที่เป็นที่รู้จัก เช่น Chat GPT (OpenAI), Gemini (Google), Grok (X), LLaMA (Meta), DeepSeek
  5. Predictive AI ใช้ประโยชน์จากเทคนิค Machine Learning และ Deep Learning แต่จะมุ่งเน้นไปที่การทำนายหรือคาดการณ์ผลลัพธ์ในอนาคต โดยอิงจากข้อมูลในอดีตหรือข้อมูลปัจจุบัน

รูปแสดงความสัมพันธ์ของแนวคิดเกี่ยวกับ AI (Source: https://communities.sas.com/t5/SAS-Communities-Library/Where-does-GenAI-fit-within-the-AI-landscape/ta-p/915000)

ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ AI ด้านการแพทย์ (AI in Healthcare)

            การนำ AI เข้ามาใช้ในวงการสุขภาพทำให้เกิดการพัฒนาทางการแพทย์อย่างรวดเร็วมาก เช่น AlphaFold ที่ช่วยคาดการณ์โครงสร้างของโปรตีนได้แม่นยำมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้กระบวนการค้นคว้ายาใหม่เร็วขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาทดลองผิดถูกหลายครั้ง นอกจากนี้ AI ยังสามารถช่วยวินิจฉัยโรค และพยากรณ์แนวทางการรักษาได้ดียิ่งขึ้นด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ ช่วยให้กระบวนการวิจัยและพัฒนายาเร็วขึ้นกว่าเดิม

วิธีการใช้งาน AI และ Prompt Engineering เพื่อ Lean Approach to Efficiency

ในการใช้ AI เราต้องสื่อสารผ่านการใช้คำถามหรือคำสั่ง เรียกว่า prompt ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในการทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องแม่นยำ และตรงกับความต้องการของผู้ใช้ โดยในบทความนี้จะขอกล่าวถึงวิธีการ prompt  4 แบบ ได้แก่

  • Zero-shot Prompting คือ การส่งคำถามตรงไปตรงมา ไม่มีตัวอย่างประกอบ
  • Few-shot Prompting คือ ผู้ใช้ให้ตัวอย่างเพิ่มเติมเพื่อช่วย AI เข้าใจบริบทที่ชัดเจนขึ้น
  • Chain-of-Thought Prompting คือ ผู้ใช้ให้ AI คิด และตอบเป็นขั้นตอน ทำให้การตอบคำถามที่ซับซ้อนมีความละเอียดและแม่นยำมากขึ้น
  • Tree-of-Thought Prompting คือ ผู้ใช้ให้ AI ทำงานเหมือนเป็นทีมผู้เชี่ยวชาญหลายคนช่วยกันวิเคราะห์ปัญหาที่ซับซ้อน ซึ่งทำให้ผลลัพธ์มีประสิทธิภาพสูงสุด

องค์ประกอบสำคัญสำหรับ prompt ที่มีประสิทธิภาพ

  • Persona: ระบุบทบาทหรือมุมมอง AI ที่ควรนำมาใช้
  • Task: ระบุการกระทำที่คุณต้องการให้ AI ดำเนินการอย่างชัดเจน โดยใช้คำกริยาหรือคำสั่ง  
  • Context: ให้ข้อมูลพื้นฐานหรือรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง
  • Format: กำหนดรูปแบบที่คุณต้องการให้แสดงผลลัพธ์ (เช่น แบบรายการ แบบตาราง)

ควรใช้ภาษาธรรมชาติในเขียน prompt เหมือนกับว่าคุณกำลังพูดคุยกับคน ใช้ประโยคที่สมบูรณ์และแสดงความคิดของคุณออกมาให้ครบถ้วน มีความกระชับ และหลีกเลี่ยงความซับซ้อน

ตัวอย่างการ prompt : You are a program manager in [industry].  Draft an executive summary email to  [persona] based on [details  about relevant program docs].  Limit to bullet points.

ระดับของการใช้ AI และการพัฒนาที่สูงขึ้น

GenAI มีระดับการใช้งานที่หลากหลาย ตั้งแต่การใช้งานระดับผู้ใช้งานทั่วไป (Consumer app) ไปจนถึงระดับการพัฒนา (Developer app) เราสามารถใช้ GenAI ได้ 2 ระดับ ซึ่งถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน

  1. ระดับ Consumer App (แอปพลิเคชันสำหรับผู้บริโภคทั่วไป): เป็นการใช้ Generative AI ผ่านแอปพลิเคชันหรือบริการที่เปิดให้บุคคลทั่วไปใช้งานได้ โดยมุ่งเน้นความสะดวกในการเข้าถึง และใช้งานง่าย ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางเทคนิคเชิงลึก เช่น
    • การค้นหาข้อมูลทางการแพทย์: ใช้ GenAI เช่น ChatGPT เพื่อค้นหาข้อมูลทางการแพทย์เบื้องต้น ทำความเข้าใจโรค อาการ หรือการรักษาใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
    • การสรุปข้อมูล: ช่วยสรุปบทความวิจัย รายงานผู้ป่วย หรือข้อมูลทางการแพทย์อื่นๆ เพื่อประหยัดเวลาในการอ่านและทำความเข้าใจ รวมถึงสรุปรายงานการประชุม
    • การสร้างเนื้อหาเพื่อการศึกษา: สร้างสื่อการสอน หรืออธิบายข้อมูลทางการแพทย์ให้ผู้ป่วยเข้าใจได้ง่ายขึ้น
    • การทำวิจัยหรือ R2R: GenAI สามารถช่วยในการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัย (Research Proposal) ทบทวนวรรณกรรม สรุปงานวิจัย และวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น
    • ข้อควรระวัง:
      • ข้อมูลที่ได้จาก Consumer App อาจไม่ถูกต้องหรือเป็นปัจจุบันเสมอ บุคลากรทางการแพทย์ควรใช้ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น และควรตรวจสอบความถูกต้องจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้เสมอ
      • ไม่ควรใช้ Consumer App ในการตัดสินใจทางการแพทย์ที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการวินิจฉัยโรคหรือการวางแผนการรักษา
  1. ระดับ Enterprise App (แอปพลิเคชันสำหรับองค์กร): เป็นการใช้ Generative AI ผ่านแอปพลิเคชันหรือซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นสำหรับใช้งานภายในองค์กร เช่น โรงพยาบาล หรือคลินิก โดยมักมีการปรับแต่งหรือรวมเข้ากับระบบที่มีอยู่เดิม
  • การใช้งานสำหรับบุคลากรทางการแพทย์:
    • ระบบสนับสนุนการตัดสินใจทางคลินิก: ใช้ Generative AI เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วย (เช่น ประวัติทางการแพทย์ ผลตรวจ) และให้คำแนะนำในการวินิจฉัยหรือการรักษา
    • การจัดการเวชระเบียน: ช่วยในการจัดระเบียบ และค้นหาข้อมูลเวชระเบียนของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
    • การสื่อสารกับผู้ป่วย: สร้างข้อความตอบกลับอัตโนมัติสำหรับคำถามที่พบบ่อยจากผู้ป่วย หรือช่วยในการสร้างแผนการดูแลผู้ป่วยเฉพาะบุคคล

การวิเคราะห์ข้อมูลทางระบาดวิทยา: ช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลการแพร่ระบาดของโรค หรือติดตามผลลัพธ์ของการรักษาในกลุ่มผู้ป่วยต่างๆ

ก้าวต่อไปของ Generative AI (GenAI) โดยใช้ Multimodal Large Language Models (MLLMs)

โมเดลสร้างภาษาบนข้อมูลสื่อผสมผสาน (Multimodal Large Language Models: MLLMs) คือโมเดลปัญญาประดิษฐ์ที่มีความสามารถในการประมวลผล และวิเคราะห์ข้อมูลที่มีลักษณะหลากหลายรูปแบบหรือที่เรียกว่า multimodal ซึ่งได้แก่ ข้อความ ภาพ เสียง และข้อมูลอื่นๆ ที่ต่างชนิดกัน โมเดลเหล่านี้สร้างขึ้นจากพื้นฐานของโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Models: LLMs) และขยายขีดความสามารถโดยการรวมข้อมูลจากแหล่งที่มาต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่มีความแม่นยำ และครบถ้วนมากขึ้น ตัวอย่างในบริบททางการแพทย์ประโยชน์หลักของ MLLMs ในด้านสุขภาพ ได้แก่ การวิเคราะห์ภาพทางการแพทย์เพื่อสนับสนุนการวินิจฉัย การสร้างระบบสนับสนุนการตัดสินใจทางคลินิก ซึ่ง MLLMs มีศักยภาพในเพิ่มความแม่นยำและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ช่วยลดระยะเวลาในขั้นตอนการให้บริการที่เสียวเวลามาก รวมถึงการช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์มีเวลาปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วยมากขึ้น

รูปแสดง Multimodal Large Language Models (source: https://www.kdnuggets.com/introduction-to-nextgpt-anytoany-multimodal-large-language-model)

ความท้าทายและข้อควรระวังในการใช้ GenAI

  • ความแม่นยำของ AI อาจมีข้อผิดพลาดหรือเกิด Hallucination ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง
  • ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ป่วย ต้องมีมาตรการป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล
  • ควรใช้ AI อย่างสมดุล AI เป็นเครื่องมือสนับสนุน ไม่สามารถแทนที่มนุษย์ได้

“Human in the Loop”

การประยุกต์ใช้ AI ในการดำเนินงานถือเป็นการดำเนินการตามแนวทาง Lean ซึ่งมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบสุขภาพ โดยการลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น และส่งเสริมคุณภาพการดูแลผู้ป่วย AI สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในการวิเคราะห์โรค บริหารจัดการงาน ลดภาระงานด้านเอกสาร และส่งเสริมการวิจัยทางการแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์จึงควรศึกษา และทำความเข้าใจ AI เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ตัวอย่างการใช้ GenAI สำหรับช่วยเขียนโครงร่างงานวิจัย

เอกสารศึกษาเพิ่มเติม

Google Workspace. Prompt like a pro in Google Workspace with Gemini [Internet]. Mountain View (CA): Google; [cited 2023 Oct 26]. Available from: https://workspace.google.com/learning/content/gemini-prompt-guide

คำสำคัญ: ปัญญาประดิษฐ์, แนวคิดลีน, การแพทย์อัจฉริยะ, การประยุกต์ใช้ AI ทางการแพทย์, โมเดลสร้างภาษาบนข้อมูลสื่อผสมผสาน

อ.ภก.บรรณสรณ์ เตชะจำเริญสุข ผู้ถอดความ

 

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here